บริษัทบุหรี่ทำให้การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ไม่คืบหน้า
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการแถลงข่าว เรื่อง “บริษัทบุหรี่ท้าทายกฎหมายโลก” ขึ้น เนื่องในโอกาสใกล้วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ที่ห้อง กมลทิพย์ 1 ชั้น 2 โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ
นพ.ชัย กฤติยาภิชาติกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก พ.ศ.2554 ในประเด็นการรณรงค์ “พิทักษ์สิทธิตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่” องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เร่งดำเนินการตามพันธกรณี ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก
ประเทศไทย แม้ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดในอนุสัญญาไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่สถานการณ์ล่าสุดสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2552 พบว่า ยังมีคนไทยสูบบุหรี่ถึง 12.5 ล้านคน โดยเพศชาย 45.6% และ เพศหญิง 3.1% และผู้ไม่สูบบุหรี่ยังได้รับควันบุหรี่ในที่ต่าง ๆ ในระดับสูง ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้เป็นที่ห้ามสูบ เช่น 54% ของผู้ไม่สูบต้องได้รับควันบุหรี่บริเวณตลาด 23.6% ได้รับควันในอาคารที่ทำงาน และยังพบว่า 34.2% ได้รับควันบุหรี่ที่บ้าน เป็นต้น
ที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มลดลงมาก่อนหน้านี้ กลับเพิ่มขึ้นระหว่าง พ.ศ.2549 – 2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน
การดำเนินการควบคุมยาสูบของประเทศไทย ยังต้องเร่งรัดดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องอีกมาก เพื่อให้ทันตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้กับกลยุทธ์การตลาดรูปแบบต่าง ๆ ของธุรกิจยาสูบที่พัฒนาไปอย่างมาก เพื่อมุ่งทำให้มีผู้สูบเพิ่มขึ้นในกลุ่มเยาวชนและสตรี
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่การสูบบุหรี่ของคนไทยไม่ลดลงเพราะบริษัทบุหรี่ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาผู้สูบบุหรี่ไว้และเพิ่มจำนวนผู้ติดบุหรี่ใหม่
โดยปัจจุบันบริษัทบุหรี่ทั้งโรงงานยาสูบและบริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้มีการกระทำที่เข้าข่ายโฆษณา และส่งเสริมการขายทั้งทางตรงและทางอ้อม และกิจกรรมที่อ้างว่าทำเพื่อสังคม เช่น การสนับสนุนเงินทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับโรงเรียน สมาคมและมูลนิธิต่าง ๆ องค์กรท้องถิ่น ชุมชน หน่วยงานราชการ การบริจาคสิ่งของให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวแล้ว บริษัทบุหรี่ทำด้วยเหตุผลเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ขององค์กรที่เสียหายจากการขายสินค้าเสพติดที่ทำลายสุขภาพ สร้างความสัมพันธ์กับผู้กำหนดนโยบายเพื่อยับยั้งมาตรการควบคุมยาสูบ ลดความกระตือรือร้นควบคุมยาสูบ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสื่อทำให้สื่อไม่กระตือรือร้นในการสนับสนุนการควบคุมยาสูบ เพื่อลดทอนกระแสการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ของสังคม ปิดปากบุคคล – องค์กรที่รับการสนับสนุนการบริจาค เบี่ยงเบนความสนใจของสังคมและผู้กำหนดนโยบายจากธุรกิจหลักของบริษัท และสร้างการยอมรับการสูบบุหรี่ (mental framing about smoking)
ด้าน ผศ.ดร.กิตติ กันภัย นักวิชาการจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บริษัทบุหรี่ข้ามชาติและโรงงานยาสูบไทย ได้ละเมิดกฎหมายควบคุมยาสูบโลก หรือ fctc มาตรา 13 อย่างแน่นอน ซึ่งมาตราดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า “การโฆษณาและการส่งเสริมการขายยาสูบ” คือ “รูปแบบใดก็ตามของการสื่อสาร การแนะนำ หรือการกระทำเชิงพาณิชย์ โดยมีจุดมุ่งหมาย ผล หรือผลที่น่าจะเกิดขึ้น เป็นการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือการใช้ยาสูบ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม รวมถึง “การเป็นสปอนเซอร์ของยาสูบ” คือ “รูปแบบใดก็ตามของการอุดหนุนแก่เหตุการณ์พิเศษ กิจกรรม หรือบุคคลใด ๆ โดยมีจุดมุ่งหมาย ผล หรือผลที่น่าจะเกิดขึ้น เป็นการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือการใช้ยาสูบ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม”
