“นิทานเยียวยา” ความสูญเสียของเด็ก 3 จ. ชายแดน

เรียกร้องยุติความรุนแรงด้วยสันติวิธีและการให้

 

 “นิทานเยียวยา” ความสูญเสียของเด็ก 3 จ. ชายแดน

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีช้างใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง เกเรมาก และกำลังไปหาอาหาร ระหว่างทางช้างร้องเพลงด้วยความสนุกสนาน แต่เหยียบฝูงมดข้างทางตายเป็นจำนวนมาก

 

          ฝูงมดที่เหลือถามพี่ช้างว่า “พี่ช้างจ๋า พี่ช่วยเดินเลี่ยงไปทางอื่น เพื่อไม่ให้พวกฉันตายได้ไหมจ๊ะ” แต่พี่ช้างก็ไม่สนใจ

 

          วันหนึ่ง ช้างยังเดินไปเหยียบฝูงมดเพื่อหาอาหารอีก ฝูงมดจึงรวมตัวกัน เพื่อแยกกันกัดหูและส่วนอื่นๆ ของช้างและก่อนที่ฝูงมดจะกัด มดตัวหนึ่งถามพี่ช้างว่า

 

          “พี่ช้างจ๋า ช่วยเดินไปทางอื่นได้ไหมจ๊ะ ไม่เช่นนั้นพี่ช้างจะเหยียบพวกฉันตาย”

 

          แต่พี่ช้างไม่ฟัง ยังเหยียบฝูงมดอีกเช่นเคย ฝูงมดที่รอดอยู่จึงเดินขึ้นไปกัดหูช้าง มดจึงถามอีกว่า “พี่ช้างจ๋า เดินไปทางอื่นได้ไหม”

 

          พี่ช้างจึงร้องขอให้มดที่กัดออกไป มดจึงต่อรองขอให้พี่ช้างเดินไปทางอื่นเพื่อไม่ให้เหยียบฝูงมดตาย ในวันต่อมา พี่ช้างจึงเดินเลี่ยงไม่เหยียบฝูงมดอีก และพี่ช้างก็ร้องเพลงทักฝูงมดอย่างมีความสุข

 

          นิทาน “มดน้อยในป่าใหญ่” เรื่องราวของความสูญเสีย ของ “น้องครีม” ด.ญ.อาชีลา ดอรอแต วัย 12 ปี หนูน้อยผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่พ่อถูกยิงเสียชีวิต จากความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา

 

          นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “อย่าคิดว่าตัวเองใหญ่เสมอไป ซึ่งช้างเปรียบเสมือนผู้ก่อความไม่สงบ ส่วนมด เปรียบเสมือนชาวบ้านที่ถูกทำร้าย เมื่อมดรวมตัวกันก็จะเกิดพลังต่อรอง และเมื่อมีการหันหน้าคุยกันก็จะไม่เกิดความสูญเสีย”

 

          และนี่คือหนึ่งใน “นิทานเยียวยา” ของเยาวชนผู้สูญเสียใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สะท้อนผ่านเวทีประชุมนานาชาติ ภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 4 เรื่องชุมชนปลอดภัย ระหว่างวันที่ 21 – 24 พฤศจิกายนที่หอประชุมกองทัพเรือ ในนามกลุ่ม “ลูกเหรียง” โดยบอกเล่าถึงประสบการณ์สูญเสียที่เกิดจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และวิธีเยียวยาแก้ไขปัญหา เพื่อเรียกร้องให้เกิดการยุติความรุนแรงในพื้นที่

 

          น.ส.วรรณกนก เปาะฮิแตดาโอะ วัย 25 ปี ผู้ประสานงานกลุ่มลูกเหรียง เล่าถึงความเป็นมาของ “กลุ่มลูกเหรียง” ว่า

 

          “กลุ่มลูกเหรียง” หรือเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองในภาคใต้ที่กำลังจะงอกขึ้นมาเป็นลำต้น ถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 ผ่านการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนที่สูญเสียพ่อและพี่ชายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 94 คน

 

          “สมาชิกในกลุ่มลูกเหรียงถึง 60% เป็นเด็กที่สูญเสียพ่อและพี่ชาย และผลกระทบที่ตามมาก็คือ บางคนต้องออกจากโรงเรียนเพราะกำลังหลักของบ้านเสียชีวิตลง หรือบางคนกลายเป็นเด็กที่เก็บตัว ไม่พูดกับใคร

 

