บทเรียนจากวิกฤต
จุดคานงัดสู่การปฏิรูป
พี่น้องชาวไทยที่รัก หลายปีที่ผ่านมาเราได้สะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำ ใป้ประเทศชาติและประชาชนอย่างรุนแรงหลายเหตุการณ์ สิ่งที่น่าเจ็บปวดที่สุดก็คือความรุนแรงและความสูญเสียทีเกิดทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจากการกระทำของคนไทยด้วยกันเองทั้งสิ้น ผมมั่นใจว่าพีน้องที่รักชาติบ้านเมืองทุกคนไม่มีใครอยากเห็นความรุนแรงหรือความสูญเสียเกิดขึ้นอีก เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายลึกซึ้งเกิดกว่าที่จะเยียวยา โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นทางด้านจิตใจ
วันนี้ประเทศไทยต้องเดินหน้า แต่ความโกรธ ความเคียดแค้นและความชิงชัง ไม่สามารถสร้างอนาคตให้ประเทศไทยและลูกหลานได้ถึงเวลาแล้วที่เราจะปรองดองเพื่อปฏิรูปประเทศไทย รวมใจเป็นหนึ่งเพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติ สร้างความเสมอภาค สื่อสารถึงกันอย่างสร้างสรรค์ ค้นหาและยอมรับความเป็นจริง โดยมีการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ทั้งหมดนี้รัฐบาลจะทำให้เกิดขึ้นฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่พี่น้องประชาชนทุกคนทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันโดยผมจะจัดให้มีการรับฟังทุกเสียง ทุกความคิด ให้เราก้าวข้ามวิกฤติเพื่อสร้างอนาคตใหม่ให้ประเทศไทย ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันสร้างบ้านของเราด้วยกัน ผมจึงขอโอกาสนี้เชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยด้วยความเชื่อมั่นในพี่น้องคนไทย
คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา อันมีสาระสำคัญว่าด้วย “แผนปรองดองปฏิรูปการเมืองแห่งชาติ” จะ..โดนใจ! ถูกใจ! น่ารำคาญใจ!?! ก็สุดแต่ประชาธิปไตยทางความคิดนะครับ
แต่สำหรับผม ซึ่งเฝ้าดูและใฝ่ฝันอยากเห็นการปฏิรูปประเทศไทยเป็นจริงในทางปฏิบัติมานานแสนนานมากกว่าครึ่งค่อนชีวิตขอร่วมสนับสนุนเต็มที่ครับ เพราะนี่แหละคือ “จุดเปลี่ยน” ที่จะกระตุ้นให้ทุกคนในสังคมได้หันมาเห็นความสำคัญของการปรับ เปลี่ยน ปฏิรูปปฏิวัติ อย่างเป็นแนวทางเดียวกัน
ที่แล้วๆ มา เชื่อว่ามีคนไทยมากมาย มองข้ามปัญหาบ้านเมืองประหนึ่งว่า “ธุระไม่ใช่” หรือเห็นเป็นเรื่องไกลตัว บ้างก็คิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ข้าราชการ ผู้แทนราษฎร ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนคนมีการศึกษา มีอำนาจวาสนา คนร่ำคนรวย
มาถึงวันนี้ ความเจ็บปวดร่วมกันอย่างที่นายกฯอภิสิทธิ์ตอกย้ำเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า บ้านเมืองจะเดินไปซ้ายขวา ใช้สีไหนเป็นสัญญลักษณ์นั้น คนไทยทุกคนต้องมีส่วนร่วมเอาใจใส่อย่างจริงจัง และช่วยกันกำหนด ก่อนที่จะสายเกินแก้
เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่วันนี้ ผมจึงบอกว่า เรามีหน้าที่ร่วมกันทุกคน และเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม สอดคล้องกับเงื่อนไขในการที่จะทำให้การปฏิรูปเป็นจริงได้ในเร็ววันอย่างแน่นอน
ผมจำได้ว่า เวทีปฏิรูปประเทศไทยของสถาบันเครือข่ายทางปัญญา ที่มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นแกนนำสำคัญ ได้เคยโยนการบ้านให้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่งสถาบันทีดีอาร์ไอ ศึกษามองหายุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ซึ่งผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ท่านนี้ก็ได้นำเสนอในประเด็นหัวข้อ “จุดคานงัด: ประเทศไทยเพื่อฝ่าวิกฤตการณ์สังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ซับซ้อน” และสาระประการหนึ่งของการศึกษาก็คือ “ห้วงเวลา” อันเหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลง
ความเจ็บปวดของคนไทยทั้งชาติในระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพียพอแล้วกระมังครับที่จะเป็น “จุดคานงัด” ที่เหลือจากนี้คงต้องมองหา “บุคคล” ที่จะช่วยกันจับคานช่วยกันงัดวิกฤตก้อนโตให้พ้นจากวังวนของชีวิตในสังคมไทย และที่มองข้ามไม่ได้คือ ความต่อเนื่องและจริงจัง
ความต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญหลังจากนี้ครับ เพราะเมื่อรัฐบาลบอกว่ามีแผนปรองดองปฏิรูปการเมืองแห่งชาติแล้ว และกำลังหา”เจ้าภาพ” หรือประธานในการดูแลขับเคลื่อน การทำให้เป็นจริงจึงเป็นส่งที่ต้องติดตาม แม้จะมีความเคลื่อนไหวของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เป็นระยะๆ ตลอดเวลาว่าให้ความสนใจแผนการปฏิรูปในด้านต่างๆ อย่างจริงจังก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งสนใจเรื่องกิจการสังคม และทำงานอย่างต่อเนื่อง หรือคณะทำงานของคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกฯ อีกคน ที่เอาใจใส่ศึกษา ผลักดันโครงการชุมชนเข้มแข็ง มากว่า 2 ปี จนมีผลงานปรากฏเป็นชิ้นเป็นอัน แต่เราก็ไม่อาจวางใจได้ครับว่า เมื่อรัฐบาลเปลี่ยน นโยบายจะเปลี่ยน ทำให้วิถีชีวิตและการคิดของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่พึงปรารถนาอีกหรือไม่
คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งแห่งชาติ เคยบอกกับผมว่า ชาวบ้านไม่ใช่น้อยที่เรียนรู้ด้วยตนเองแล้วว่า แนวนโยบายตามพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง คือทางออกของชีวิตที่ควรจะเดินตาม แต่เรายังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ที่จะเห็นคนไทยทั้งประเทศรู้สึกและพึงพอใจในแบบเดียวกัน
คนขี้สงสัยอย่างผม ก็อดไม่ได้ครับที่จะถามว่า วิธีคิดและวิธีทำแบบคณะกรรมการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง ตลอดจนสถาบันเครือข่ายทางปัญญา ที่มีคณะกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.เป็นผู้จุนเจือช่วยเหลือ แตกต่างอย่างไรกับการทำงานของรัฐบาล หรือข้าราชการในกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในเมื่อทุกคนที่ขึ้นมามีอำนาจก็นิยมชมชอบที่จะพูดถึบงการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลง การพัฒนาเพื่อชีวิตที่ดีกว่าทั้งการเมือง สังคม เศรษฐกิจ
คำตอบที่ได้ นอกจากทำให้ผมหายข้องใจแล้ว ยังทำให้เกิดความหวังครับ เพราะท่านอธิบายว่า การทำงานของคณะกรรมการทั้งหลายไม่ผูกพันกับการเมือง เป็นอิสระ ชาวบ้าน หรือชุมชนร่วมกันวางแผน กำหนดแนวทาง แล้วชาวบ้านก็เป็นผู้ลงมือกระทำกันเองดังนั้น ถ้าหากชาวบ้านมีความสามัคคี มีจิตสำนึกร่วมกัน ชุมชนเข้มแข็ง การปฏิรูปก็จะต่อเนื่อง ไม่ว่ามีรัฐบาลพรรคอะไรมา พวกเขาก็จะอยู่ได้ และสามารถเลือกที่จะอยู่และเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองวางแผนได้ ปัจจัยการเมือง เป็นเพียงปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจสร้างผลกระทบรุนแรงอีกต่อไป
ครับ..ผมอยากเห็นวันนั้นจริงๆ ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสหรือจุดคานงัดสำคัญแล้วครับ และน่าจะเป็นไปได้ว่า ระยะเวลาที่คาดว่า 10 ปีบ้านเมืองจะไปในทางที่ดีนั้น จะย่นระยะเวลาเหลือแค่ 3-5 ปี ก็จะเห็นผลนะครับ
เพราะประเทศไทยไม่มีเวลาที่จะสูญเปล่าอีกต่อไปแล้ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update: 17-06-53
อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