การกระทำแบบนี้ของบริษัทบุหรี่เท่ากับเป็นการท้าทายกฎหมาย สวนกระแสโลกและสังคมที่ต้องการควบคุมการบริโภคยาสูบ เช่น การออกแบบบูธตามงานเทศกาลต่าง ๆ การใช้พริตตี้ตามผับบาร์ การจัดทัวร์ดนตรี การทำแบบนี้ไร้คุณธรรมและไม่ยุติธรรมต่อสังคม เพราะบริษัทบุหรี่ต้องการรักษาการรับรู้และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดกับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดบริษัทบุหรี่ต้องการรักษายอดขายและเป้าหมายในการทำกำไร ตนในฐานะนักวิชาการได้ศึกษาและติดตามปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงอยากเรียกร้องให้บริษัทบุหรี่หยุดการกระทำเหล่านี้อย่างสิ้นเชิงและโดยทันที และขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ โรงเรียน สมาคม มูลนิธิต่าง ๆ รู้ให้ทันบริษัทบุหรี่และยุติการรับเงินจากบริษัทบุหรี่
ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำเสนอประเด็น พริตตี้ : ทูตส่งเสริมการขายของพ่อค้ายาสูบ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องออกกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 13 (fctc) เพราะกลยุทธ์การใช้พริตตี้คือรูปแบบหนึ่งของการโฆษณา ส่งเสริมการขาย และรัฐต้องเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้สังคมรู้ว่ากลยุทธ์พริตตี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาด ส่งเสริมการขายบุหรี่ การสร้างภาพลักษณ์ แบรนด์บุหรี่ อีกทั้งยังได้เสนอให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่ม หรือ ชมรม “พริตตี้รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่”
ด้าน ผศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช นักวิชาการ นักวิจัย จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลการสำรวจตลาดบุหรี่ออนไลน์พบว่า มีการทำตลาดบุหรี่ออนไลน์อยู่เป็นจำนวนมาก หลากหลายรูปแบบ ที่ท้าทายการควบคุมยาสูบของไทย ซึ่งบริษัทบุหรี่ได้ลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยเฉพาะการจำหน่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ตอย่างเปิดเผยและมีจำนวนมาก แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามโชว์บุหรี่ตามร้านค้า เพื่อเป็นการป้องกันการโฆษณาบุหรี่ที่เข้าถึงเยาวชน แต่ยังคงมีการเปิดเว็บไซต์ขายบุหรี่ผ่านอินเตอร์เน็ต จึงเปรียบได้กับการเปิดตู้บุหรี่ โชว์สินค้าบุหรี่ผ่านทางออนไลน์ ทำให้ผู้ขายบุหรี่ ได้โฆษณาสินค้า ด้วยซองที่สวยงาม สีสันสะดุดตา ไม่มีคำเตือนบนซอง ราคาถูก และซื้อขายได้ง่าย เพียงแค่ยกหูโทรศัพท์ และโอนเงินผ่าน atm นอกจากนี้ยังมีทั้งการโฆษณาผ่าน social marketing ในรูปแบบเกมบน facebook วีดิโอคลิปผ่าน youtube และอื่น ๆ อีกมากมาย
จึงอยากขอให้พวกเราคนไทยช่วยกันเฝ้าระวังสื่อเหล่านี้และร่วมแจ้งข้อมูลการตลาดบุหรี่ออนไลน์ไปยังมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หรือ ผ่าน http://www.facebook.com/tobaccoindustrywatch แห่งนี้ เพื่อช่วยประเทศไทย ให้มีนโยบายห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายบุหรี่และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องบนสื่อออนไลน์ และเพื่อไม่ให้เยาวชนไทยจำนวนมหาศาลต้องตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาสินค้าบุหรี่ออนไลน์
ท้ายสุด ศ.นพ.ประกิต กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการส่งเสริมการขายและการสร้างภาพเพื่อลดกระแสการควบคุมยาสูบแล้ว บริษัทบุหรี่ยังเข้าแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐโดยตรง โดยการคัดค้านการเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่ การคัดค้านการเปิดเผยส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ การลดทอนประสิทธิภาพของนโยบายขึ้นภาษีโดยการออกบุหรี่ยี่ห้อถูก ๆ เพื่อรักษาลูกค้าไว้ไม่ให้เลิกสูบ และล่าสุดการคัดค้านการขึ้นภาษีและการปรับโครงสร้างภาษียาสูบ
พฤติกรรมของบริษัทบุหรี่ทั้งหมดที่กล่าวแล้วเป็นเรื่องที่น่าละอายอย่างยิ่ง เพราะแม้บุหรี่จะเป็นสินค้าถูกกฎหมาย แต่สิ่งที่บริษัทบุหรี่ทำเป็นการฝ่าฝืนและท้าทายอนุสัญญาควบคุมยาสูบทั้งสิ้น สังคมไทยควรจะร่วมกันประณามและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการทำผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จะทำจดหมายชี้แจงกับโรงเรียน องค์กรต่าง ๆ หลายร้อยแห่งที่รับทุนและร่วมกิจกรรมกับบริษัทบุหรี่ ทั้งที่ได้รับหรือร่วมกิจกรรมมาแล้ว กับที่จะมีการเปิดเผยในอนาคต เพื่อให้รู้ถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบริษัทบุหรี่และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการไปร่วมกิจกรรมกับบริษัทบุหรี่
ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่