บทเรียนจากปลายด้ามขวาน “ศาสนา” ดึงคนห่างไกลบุหรี่

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


บทเรียนจากปลายด้ามขวาน


ผ่านพ้นไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมากับกิจกรรม “วันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2562” 31 พ.ค. 2562 ซึ่งหลายภาคส่วนยังคงเดินหน้ารณรงค์ให้ “ลด-ละ-เลิก”


การบริโภคยาสูบอันเป็นสาเหตุของสารพัดโรคภัยไข้เจ็บต่อไป อาทิ ในพื้นที่ “ชายแดนใต้” ที่ผู้คนมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มาตรการรณรงค์ลด ละ เลิก บุหรี่ ไม่สามารถทำได้โดยง่าย


ตามหลักทางศาสนาอิสลามระบุว่า “หากเสพสิ่งใด ๆ แล้วเป็นโทษต่อสุขภาพร่างกาย ถือว่าเป็นสิ่งไม่ดีหรือต้องห้าม” ดังนั้นเมื่อบุหรี่สูบแล้วก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บก็ต้องถือว่าเป็นสิ่งไม่ดีและชาวมุสลิมต้องละเว้นเช่นกัน ซึ่ง มิตรชา โต๊ลาตี โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดส่งเสริมสุขภาพบ้านบารายี อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เปิดเผยว่า บุหรี่เป็นปัญหาหลักในลำดับต้นของการเจ็บป่วยในผู้ชายมุสลิม เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่าเป็นสิ่งต้องห้าม


“เพราะเคยสูบกันมาจากรุ่นสู่รุ่นและไม่เห็นผลกระทบทันทีทันใด ดังนั้นจึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ นุ่มนวล ใช้กระบวนการพูดคุยตลอดเวลา และจะต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นจะเป็นทุกข์ทันที เอาคนที่เต็มใจก่อนพร้อมจะรับเรื่อง เปลี่ยนตัวเองได้มากที่สุด โต๊ะอิหม่ามก็ต้องเป็นตัวอย่างชาวบ้านก็จะได้เคารพนับถือ โอกาสในการแก้ปัญหาก็จะประสบผลสำเร็จ” มิตรชา ระบุ


บทเรียนจากปลายด้ามขวาน


ขณะที่ สุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา อธิบายบริบทสังคมในพื้นที่ว่า “หากไปบอกชาวบ้านโดยอ้างเรื่องสุขภาพ อย่างไรเขาก็ไม่เชื่อ เพราะสูบกันมาตั้งแต่หนุ่มยันแก่ ไม่คิดว่าเป็นอะไร” ในทางกลับกัน “หากนำเรื่องศาสนาสอดแทรกเข้าไป การโน้มน้าวให้ลด ละ เลิกบุหรี่จะมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า” ทั้งนี้ในพื้นที่ ทต.ปริก พบผู้สูบบุหรี่มากเกือบ 1,500 คน “ชาวมุสลิมเคร่งครัดในหลักธรรมคำสอน เราจึงให้มัสยิดเป็นสถานที่ให้ความรู้และรณรงค์ไม่สูบบุหรี่” ซึ่งโต๊ะอิหม่ามต้องทำความเข้าใจกับชุมชน และคนที่มามัสยิดต้องไม่สูบบุหรี่


เช่นเดียวกับ สมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาทอน อ.ทุ้งหว้า จ.สตูล กล่าวว่า นักสูบส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงสุขภาพตัวเอง แต่ถ้าเป็นคนรอบข้างที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่มือสอง เขาจะเริ่มคิดและเป็นห่วง ดังนั้นทางท้องถิ่นจึงมีวิธีบอกกล่าว คือย้ำว่าแม้จะไม่รักตัวเองก็ให้คิดถึงคนที่รัก ทำเพื่อคนที่รัก “ค่อย ๆ ไปพูดไปบอก ย้ำทุกวัน ๆ เดี๋ยวเขาก็คล้อยตาม” ต้องค่อยเป็นค่อยไป


สมยศ กล่าวต่อไปว่า ทาง อบต.ได้เชิญผู้นำทางศาสนามาร่วมพูดคุยเพื่อให้มีการใช้หลักคำสอนของศาสนามาเป็นช่วยในการรณรงค์ อย่างเช่น การคุตบะห์ หรือการพูดคุยในเรื่องพิษภัยของบุหรี่ก่อนการทำพิธีละหมาด และในช่วงรอมฎอนซึ่งพี่น้องมุสลิมจะต้องถือศีลอดคือต้องอดอาหารรวมถึงบุหรี่ด้วย ตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาพระอาทิตย์ตกเป็นระยะเวลา 1 เดือน


“รอมฎอนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเลิกบุหรี่ ไม่ใช่ว่าพอละศีลอดตกค่ำมาอัดบุหรี่หนัก ๆ แบบนี้ถือว่าการถือศีลอดที่ผ่านมาทั้งวันนั้นไม่ได้อะไรเลย นอกจากนี้แล้วยังได้ขอความร่วมมือและประกาศให้มัสยิดเป็นศาสนสถานปลอดบุหรี่อย่างเด็ดขาดทั้งภายในอาคารและบริเวณรอบมัสยิด ผู้มาร่วมพิธีทางศาสนาหรือมาใช้สถานที่จะต้องห้ามสูบบุหรี่” นายก อบต.นาทอน กล่าว


บทเรียนจากปลายด้ามขวาน


อีกด้านหนึ่ง สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล กล่าวว่า อบจ.สตูล ได้กำหนดให้สถานที่ของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่ อาทิ สำนักงาน อบจ. สตูล สนามกีฬา อบจ.สตูล ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศการท่องเที่ยว อบจ.สตูล รวมถึง “ท่าเทียบเรือปากบารา” เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว และประชาชนที่เข้ามารับบริการในหน่วยงานที่ อบจ.สตูล รับผิดชอบ


ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุว่า จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์การบริโภคยาสูบของคนไทย พ.ศ.2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งวิเคราะห์โดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบว่า ปัจจุบันคนไทยสูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน แต่ละปีมีคนไทยตายจากบุหรี่ 54,512 คน แต่ละคนตายเร็วขึ้น 18 ปี โดยเฉลี่ยป่วยจนสูญเสียคุณภาพชีวิต 3 ปีก่อนตาย


ซึ่งในส่วนของภาคใต้มีผู้สูบบุหรี่ 1.93 ล้านคน อัตราการสูบร้อยละ 24.5 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีอัตราเท่ากับร้อยละ 19.1 อัตราการสูบบุหรี่ใน จ.สตูล สูงเป็นอันดับที่ 3 รองจากกระบี่และนครศรีธรรมราช และมีอัตราการสูบบุหรี่ในบ้านสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศเช่นกัน ทำให้การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่จะยังคงเพิ่มขึ้น แม้อัตราการสูบบุหรี่จะลดลง


“ร้อยละ 90 ของคนไทยที่สูบบุหรี่ อาศัยอยู่นอกเขตเมือง และร้อยละ 70 อาศัยอยู่ในเขตชนบท แต่ยังขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดูแลเรื่องยาสูบอย่างจริงจัง อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำของปัญหาการสูบบุหรี่ระหว่างภูมิภาค ดังนั้น จึงขอแรงสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งร่วมกันสร้างสถานที่ปลอดควันบุหรี่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว


นอกจากนี้ น.ส.ทัศนีย์ ศิลปบุตร คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังกล่าวเสริมว่า ขอชื่นชม อบจ.สตูล และภาคีเครือข่ายที่ผลักดันให้เกิดการประกาศท่าเทียบเรือปากบาราปลอดบุหรี่ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ต้นแบบที่สะท้อนถึงการเชื่อมประสานการทำงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่ร่วมสนับสนุนให้เกิดเขตปลอดบุหรี่ในที่สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด ที่สำคัญยังเป็นการปกป้องสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่อีกด้วย นำไปสู่การขยายผลให้เห็นเป็นรูปธรรมการทำงานเพื่อการควบคุมยาสูบในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป


การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของทั้งสองพื้นที่ ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นกลไกสำคัญส่งผลให้การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ประสบผลสำเร็จ เช่น การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการไม่สูบบุหรี่การส่งเสริมครัวเรือนปลอดควันบุหรี่ หรือบุคคลต้นแบบ การขอความร่วมมือร้านค้าการติดป้ายประกาศห้ามสูบบุหรี่ในตามสถานที่สำคัญและพื้นที่สาธารณะ จัดกิจกรรมภายในโรงเรียนเพื่อหยุดยั้งนักสูบหน้าใหม่…เป็นสองพื้นที่ที่น่าศึกษาและสามารถเป็นต้นแบบในการจัดการบุหรี่ได้เป็นอย่างดี

Shares:
QR Code :
QR Code