น้ำท่วม ระวังงูและสัตว์เลื้อยคลาน
ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
จังหวัดสมุทรปราการเตือนประชาชนระวังงูหนีน้ำท่วม พร้อมวิธีการป้องกันภัยจากงูและสัตว์เลื้อยคลาน โดยนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เร็วที่สุด ระหว่างการนำส่งถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจนไปรับการรักษาที่สถานพยาบาล
นางสาวกัญญรัตน์ เกียรติสุภา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกอาจมีงูและสัตว์เลื้อยคลานมักเลื้อยเข้าบ้านและไปอยู่ในที่นอนเพื่อหาที่อบอุ่น อาจเกิดอันตรายกับเด็กและคนที่อยู่ในบ้านได้ จังหวัดสมุทรปราการจึงขอแนะนำในช่วงน้ำท่วมอาจมีผู้ถูกงูกัดควรดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นคือ ตั้งสติให้ดีอย่าตกใจเกินเหตุ เนื่องจากผู้ถูกงูกัดบางรายที่ถูกงูพิษกัดอาจได้รับพิษเพราะบางครั้งงูพิษกัดแต่ไม่ปล่อยพิษออกมาหรืองูพิษตัวนั้นได้กัดสัตว์อื่นมาก่อนและไม่มีน้ำพิษเหลือ ในกรณีทีได้รับพิษงูผู้ถูกงูกัดจะไม่เสียชีวิตหรือมีอาการอันตรายร้ายแรงทันที ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาทีจึงจะเริ่มมีอาการรุนแรง ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด (ถ้ามี) ห้ามทำสิ่งต่อไปนี้คือ กรีดแผล ดูดแผลใ ช้ไฟ/ไฟฟ้าจี้ที่แผล ประคบน้ำแข็งสมุนไพร พอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน การกระทำเหล่านี้ไม่ช่วยรักษาผู้ถูกงูกัดแต่จะมีผลเสีย เช่น เพิ่มการติดเชื้อเนื้อตาย และที่สำคัญทำให้เสียเวลาที่จะนำส่งผู้ถูกงูกัดไปสถานพยาบาล เคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด
การเคลื่อนไหวร่างกายมากๆ อาจจะทำให้มีการดูดซึมพิษงูจากบริเวณที่ถูกกัดเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดมากขึ้น และถ้าทำได้ให้ใช้ไม้ดามบริเวณที่ถูกงูกัด และใช้ผ้าพันยึดหรือผ้าสะอาดพับทับให้แน่นพอประมาณ คล้ายการปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหักหรือข้อมือข้อเท้าซ้น ไม่ควรทำการขันชะเนาะ อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดเป็นเนื้อตายนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เร็วที่สุด ระหว่างการนำส่งถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจนไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลได้ เพราะงูพิษบางอย่างเช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา มีพิษทำให้ร่างกายเป็นอัมพาตทั้งตัว ผู้ถูกงูกัดจะเสียชีวิตจากการหยุดหายใจ ข้อสำคัญควรแจ้งให้แพทย์ทราบลักษณะงูที่กัด และกัดบริเวณใด เมื่อไร ถ้านำซากงูไปด้วยก็จะดีมากแต่ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาตามหาและไล่ตีงูเพื่อนำไปด้วย เพราะจะทำให้เสียเวลาในการรักษาโดยไม่จำเป็น ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เคยมีประวัติแพ้ยาหรือสารใดๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย ผู้ถูกงูกัดไม่จำเป็นต้องได้รับเซรุ่มแก้พิษงูทุกราย แพทย์จะให้เซรุ่มแก้พิษงูเฉพาะในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น