บทบาท ‘มหาวิทยาลัย’ท่ามกลางวิกฤตประเทศ
ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับสังคม
วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ มีหลายเสียงถามหาบทบาทของ “สถาบันการศึกษา”อันเป็นอีกหนึ่งในสถาบันสำคัญที่คิดว่าจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยทำให้วิกฤตต่างๆคลี่คลายลงได้
แต่เท่าที่ได้ยินได้ฟังมา หลายต่อหลายคนบอกว่า “สถาบันการศึกษา” ทุกวันนี้ ไม่มีบทบาทเท่าที่ควรเพราะวางตัวห่างจากปัญหา เลือกยืนอยู่บน “หอคอยงาช้าง” เร่งผลิตเพียงนักศึกษานักวิชาการ เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบกลไกการตลาด จนหลงลืมประชาชนผู้เสียภาษีให้สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิต
อีกทั้งสิ่งที่เรียกว่าจิตสาธารณะของบัณฑิตจบใหม่ทุกวันนี้ ก็ช่างบางเบา จนอาจกล่าวได้ว่า แทบจะนับนิ้วมือครบสำหรับคนที่คิดถึงเรื่องของผู้อื่นก่อนเรื่องตัวเอง
เพราะเล็งเห็นถึงปัญหานี้…มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดเวทีศาลายาเสวนานโยบายสาธารณะ ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ”มหาวิทยาลัยกับการปฏิรูปประเทศไทย”โดยความร่วมมือของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล โดยวางจุดประสงค์กว้างๆ คือ เพื่อสะท้อนบทบาทของสถาบันการศึกษากับแนวทางร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยและแก้วิกฤตการณ์ต่างๆงานนี้ มีผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษามากมายมาร่วมแลกเปลี่ยน
อาทิ ศ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ,ศ.อมร จันทรสมบูรณ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ, รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รศ.อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดีฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ
มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทในการปฏิรูปประเทศไทยได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงสถาบันหนึ่งซึ่งลอยอยู่ท่ามกลางปัญหาของประเทศที่มีอยู่มากมาย? ลองฟังความเห็นจากผู้ร่วมเสวนาทุกคน
เริ่มที่รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ซึ่งได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้มหาวิทยาลัยมีแต่บัณฑิต แต่ไม่สามารถสร้างองค์ความรู้ไปตัดวงจรอุบาทว์ในสังคมได้ เพราะ ประการที่ 1 ระบบของมหาวิทยาลัย เป็นผลผลิตของการเลือกเฟ้นเชิงระบบ ตั้งแต่ยุคสังคมเจ้าขุนมูลนาย มาจนถึงยุคที่ทุกอย่างถูกกำหนดด้วยเงิน ประการที่ 2 การศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นแบบแยกส่วน ทั้งที่คนหนึ่งคนแท้จริงแล้วเกี่ยวพันกับทุกอย่าง แต่เวลาเรียนกลายเป็นแยกส่วนกัน น้อยคนมากที่เรียนมาแล้วจะมองคนได้ทุกมิติ ประการที่ 3 นักศึกษาไม่มีจิตสาธารณะ ไม่มีการแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระบบ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเก่ง
ประการที่ 4 การเปลี่ยนแปลงสังคมต้องสร้างการเรียนรู้ให้คนในสังคมกลับมาเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และประการที่ 5 ปัญหาของคนที่อยากเป็นเหมือนคนอื่นเพราะระบบการเรียน สอนคนให้วิ่งเข้าหารายได้ เป็นนักบริโภคนิยม นักแสวงหากำไรระบบตลาดทำให้คนลืมบางสิ่งบางอย่างไปทำให้ eq คนต่ำลง
“ที่พูดมา เราเน้นสถาบันมหาวิทยาลัยวิกฤตที่เผชิญคือผลผลิตขั้นสุดท้ายของการเลือกเฟ้นเชิงระบบ ซึ่งเป็นระบบทุนนิยม ได้คนรวยจำนวนน้อยที่ได้รับการยกย่องโดยไม่ต้องคำนึงว่ามาได้อย่างไร และได้คนจนจำนวนมาก การเลือกเฟ้นทางการศึกษามันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงมาก
“ทุนนิยมในบ้านเรายังครอบด้วยทุนสามานย์มากเกินไป ไม่ได้หมายถึงตัวคน แต่เป็นที่ระบบที่ชอบความไม่โปร่งใส ชอบความไม่เป็นประชาธิปไตย ชอบความไม่เป็นธรรม และชอบความไม่สมดุล และการรักษาอำนาจทุนสามานย์คือการเอาอำนาจรัฐมาดังนั้น ทุนสามานย์จึงช่วงชิงอำนาจรัฐทุกอย่างไป การปฏิรูปเรื่องนี้ เราต้องมีความคิดเชิงสังคมที่เปลี่ยนแปลงระบบ พยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า โซเซียลเดมอคเคซี่ ซึ่งแปลว่า ประชาพันธุสังคมระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น” ณรงค์กล่าว
ด้าน ศ.วิจารณ์ พานิช มองว่า ระบบสังคมไทยมีความไม่เท่าเทียมกันสูง ระบบอุปถัมภ์เป็นอุปสรรคกับการที่สังคมจะก้าวไปข้างหน้าทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีความพยายามที่จะดำเนินการต่างๆ หลากหลายส่วนเพื่อให้มันดีขึ้นมองผิวเผินมันก็ดีขึ้น แต่มองให้ลึกมันมีความแตกต่างกันเพิ่มขึ้น ระบบการศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษา ซึ่งบอกว่าเราเป็นสมองของสังคมทำหน้าที่น้อย แล้วเป็นเพราะว่าอันที่หนึ่ง เราไม่เข้าใจสังคมเพราะว่าเราไม่ได้เข้าไปคลุกคลีกับคนในสังคม อาจารย์บอกว่า25 ล้าน จบ ป.6 หรือต่ำกว่า คนเหล่านี้เราใกล้ชิดกับเขาน้อยมาก เราไม่มีกลไกใดๆ ไปใกล้ชิดสนิทสนมด้วย
สอง คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก คือว่านโบายต่างๆ กฎหมายต่างๆ ทั้งรัฐธรรมนูญกฎหมายที่ออกมา ฯลฯ นโยบายที่เป็นของอบต. ของรัฐ ของกระทรวงอะไรต่างๆ นั้นขาดการเอามาทำความเข้าใจ ขาดการวิเคราะห์ว่ามีผลอย่างไรในวันข้างหน้า ใครได้ใครเสียประโยชน์อย่างไร
“เราไม่ได้จัดการอย่างเป็นระบบหมายความว่าเราไม่ได้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมเรียนรู้ มหาวิทยาลัยควรเป็นเหมือนเบ้าหลอมทางสังคม เป็นสื่อกลางเปิดโอกาสให้บุคคลในสังคมที่มีปัจจัยต่างกันเชื่อมถึงกันได้ โดยต้องส่งเสริมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณาจารย์นักศึกษาและประชาชน รวมถึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่พื้นฐานทางครอบครัวต่างกันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้”ศ.วิจารณ์กล่าว
ด้านศาสตราจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ให้แง่คิดว่าประเทศต้องการคนดีสร้างระบบและต้องการระบบเพื่อควบคุมคนไม่ดี ปัญหาในประเทศขณะนี้ต้องมองให้ลึกถึงสาเหตุและผู้มีอำนาจแก้ปัญหา ซึ่งก็คือ นักการเมืองจะแก้ได้ต้องแก้ที่ระบบการเมือง อีกทั้งต้นตอปัญหาสำคัญที่คนมองข้ามคือ รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ส่งเสริมให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และมาจากการเลือกตั้ง ผ่านช่องว่างทางกฎหมายที่เปิดช่องให้นายทุนมีอำนาจสนับสนุนพรรคการเมือง ทำให้เมืองไทยกึ่งๆ เป็นเผด็จการ นำมาสู่ปัญหาสะสมบานปลายในปัจจุบัน
สำหรับไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้เสนอประเด็นสำคัญว่า มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทปฏิรูปประเทศได้ ประเทศต้องดำเนินการแก้วิกฤตต่างๆ ควบคู่กันไป มีทั้งหมด 6 ข้อ คือ1.เยียวยา 2.ให้ความยุติธรรม 3.การค้นหาความจริง 4.การฟื้นฟูทางกายภาพ กิจการและสังคม 5.การปฏิรูป และ 6.บูรณาการความคิดและแผนปรองดองของรัฐบาลเข้ากับแผนประชาชน ต้องทำคู่ขนานกันไป
“ซึ่งกลไกที่มหาวิทยาลัยสามารถทำได้มี3 กลไก คือ 1.กลไกติดตามศึกษา 2.กลไกจัดกระบวนการ และ 3.กลไกสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ในการนี้ทางสภามหาวิทยาลัยจะดำเนินการประชุมระดมความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวในเชิงลึกเพื่อออกมาตรการนโยบายและแผนงานต่างๆ ต่อไป” นายไพบูลย์กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
update: 01-07-53
อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