นำร่อง 7 หมู่บ้าน สร้าง“กลไกชุมชนคุ้มครองเด็ก”
ที่มา : โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้(DSJ)
ภาพประกอบจากเว็บไซต์โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้(DSJ)
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) รุกสร้าง“กลไกชุมชนคุ้มครองเด็ก” นำร่องใน 7 หมู่บ้านในชายแดนใต้ พร้อมจับมือ 4 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ให้นักศึกษาเข้ามาช่วยสื่อสาร สะท้อนเสียงเด็กเพื่อเรียกร้องสันติภาพผ่านสื่อสร้างสรรค์ เตรียมโชว์ในมหกรรมสื่อสันติภาพเด็กและเยาวชนปี 2561
ระหว่างวันที่ 23 – 25 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ร่วมกับธนาคารใจอาสาและองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป (EU) จัดค่ายเสริมศักยภาพแกนนำเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้โครงการมีส่วนร่วมของเด็กและชุมชนเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการสันติวิธีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ Local Engagement to Advocate for Peace Project (LEAP) ที่โรงแรม ซี.เอส ปัตตานี มีเยาวชนในพื้นที่เข้าร่วมประมาณ 40 คน
โครงการ LEAP มีตัวชี้วัด 3 ด้าน 1.การศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน 2.การสนับสนุนงบประมาณ และ 3.การพัฒนาศักยภาพองค์กรเด็กและเยาวชนชนระดับชุมชนเพื่อสร้างกลไกชุมชนคุ้มครองเด็ก รับผิดชอบโดย มพด.
นายฮัมดี ขาวสะอาด เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เปิดเผยว่า ตัวชี้วัดที่ 3 มีโครงการพลังเยาวชนผสานชุมชนและเครือข่ายเข็มแข็งเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ประกอบด้วย 1.การเสริมศักยภาพแกนนำเด็กและเยาวชน มีกิจกรรมสำคัญที่สุดคือการสะท้อนเสียงเด็กเพื่อเรียกร้องสันติภาพผ่านสื่อสร้างสรรค์ และ2.พัฒนากลไกชุมชนคุ้มครองเด็ก เช่น การพัฒนาเครื่องมือคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก การสร้างกลไกคุ้มครองเด็กระหว่างรัฐกับชุมชน และทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 3.การรวมองค์กรที่ทำงานด้านเด็กในพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความเข้มแข็ง
นายฮัมดี เผยต่อไปว่า โครงการพลังเยาวชนผสานชุมชนและเครือข่ายเข็มแข็งเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กในชุมชุมต่างๆ ส่งเสริมพลังอาสาสมัครเยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก ป้องกันความรุนแรงต่อเด็ก สร้างระบบกลไกชุมชนคุ้มครองเด็ก และเพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่
นายอิรฟาน มานี เจ้าหน้าภาคสนามมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เปิดเผยว่า โครงการพลังเยาวชนผสานชุมชนฯ ดำเนินการภายใต้หลักอนุสัญญาว่าด้วยเด็ก(Convention on the Rights of the Child) เพื่อให้เด็กมีสิทธิในการมีชีวิตรอด ปลอดภัยจากภัยอันตรายทุกรูปแบบ เด็กต้องได้รับได้การคุ้มครอง รวมถึงต้องได้รับการพัฒนาทางร่างกาย สังคม สติปัญญา และต้องได้รับการยอมรับจากการแสดงความคิดเห็นในเวทีต่างๆ
“โครงการพลังเยาวชนผสานชุมชนฯ มุ่งหวังให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อเด็กในระดับชุมชน รวมถึงการสะท้อนเสียงแห่งความหวังแห่งสันติภาพชายแดนใต้ผ่านสื่อสร้างสรรค์ โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่” นายอิรฟาน กล่าว
นายอิรฟาน เปิดเผยอีกว่า โครงการนี้ดำเนินการนำร่องใน 7 ชุมชน ได้แก่ 1.บ้านบาโงปะแต ม.1 ต.โคกสะตอ 2.บ้านบือตง ม.3 ต.บาตง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส 3.บ้านบือราเป๊ะ ม.2 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส 4.บ้านยูโย ม.8 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี 5.บ้านตะบิงตีงี ม.3 กับ ม.4 ต.ลุโบะยือไร อ.มายอ จ.ปัตตานี 6.ชุมชนธนวิถี เทศบาลเมืองยะลา จ.ยะลา 7.บ้านสาคอ ม.4 ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา
นางสาวกนกวรรณ โมรัฐเสถียร หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เปิดเผยว่า 7 ชุมชนนำร่องดังกล่าว คัดเลือกจากชุมชนที่ผู้นำศาสนามีบทบาทในการพัฒนาชุมชน เป้าหมายเพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างกลไกชุมชนคุ้มครองเด็กได้ หากประสบความสำเร็จทางมูลนิธิฯก็จะขยายพื้นที่อื่นๆต่อไป
นางสาวกนกวรรณ เปิดเผยอีกว่า โครงการนี้ทำงานร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาและมหาวิทยาลัยฟาฎอนี เพื่อให้นักศึกษามาช่วยสร้างกลไกชุมชนคุ้มครองเด็กและช่วยสื่อสารกลไกชุมชนคุ้มครองเด็กออกไปเนื่องจากนักศึกษามีศักยภาพด้านนี้
“ที่สำคัญในปี 2560 โครงการพลังเยาวชนผสานชุมชนฯ จะมีการอบรมทักษะการสื่อสารสันติภาพของเด็กจาก 7 ชุมชนกับนักศึกษาจาก 4 มหาวิทยาลัยข้างต้นในรูปแบบต่างๆ เช่น วีดีทัศน์ ภายถ่าย สารคดี เป็นต้น เพื่อนำไปเสนอในมหกรรมสื่อสันติภาพเด็กและเยาวชนในพื้นที่ในปี 2561” นางกนกวรรณ กล่าว
นายอับดุลตอเล็ฟ โต๊ะขุน เยาวชนจากบ้านบาตง ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ คือหลักการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะทำให้ประสบความสำเร็จมากกว่าทำงานคนเดียว และเป็นหลักคิดที่เยาวชนบ้านบาตงนำไปใช้ในการสร้างกลไกชุมชนคุ้มครองเด็กในหมู่บ้านบาตง