บทเรียนจากออสเตรเลีย ควบคุมยาสูบด้วยกองทุนจากภาษีบาป
พบชายสูบ 18.4 % หญิงร้อยละ 17.4 % เกือบจะต่ำที่สุดในโลก
ออสเตรเลียเป็นประเทศแนวหน้าในการควบคุมยาสูบ ขณะนี้อัตราการสูบบุหรี่ของเพศชายเท่ากับร้อยละ 18.4 และเพศหญิงเท่ากับร้อยละ 17.4 เกือบจะต่ำที่สุดในโลก
เปรียบเทียบกับอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยที่เท่ากับร้อยละ 36.9 และหญิงไทย ร้อยละ 2 เราดีใจที่หญิงไทยสูบบุหรี่น้อยกว่าเขามาก แต่สำหรับชายไทยแล้ว เรายังมีงานที่ต้องทำอีกมาก หากดูแนวโน้มการลดของอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยที่เท่ากับร้อยละ 55.6 ในปี 2534 จนถึง พ.ศ.2549 ที่เท่ากับร้อยละ 36.9 จะพบว่าลดลง 18.7 จุดในเวลา 15 ปี คือเฉลี่ยลดลง 1.2 จุดต่อปี
ดังนั้นหากแนวโน้มการลดของอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยเป็นดังเช่นที่เป็นมาแล้ว เราจะต้องใช้เวลาอีก 15 ปี จึงจะมีอัตราการสูบบุหรี่เท่ากับของออสเตรเลียในขณะนี้
เป้าหมายของออสเตรเลีย คือ ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 5 ทั้งสองเพศ
ชาวออสเตรเลียเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละ 19,200 คน ผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เฉลี่ยมีอายุสั้นลง 13 ปี หนึ่งในสี่ของคนที่เป็นมะเร็งในออสเตรเลียเป็นผลจากการสูบบุหรี่ และร้อยละ 15 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือประมาณหนึ่งในหกของคนออสเตรเลียที่เสียชีวิตเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่
การวิเคราะห์พบว่าถ้าหากอัตราการสูบบุหรี่ของชาวออสเตรเลียลดลงร้อยละ 1 ต่อปี จะป้องกันผู้ป่วยโรคหัวใจวาย 300 คน และเส้นเลือดสมองแตก 1,000 คน ที่จะต้องอยู่โรงพยาบาลและประหยัดเงิน 1,800 ล้านบาท สำหรับค่าอยู่โรงพยาบาล
ในปี 2544-2545 มีผู้ป่วย 300,000 คน ต้องเข้าอยู่โรงพยาบาลอันเป็นผลจากการสูบบุหรี่ รวมเวลาอยู่ในโรงพยาบาล 1.5 ล้านวัน และเสียค่าใช้จ่ายกว่า 20,000 ล้านบาท
มาตรการที่ออสเตรเลียให้ความสำคัญในการควบคุมยาสูบ คือ การห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะและในที่ทำงาน ปัจจุบันห้ามสูบทั้งในผับและบาร์ นายจ้างจะเข้มงวดการห้ามสูบบุหรี่ในที่ทำงานหลังจากมีลูกจ้างที่ป่วยจากการได้รับควันบุหรี่มือสอบในที่ทำงานฟ้องศาลและศาลตัดสินให้นายจ้างต้องชดใช้ค่าเสียหาย ในรัฐวิคตอเรียร้อยละ 74.4 ของเจ้าของบ้านขอให้แขกไม่สูบบุหรี่ในบ้าน
บางรัฐเริ่มห้ามสูบบุหรี่ในภัตตาคารที่ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ ห้ามสูบบุหรี่ในรถที่มีเด็กนั่งอยู่ และห้ามสูบในบริเวณสองถึงสี่เมตรหน้าทางเข้าสถานที่สาธารณะ ห้ามการโฆษณาและส่งเสริมการขายทุกรูปแบบรวมทั้งทางอินเตอร์เน็ต
เตรียมการที่จะออกกฎหมายกำหนดให้ซองบุหรี่มีสีขาวดำเท่านั้น เพื่อลดความดึงดูดของซองบุหรี่ในการเย้ายวนผู้สูบหน้าใหม่
สนับสนุนการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ผ่านสื่อโดยเฉพาะทีวี โดยมีการวิเคราะห์ว่าค่าใช้จ่ายการรณรงค์ผ่านสื่อมวลชนที่จะได้ผลให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 1 จะต้องใช้เงิน 370 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 5 ของค่าใช้จ่ายที่จะประหยัดได้จากการที่ผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคเส้นเลือดสมองแตกลดลง
สำหรับ สสส.ของไทย เนื่องจากต้องสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพด้านต่างๆ มากมาย งบประมาณที่ใช้สนับสนุนเพื่อรณรงค์ควบคุมยาสูบจึงได้รับการจัดสรรน้อยคือประมาณ 120 ล้านบาทต่อปีสำหรับทุกหน่วยงาน รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข หรือคิดเป็นร้อยละ 6-7 ของงบประมาณ สสส.ทั้งหมด ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ งบประมาณเท่ากับ 10 ล้านบาทต่อปี หรือน้อยกว่า 1 บาทต่อหัวประชากร
ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาวิเคราะห์ไว้ว่า รัฐบาลควรจะใช้งบประมาณในการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ผ่านสื่อต่างๆ 100 ถึง 150 บาทต่อหัวประชากรต่อปีเพื่อที่จะให้ได้ผล เพราะบริษัทบุหรี่ใช้งบประมาณในการโฆษณาและส่งเสริมการขาย 1,700 บาทต่อหัวประชากรต่อปีในอเมริกา แต่ประเทศไทยเลายังไม่มีมาตรการที่กำหนดให้บริษัทบุหรี่เปิดเผยข้อมูลนี้
ขณะนี้ประเทศต่างๆ จากทั่วโลกกำลังพยายามศึกษาเพื่อผลักดันให้เกิดองค์กรเช่นเดียวกับ สสส.เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการควบคุมยาสูบ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธุรกิจยาสูบไม่ต้องการให้องค์กรลักษณะนี้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก เมื่อวิคเฮลท์ เกิดขึ้นใหม่ๆ หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขของฮ่องกง พยายาที่จะให้มีการจัดตั้งองค์กร สร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบเดียวกับวิคเฮลท์ขึ้น บริษัทบุหรี่ได้ออกมาคัดค้านอย่างเปิดเผยว่า ไม่ต้องการให้องค์กรลักษณะนี้เกิดขึ้น
ในปี พ.ศ.2534 หรือ 5 ปีหลังการก่อตั้งวิคเฮลท์ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้ว่าจ้างบริษัท ไพรซ์ วอเตอร์เฮาส์ ทำการศึกษาถึงการดำเนินการของวิคเฮลท์ในแง่มุมต่างๆ ว่ามีความโปร่งใส มีความคุ้มค่าหรือไม่
ซึ่งความจริงก็คือ ต้องการหาจุดที่จะดิสเครดิตวิคเฮลท์นั่นเอง
ในสหรัฐอเมริกา กองทุนสนับสนุนการณรงค์ไม่สูบบุหรี่ของรัฐต่งๆ ถูกบริษัทบุหรี่ร่วมกับนักการเมืองบ่อนทำลายจนกองทุนต้องถูกยุบไปเกือบหมด
ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับ สสส.และสังคมไทย
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:25-07-51