นิโคตินในบุหรี่ฤทธิ์เสพติดเทียบเท่าโคเคน-เฮโรอีน

 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยข้อมูลต่างประเทศพบว่า บุหรี่มีฤทธิ์เสพติดในทุกช่วงวัยสูงสุด เมื่อเทียบกับเฮโรอีน กัญชา

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ข้อมูลในต่างประเทศมีการศึกษาพบว่า บุหรี่มีฤทธิ์เสพติดสูงกว่าเฮโรอีนในทุกช่วงวัย คือ อายุ 15-24 ปี บุหรี่มีฤทธิ์เสพติดสูงกว่าร้อยละ 25 ขณะที่เฮโรอีนมีฤทธิ์เสพติดร้อยละ20 ส่วนกัญชาและแอลกอฮอล์มีฤทธิ์เสพติดประมาณร้อยละ 19 ส่วนช่วงอายุ 25-34 ปี พบว่า บุหรี่มีฤทธิ์เสพติดสูงกว่าร้อยละ 35 ส่วนเฮโรอีนและแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ร้อยละ19 ส่วนกัญชาร้อยละ 10 ขณะที่อายุระหว่าง 35-44 ปี บุหรี่มีฤทธิ์เสพติดประมาณร้อยละ 35

ส่วนเฮโรอีนออกฤทธิ์เสพติดไม่ต่างกันมากนัก ส่วนอายุ 45-54 ปี พบว่าบุหรี่ออกฤทธิ์เสพติดสูงเกือบร้อยละ 35 เช่นกัน สรุปคือ บุหรี่ออกฤทธิ์เสพติดสูงสุดเมื่อเทียบกับเฮโรอีน กัญชา นอกจากนี้ จากการสแกนสมองโดยเครื่องตรวจคอมพิวเตอร์สมอง แสดงให้เห็นถึงภาพสมองที่เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีฟ้าเข้ม จากการที่สารนิโคตีนในควันบุหรี่เข้าไปจับกับเซลล์สมอง โดยยิ่งสูบมากครั้ง สีสมองจะยิ่งเข้มขึ้น ซึ่งหากสูบ 3 มวนจะพบว่าสีเข้มทั่วไปหมด

“อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การรณรงค์ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่เป็นไปด้วยความลำบาก เนื่องจากอำนาจการเสพติดที่รุนแรงของบุหรี่ เพราะกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ที่เพิ่มอำนาจการเสพติดของบุหรี่ โดยการเติมสารแอมโมเนียในขบวนการผลิต จะทำให้นิโคตินถูกดูดซึมเข้าสมองเร็วขึ้น มีผลทำให้ฤทธิ์เสพติดเพิ่มขึ้น ที่น่ากังวลคือ ข้อมูลเมื่อปี 2552 พบว่าประชากรที่เสพติดบุหรี่ประมาณ 1 ล้านคนมีฐานะยากจน โดยมีรายได้เฉลี่ยคนละ 2,094 บาทต่อเดือน แต่ใช้เงินไปในการซื้อบุหรี่เฉลี่ย 450 บาทต่อเดือน”นพ.ประกิตกล่าว

นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า บุหรี่ จัดเป็นสินค้าพิเศษ ไม่ใช่สินค้าธรรมดา จึงควรควบคุม โดยเฉพาะการควบคุมการสื่อสารการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งปัจจุบันเป็นเครื่องมือสำคัญในการบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า บุหรี่คือยาเสพติดที่ไม่แตกต่างจากกัญชา เฮโรอีนเลย แต่ที่ผ่านมาการสื่อสารการตลาดกลับรุกคืบ โดยโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มีการทำกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม หรือที่เรียกว่า ซีเอสอาร์ (CSR) ในโรงภาพยนตร์ ทั้งๆที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 ให้กระทรวงการคลังดำเนินการห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมซีเอสอาร์ แต่ผ่านมา 1 ปียังไม่มีการดำเนินการตามมติ ครม.

ล่าสุดเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ประกอบด้วยภาคีเครือข่าย 30 องค์กร อาทิ ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) เตรียมทำหนังสือถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อสอบถามความคืบหน้าในการปฏิบัติตามมติครม. ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการนอกจากปัญหาข้อกฎหมายแล้ว ยังเป็นการไม่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

” บุหรี่เป็นภัยร้ายไม่ต่างจากยาเสพติด แต่ไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดกระทรวงการคลังยังไม่ดำเนินการควบคุมการทำซีเอสอาร์ ทั้งๆที่เป็นกลยุทธ์ในการบิดเบือนให้ประชาชนหลงเชื่อว่า บุหรี่ไม่ได้มีพิษร้าย เพราะอุตสาหกรรมยาสูบยังทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่ จึงอยากให้กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และมูลนิธิจะเร่งรณรงค์ให้สังคมไทยตระหนักว่าบุหรี่เท่ากับยาเสพติดเพิ่มมากขึ้นด้วย เชื่อว่าจะทำให้นักสูบหน้าใหม่ลดลงและมาตรการในการควบคุมเข้มขึ้น เพราะบุหรี่มีฤทธิ์เสพติดเทียบเท่าเฮโรอีนและโคเคน “นพ.ประกิตกล่าว

 

 

ที่มา : เนชั่นแชลแนล

Shares:
QR Code :
QR Code