บทบาท’น.พ.ประกิต’ เลขาธิการสสส.โลกคนใหม่
การดูแลสุขภาพ ลดพฤติกรรมเสี่ยง เป็นแนวโน้มที่ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจสำหรับประเทศไทย เริ่มก่อตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีรายได้จากภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุราในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ทำหน้าที่จุดประกาย กระตุ้น สนับสนุน และประสานความร่วมมือกับกลุ่มบุคคล องค์กรและชุมชนทั่วไป โดยมุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพดีครบ 4 ด้าน ได้แก่ กาย จิต ปัญญา สังคม
หากมองภาพกว้างในระดับโลก พบว่า มีหลายประเทศที่ก่อตั้งองค์กรลักษณะเดียวกับ สสส. โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว และปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ (the international network of health promotion foundations – inhpf) หรือเครือข่าย สสส.โลกด้วยกัน 8 องค์กร จาก 7 ประเทศ
เครือข่ายสสส.โลก เริ่มจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าของกองทุนสร้างเสริมสุขภาพจากทั่วโลก เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสรรค์ กิจกรรมร่วมกันและเป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุน เพื่อการจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพใหม่ๆ ขึ้น
ก่อนที่ประเทศไทยจะตั้ง สสส.ขึ้น เราก็ได้รับการดูแลและการเป็นพี่เลี้ยงจาก สสส.แห่งรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลียหรือ victorian health promotion foundation (vichealth) ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ก่อตั้ง สสส.ขึ้นได้ ทั้งยังได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นสมาชิกเครือข่ายสสส.โลก
ในปีนี้มีคนไทยที่ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการเครือข่าย สสส.โลก เพื่อร่วมดำเนินงานในวัตถุประสงค์หลักขององค์กรด้วย น.พ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ คือผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หลังผ่านการลงมติเห็นชอบโดยเอกฉันท์ของ 8 องค์กรสมาชิกจาก 7 ประเทศ โดย น.พ.ประกิตจะดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 2 ปีตั้งแต่ 1 ก.ย. 2554 – 31 ส.ค. 2556
ปัจจุบันเครือข่ายมีสมาชิกหลักที่เป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งคล้ายคลึงกับสสส.จากทั่วโลก 8 องค์กร จาก 7 ประเทศ และมีสมาชิกรองจากอีกราว 6 ประเทศ โดยสมาชิกหลักประกอบด้วย ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไทย ตองกา สสส.แห่งรัฐวิกตอเรีย ออสเตรเลีย และสสส.ออสเตรเลียตะวันตก
ส่วนสมาชิกรอง ประกอบด้วย แคนาดา โคลัมเบีย ฮังการี อินเดียมองโกเลีย โอมาน นอกจากนี้ยังมีประเทศที่มีองค์กรเช่นเดียวกับ สสส.แต่ยังไม่ได้เข้าเป็นประเทศสมาชิก เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นต้น
หน้าที่หลักของการเป็นเลขาธิการเครือข่ายสสส.โลก คือ การผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง สสส.ในประเทศอื่นๆ รวมทั้ง การเพิ่มสมาชิกในเครือข่าย สสส.โลก เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
ประเทศสมาชิกเครือข่ายสสส.โลก จะสับเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประธานเครือข่ายและเลขาธิการเครือข่าย โดยจะมีเป้าหมายร่วมกันในแต่ละเรื่องจะมีการกำหนดประเด็นเป็นวาระเพื่อทำงานในเป้าหมายเดียวกันในช่วงระยะเวลา 3 เดือน รวมทั้งจะมีการจัดประชุมเทเลคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนการทำงานด้วย
น.พ.ประกิตกล่าวว่า การได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการเครือข่ายสสส.โลกเป็นผู้เดินหน้าให้ประเทศที่กำลังจะจัดตั้ง สสส.เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่าย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ประเทศที่กำลังจะจัดตั้งสสส.ขึ้น เช่น สปป.ลาว ที่กำลังมีการดำเนินการจัดตั้งกองทุนยาสูบ อุบัติเหตุ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนซึ่งมีลักษณะเดียวกับประเทศไทย ที่ใช้เงินจากภาษีสุราและยาสูบ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีหลายประเทศที่มีแนวคิดจะจัดตั้งสสส.ขึ้นเช่น แอฟริกา เวียดนาม ที่กำลังจะผ่านกฎหมายเช่นกัน
“การดำเนินงานด้านการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากปล่อยให้มีเฉพาะระบบการรักษา จะไม่สามารถจัดหางบมาดูแลได้อย่างพอเพียง ขณะที่แต่ละปีก็มีประชาชนจำนวนมากที่ป่วยจากเหตุแห่งพฤติกรรม ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขอย่างหนักหน่วง จึงจำเป็นต้องสร้างระบบป้องกันขึ้นไม่ใช่ตั้งรับเพียงอย่างเดียว”น.พ.ประกิตกล่าวการที่ไทยตั้ง สสส.ขึ้นได้ และบริหารจัดการดำเนินกองทุนมาถึงวันนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หลายประเทศหันกลับมามองว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการเชิงรุก
สำหรับผลประโยชน์ต่อสสส.และประเทศไทย ในการเป็นสมาชิกเครือข่าย มีดังนี้
1.สสส.ได้รับการสนับสนุนด้านการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในระดับนานาชาติ
2.มีการรับรู้ และการยอมรับ ในผลงานและความเป็นผู้นำของสสส.จากประเทศสมาชิกในเครือข่ายนานาชาติ
3.สสส.ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากสมาชิกอื่นๆของเครือข่าย ในการจัดการประชุม iuhpe world conference on health promotion 2013
4.สสส.ได้เรียนรู้และเผยแพร่ประสบการณ์ในการบริหารจัดการกองทุนสร้างเสริมสุขภาพกับสมาชิกของเครือข่าย
5.ตัวแทนสสส.ที่เข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมของเครือข่ายจะพัฒนาสมรรถนะในระดับสากล ผ่านการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างความร่วมมือ และวางยุทธศาสตร์ในการผลักดันงานของเครือข่ายได้
ทุกปีเครือข่ายจะจัดประชุมประจำปีเพื่อสรุปผลการทำงานของเครือข่าย และวางแผนการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรสมาชิกในปีต่อไป ซึ่งเจ้าภาพการประชุมจะหมุนเวียนไปตามประเทศสมาชิก
ในปี 2554 สสส.มาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สมาชิกลงมติให้ย้ายตำแหน่งเลขาธิการเครือข่ายจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทยเพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องกับประธานเครือข่ายที่ ท.พ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสสส.ไทยดำรงตำแหน่งอยู่ เพื่อเดินเครื่องเป็นผู้นำสุขภาพเต็มตัว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด