นิทาน ‘หนูน้อยแก้มแดง’ ปลูกฝังโตขึ้นไม่เล่นพนัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์
จัดโรดโชว์โดยดัดแปลงนิทานเรื่อง "หนูน้อยแก้มแดง" ปลูกฝังเยาวชนโตขึ้นไม่เล่นพนัน
จากผลสำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบของการพนันในประเทศไทย ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบว่าคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปกว่า 70% มีประสบการณ์การเล่นพนัน ในจำนวนนี้กว่า 60% เริ่มเล่นครั้งแรกเมื่ออายุยังไม่ถึง 20 ปี และอายุน้อยที่สุดที่พบคือ 7 ปี โดยการพนันที่เข้าถึงคนไทยมากที่สุดคือ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน และไพ่ ถัดมาคือพนันทายผลกีฬา เช่น ฟุตบอล หรือมวย
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโครงการ "พลังจิตใต้สำนึก หนูน้อยใจเข้มแข็ง" และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ได้นำเสนอหนังสือนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย ชุด "พลังจิตใต้สำนึก หนูน้อยใจเข้มแข็ง ไม่เอาพนัน" ที่เปิดตัวไปเมื่อกลางปี 2560 ที่ผ่านมา จำนวน 7 เล่ม ได้แก่ หางฟู หูแหลม, เชื่อช้าง, "หนูน้อยแก้มแดง", สัตว์ประหลาด, คุณตากับปลายักษ์มหึมา, มิมิ มะมะ และตืด ตืด เพื่อปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมที่ถูกต้อง ไม่ให้เด็กยุ่งเกี่ยวกับการพนัน
ล่าสุดทีมงานโครงการได้จัดโรดโชว์โดยดัดแปลงนิทานเรื่อง "หนูน้อยแก้มแดง" เป็นบทละคร จัดแสดงให้แก่น้องๆ ระดับชั้นอนุบาล 1-3 อายุระหว่าง 3-6 ปี ที่โรงเรียนอนุบาลพุทธรักษา เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดยนายธนชัย สุนทรเวช ทีมงานโครงการ กล่าวว่า หนังสือนิทานเรื่องนี้ถือเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่ต้องการใช้เป็นเครื่องมือสร้างจิตใต้สำนึกให้เกิดขึ้นกับเด็กปฐมวัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านการเล่นการพนันที่จะเข้ายุ่งเกี่ยวกับพวกเขาในอนาคต
"บุปผชาติ ตรีพล" หนึ่งในผู้จัดละครหนูน้อยแก้มแดง เล่าถึงที่มาของการสร้างละครหนูน้อยแก้มแดง ซึ่งดัดแปลงจากหนังสือนิทานภาพหนูน้อยแก้มแดงมาเขียนบท โดยเรียบเรียงเพื่อสร้างสีสันให้น่าสนใจ โดยเนื้อหาคือ "หนูแก้มแดงต้องเอาขนมไข่ไปให้คุณยาย ระหว่างเดินทางไปในป่าก็พบกับตุ๊กแก ลิงจ๋อ และหมาในเจ้าเล่ห์ สัตว์ทั้งสามตัวตั้งใจหลอกล่อให้เล่นเกมเสี่ยงโชค พร้อมเอารางวัลมาล่อใจ แล้วถ้าแพ้ แก้มแดงก็ต้องเสียขนมไข่ และทำให้คุณยายที่รออยู่ก็ไม่ได้กินขนมไข่"
"โดยเนื้อหาจะเป็นการพยายามสอนเด็กๆ ไม่ให้เล่นการพนันหรือเสี่ยงโชค เพราะอาจสูญเสียสิ่งที่สำคัญไป นั่นคือไม่มีขนมไข่ให้คุณยาย เมื่อเขารักในตัวละคร และเขาจะจดจำไปตลอด ซึ่งถือเป็นการปลูกฝังการมีของมีค่าแล้วเสี่ยงโชคไม่ถูกต้อง เพราะต้องเข้าใจว่าเด็กวัยขนาดนี้ยังคงไม่เข้าใจคำว่าการพนันเป็นอย่างไร แต่การนำเสนอผ่านการแสดงละครจะทำให้เขาเข้าใจและเทียบเคียงได้"
นายสุกฤต อ่องชาติ ผู้จัดละครอีกคน เสริมว่า ละครเรื่องนี้ทักษะของนักแสดงเป็นสิ่งสำคัญในการดึงการมีส่วนร่วมของเด็กๆ เพราะเขาต้องฟังเสียงตอบรับจากเด็กๆ ว่าจะเลือกไปทางไหนและต้องแสดงไปทางนั้น นอกจากนี้ต้องดึงความสนใจเด็กให้ได้ เพราะหากใช้เวลานานก็จะเกินสมาธิของเด็กวัยนี้ซึ่งสั้นมาก ประมาณ 15 นาที แต่ละครใช้เวลาพอสมควร ฉะนั้นต้องสื่อสารเก็บสมาธิของเด็กให้เขาเข้ามาจดจ่ออยู่ตลอดเรื่อง
