บทบาทพ่อที่หายไป เกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทย (2)
สร้างต้นทุนชีวิตเด็ก ด้วยสัมผัสรักจากพ่อ
บทบาทของพ่อนับวันได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วมช่วยแม่เลี้ยงดูลูก เริ่มตั้งแต่ วัยทารก “บ่อเกิดความรักความผักพันและไว้วางใจ ทั้งต่อตนเอง บุคคลใกล้ชิด (พ่อแม่) และผู้อื่น”
ในวัยนี้ มารดาเป็นผู้ดูแลหลัก ทำให้เกิดความรักความผูกพันกับลูกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะมารดาที่เลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ ซึ่งหากพ่อร่วมด้วยในการดูแลลูกวัยนี้ จะทำให้ความรักและความผูกพันต่อพ่อแนบแน่นได้เช่นกัน และการเรียนรู้ที่วิเศษจากความแตกต่างในทักษะของพ่อและแม่ก็จะเกิดแก่ลูก กล่าวคือ แม่จะเลี้ยงลูกกด้วยความนุ่มนวล ทั้งเสียงและการสัมผัสอ่อนโยนมีจังหวะที่ลงตัว ในขณะที่พ่อจะสัมผัสลูกได้หยาบกระด้างกว่าแต่มีทีท่าที่มั่นคง แข็งแรง น้ำเสียงที่ใหญ่ จังหวะที่ไม่สม่ำเสมอทำให้ลูกเกิดความตื่นเต้น เร้าใจ ในการเรียนรู้จากทั้ง 2 บุคลิก ต้นทุนชีวิตแก่เด็กวัยนี้จากบริบทของพ่อที่ช่วยแม่เลี้ยงลูกจะทำให้เกิด
1. ความรัก ความผูกพัน
2. ความไว้วางใจ มองโลกในแง่ดี
3. เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
4. การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และปรับตัวได้ง่ายในสังคม
5. เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย
วัยปฐมวัย “บ่อเกิดแห่งการเรียนรู้ของลูก”
ด้วยการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ที่มักชอบให้ลูกเล่นของแปลกใหม่ ท้าทาย เล่นเกม เล่นหกคะเมนตีลังกา สร้างสิ่งกีดขวางแบบง่ายๆ ให้ลูกได้หัดแก้ปัญหา ทำให้เด็กเกิดความพยายามในการค้นพบ เพื่อไปสู่จุดหมายให้สำเร็จ เด็กเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ และต้นทุนชีวิตต่างๆ คือ
1. การเรียนรู้ความเป็นนักวิทยาศาสตร์
2. ทักษะการแก้ปัญหา (Problem-solving skill) โดยเฉพาะคณิตศาสตร์/โจทย์ปัญหา
3. วางแผน
4. การควบคุมอารมณ์ (Emotional Regulation)
วัยเรียน “บ่อเกิดทักษะต่างๆ”
เมื่อพ่อเลี้ยงลูก สร้างแนวคิดคร่าวๆ ที่เหลือหัดให้ลูกแก้เองจนสำเร็จ ประกอบด้วยลูกเริ่มรู้จักพ่อจากการทำงานของพ่อ เห็นความรับผิดชอบและแบบอย่างที่ดีต่องานนอกบ้านและในบ้านและบุคลิกที่ดี ไม่มีความรุนแรงและรับฟัง จะทำให้ลูกเกิดต้นทุนชีวิตด้านต่างๆ ดังนี้
1. ทักษะการคิดวิเคราะห์ วางแผน
2. ทักษะการแก้ข้อขัดแย้ง แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี
3. พลังความเชื่อ อันเกิดจากความเพียรพยายามมากกว่าโชคชะตา
4. เด็กจะมีความรับผิดเพิ่มมากขึ้น ลดการกล่าวโทษผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม
5. เด็กจะมีความอดทนต่อความยากลำบากเพิ่มมากขึ้น
บุคลิกภาพของพ่อ ผนวกกับสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว จะทำให้เด็กวัยรุ่นรู้สึกศรัทธาบุคลิกลักษณะของพ่อทั้งวัยรุ่นผู้ชายที่จะพยายามเจริญรอยตามและทำให้ดีที่สุดหรือดีกว่าในขณะที่วัยรุ่นผู้หญิงเองก็จะมีผลต่อความประทับใจเก็บไว้ในความทรงจำ เวลาเติบใหญ่จะมีผลในการเลือกคู่ครองของตนเองต้นทุนชีวิตที่จะเกิดกับเด็กในวัยนี้
1. พัฒนาบุคลิกภาพให้สมกับเพศและสมกับวัย
2. ทักษะในการคบค้าสมาคมต่างเพศ ต่างวัย
3. ความรัก ความเข้าใจ
ฉะนั้น การที่พ่อลดบทบาทการเลี้ยงลูกในครอบครัวส่งผลกระทบต่อพัฒนาการรของลูกในอนาคตเป็นอย่างมาก และหากดูกระแสของสถานการณ์ครอบครัวปัจจุบันเป็นที่น่าตกใจว่าหากอัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้น หรือครอบครัวขนาดเล็กมีมากขึ้น ประกอบด้วย พ่อแยกส่วนไม่ทุ่มเทช่วยแม่ในการเลี้ยงลูกในอนาคตเยาวชนบ้านเราเติบโตขึ้นจะเกิดทุกขลักษณะต่อไปนี้ (ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่ขาดเบ้าหลอมร่วมด้วย)
1. ขาดบุคลิกภาพ เกิดเพศที่สามมากขึ้น : กะเทย
2. ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา (Antisocial) ขวางโลก ขวางสังคม ขาดการควบคุมอารมณ์
3. ขาดทักษะในการวางแผน คิดวิเคราะห์
4. ขาดความอดทนและความเพียรพยายาม
5. ขาดความเชื่อมั่นจากฝีมือตนเอง แต่หวังพึ่งโชคชะตามากขึ้น
6. ขาดความกล้าในการแสดงออก
7. ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
8. ขาดความรักและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
9. ปรับตัวในสังคมได้ยาก
10. ขาดทักษะการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี
หมายเหตุ เว้นเสียแต่ว่าหากไม่มีพ่อ หรือพ่อไม่ช่วยแม่ในการเลี้ยงลูกด้วยความตั้งใจ แต่มีแม่ที่มีความสามารถพิเศษที่สามารถพัฒนาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ประกอบกับสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่นหรือเด็กสามารถซึมซับบุคลิกภาพจากผู้คนแวดล้อม เช่น พี่ น้า อา ลุง ตา หรือครู ผู้ดูแลที่เด็กให้ความไว้วางใจ
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
Update 29-12-51