          ช่วงแรกของการรวมตัวในกลุ่ม รู้สึกแย่ตรงที่น้องๆ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ลูกข้าราชการ และลูกที่พ่อเสียชีวิตจากเหตุการณ์กรือแซะ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นลูกโจร แต่เมื่อเข้าสู่กิจกรรมเล่ากราฟชีวิต ทำให้น้องๆ เห็นเหมือนกันว่า ช่วงที่กราฟต่ำลงที่สุดคือช่วงที่พ่อเสียชีวิต จนเด็กบางคนบอกว่า ถ้ารู้ว่าพ่อออกไปฆ่าคนจะจับพ่อล่ามโซ่ไว้กับเสาบ้าน หรือบางคนบอกว่าจะไม่ยอมให้พ่อออกจากบ้านไปในวันนั้น ทำให้เริ่มเปิดใจเห็นว่าเด็กไม่มีส่วนรู้เห็นในเรื่องนี้”

 

          นอกจากบอกเล่าเรื่องราวผ่านกราฟชีวิตแล้ว ยังมีกิจกรรม อาทิ “ศิลปะเพื่อการเยียวยา” โดยให้การวาดภาพเพื่อเล่าเรื่องราวต่าง ๆ แต่ต้องจบลงด้วยวิธีสันติและการให้อภัย ไม่ใช่การแก้แค้น และ “นิทานยุติความรุนแรงสัญจร” ตามโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก เพื่อให้เด็กเข้าใจเรื่องความรุนแรง และไม่ตกเป็นเครื่องมือของความรุนแรง หรือไม่เป็นผู้กระทำความรุนแรง

 

          “เนื่องจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมักใช้เยาวชนเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ โดยเกณฑ์เด็กในหมู่บ้านไปอยู่หน้าม็อบ เพื่อต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่เด็กส่วนใหญ่ไม่เต็มใจ เขาอยากเลือกไปโรงเรียนมากกว่า แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะกลัวถูกมองว่าอยู่พวกไหน จึงมีการสอนวิธีป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ”

 

          เช่นเดียวกับ “น้องบี” นายมะร่อบี เปาะอินแตดาโอะ วัย 15 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มลูกเหรียง เล่าว่า

 

          “วันที่พ่อเสียชีวิต พ่อได้แวะไปที่ร้านน้ำชาก่อนไปกรีดยาง ตอนนั้นเป็นช่วงเช้ามืด ผมยังนอนหลับอยู่ที่บ้าน จนลุงมาบอกว่าพ่อเสียชีวิตแล้ว แต่ในใจผมยังคิดว่าทุกคนแกล้งผมเล่น จนผมไปดูศพพ่อที่โรงพยาบาลสมองพ่อไม่มี มีแต่ปากและจมูกที่พอเห็นใบหน้า เป็นศพที่ไม่สวยเลย วันที่พ่อเสีย ครอบครัวเราไม่มีเงินแม้แต่เงินประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และวันรุ่งขึ้น เจ้าหนี้ก็มาทวงหนี้ ทำให้แม่ต้องกู้เงินและขายที่มาใช้หนี้”

 

          “น้องบี” เล่าว่า “หลังจากที่พ่อเสียชีวิต มีคนชวนผมเข้าร่วมขบวนการ เขาพูดว่า ว่างไหม ไปกับผมหน่อย พี่มีค่ายที่หนึ่ง แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าเป็นที่ไหน แต่ผมคิดว่า ในเมื่อเราเสียพ่อไปแล้ว ก็ไม่อยากให้เกิดการสูญเสียในครอบครัวอื่นอีก และสาเหตุที่เข้าร่วมกับกลุ่มลูกเหรียง เพราะต้องการเยียวยาจิตใจผ่านกิจกรรมกราฟชีวิต ทำให้เห็นว่าไม่ใช่เราเพียงคนเดียวที่สูญเสีย แต่ยังมีเพื่อนคนอื่นๆ อีก”

 

          แม้วันนี้เยาวชนในกลุ่มลูกเหรียง จะสามารถเยียวยาความบาดเจ็บทางจิตใจได้บ้าง แต่สิ่งที่เยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกร้องผ่านเวทีเสวนาครั้งนี้ คือ การสนับสนุนทางการศึกษาจากภาครัฐ การคุ้มครองทางกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะความปลอดภัยจากพยาน งบประมาณสำหรับการเยียวยาครอบครัวที่สูญเสีย รวมถึงความสามัคคีระหว่างเยาวชน ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่และทหารในพื้นที่

 

          และความปรารถนาสูงสุดของเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ความสงบในพื้นที่ เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว ยังพบคนที่รักอยู่กันพร้อมหน้า ไม่มีเหตุการณ์ความสูญเสียเกิดขึ้นอีก

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update 10-03-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code