ขณะที่ น.ส.สุจิตร มีทรัพย์ ผู้อำนวยการ รร.อนุบาลพุทธรักษา เขตจตุจักร กรุงเทพฯ บอกว่า ละครเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เด็กๆ ซึมซับการปฏิเสธเรื่องการเสี่ยงโชคหรือการเล่นการพนัน แต่ยังสามารถตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในอนาคต และยังสามารถนำไปพูดกับพ่อแม่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพื่อให้ผู้ปกครองตระหนักและอายลูกๆ หากยุ่งเกี่ยว ในขณะที่โรงเรียนก็ได้มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ได้ค้นพบ สืบเสาะลงไปถึงปัญหาของการพนัน รวมทั้งแก้ไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
"จากเรื่องดังกล่าว ตอนนี้มีการ์ดภาพที่เด็กๆ ชอบซื้อกันเล่น ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมและปลูกฝังการพนันอย่างหนึ่ง เด็กของเราซึ่งเป็นชั้นอนุบาล ดูละครหนูน้อยแก้มแดง ไปเจอพี่ประถมเล่นที่บ้าน เขาบอกคุณแม่เขาว่ามันไม่ดี เสียเวลา และไม่ซื้อ อีกทั้งคุณครูยังอยากเสนอให้ต่อยอดกิจกรรมเหล่านี้ไปถึงระดับประถม ซึ่งถือเป็นวัยสำคัญที่ต้องฉีดภูมิคุ้มกันเรื่องห่างไกลจากการพนันอย่างต่อเนื่อง" ผอ.รร.อนุบาลพุทธรักษากล่าวเสนอไว้
เช่นเดียวกับ ด.ญ.ภีรฎา เพศพรหม หรือ "น้องมินา" กับ "น้องบูโด" หรือ ด.ช.ชวเทธ ก้าวเจริญ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า พวกเราชอบเรื่องหนูน้อยแก้มแดง เพราะสอนให้เราไม่เล่นการพนัน เพราะการพนันเป็นสิ่งไม่ดี และคิดว่าผู้ใหญ่ก็ไม่ควรยุ่งเกี่ยวด้วยเช่นกัน
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ผู้ดูแลแผนงานรณรงค์หยุดพนันของ สสส. กล่าวสรุปว่า ถ้าถามว่าคนไทยมีนิสัยการเล่นการพนันที่มากกว่าคนชาติอื่นไหม ก็ยืนยันได้ว่าไม่ได้แตกต่างกัน แต่ที่เป็นความแตกต่างคือ ชาติอื่นๆ มีมาตรการทางสังคมที่แข็งแรงกว่าเรา เช่น มีหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กรู้เท่าทันการพนัน มีการรณรงค์สร้างความตื่นตัวอย่างต่อเนื่อง จริงจัง เพื่อให้ผู้คนในสังคมตระหนักในผล กระทบของการพนัน มีบริการให้คำปรึกษาและเยียวยาผู้รับผลกระทบของการพนันที่มากเพียงพอ และที่สำคัญคือมีหน่วยงานที่หลากหลายที่ทำงานเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการพนันในสังคม โดยมีกองทุนที่เกิดจากการเก็บภาษีจากกิจการพนัน เช่น ลอตเตอรี่ นำมาสนับสนุนการทำงานทางสังคม
"การที่ สสส.สนับสนุนให้มีการผลิตชุดนิทานเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัยเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการปลูกฝังตั้งแต่เด็กตอนที่เขายังเข้าไม่ถึงการพนันจะช่วยป้องกันปัญหาได้ดีกว่า และเราพบว่าเมื่อเด็กๆ เกิดการเรียนรู้ก็จะส่งผลกระทบไปสู่การเรียนรู้ของพ่อแม่ ผู้ปกครองด้วย เช่นเดียวกับเรื่องเหล้าและบุหรี่ ที่เสียงของเด็กสามารถทำให้ผู้ใหญ่หลายคนเปลี่ยนใจเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ได้" ผู้ดูแลแผนงานรณรงค์หยุดพนันของ สสส.กล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ โรงเรียนระดับปฐมวัยและชุมชนใดที่สนใจขอรับนิทานทั้ง 7 เล่มนี้ หรือต้องการให้จัดกิจกรรมโรดโชว์ สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน facebook.com/stopgamblingnetwork