นำร่องให้คีโมที่บ้าน ลดเสี่ยงโควิด-19
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
แฟ้มภาพ
จากสถานการณ์ของโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด จึงได้พัฒนาบริการรูปแบบใหม่ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล สามารถรับยาได้ตรงตามนัดทุกครั้ง เป็นการแพทย์วิถีใหม่
ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวการแพทย์นิวนอร์มอล เรื่องการให้เคมีบำบัด หรือคีโมในผู้ป่วยมะเร็งที่บ้านว่า ที่ผ่านมาแม้เราจะให้น้ำหนักการต่อสู้กับโรคโควิด-19 แต่ไม่หยุดให้ บริการโรคอื่นด้วย เช่น การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิต 123.3 ต่อประชากร 1 แสนคน โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ 142,769 ราย เสียชีวิต 73,000 คนต่อปี ล่าสุดได้ร่วมกับ รพ.รามาธิบดี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งวิทยาสมาคม ในการจัดทำแนวทางการรักษาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และเพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งโดยการให้เคมีบำบัดที่บ้าน
เริ่มที่โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งลำไส้ตรง ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โรคมะเร็งที่พบมากในไทย ทั้งนี้การให้เคมีบำบัดที่บ้านนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การป้องกันโรค โดยเราพบว่า 5 กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็ง คือ คนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย คนที่ไม่รับประทานผัก ผลไม้สด คนอ้วน คนสูบบุหรี่ และคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นขอให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปี 2563 จะนำร่องให้เคมีบำบัดที่บ้าน ในโรงพยาบาล 7 แห่ง คือ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รพ.รามาธิบดี รพ.ราชวิถี รพ.จุฬาภรณ์ รพ.สมเด็จ พระปิ่นเกล้า รพ.มะเร็งลพบุรี รพ.มะเร็งชลบุรี ซึ่งเริ่มแล้วตั้งแต่ 1 ก.ค.2563 โดยดำเนินการตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.นี้ คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 100 ราย จากนั้นจะมีการประเมินผล และในปี 2564 จะขยายไปทั้ง 13 เขตสุขภาพ แต่ไม่ใช่ครบทุกจังหวัด เบื้องต้นวางเป้า รพ. 30 แห่งเป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่าผู้ป่วยโรคอื่นๆ ดังนั้นการให้เคมีบำบัดที่บ้านจึงช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งเสี่ยงรับเชื้อโรคอื่นๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
ด้าน นพ.พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.รามาฯ กล่าวว่า การรับเคมีบำบัดปกติต้องมา รพ. เพื่อพบแพทย์และรอเตียง ปัจจุบันเตียงไม่พอต้องรอ 5-7 วัน ทำให้คนไข้คลาดเคลื่อนการรับยา และวิตกกังวล จึงมีการเปลี่ยนมาให้เคมีบำบัดที่บ้าน นอกจากนี้ พบว่าประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 50,000 บาทต่อคนต่อการรักษา ดังนั้นจึงเสนอไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้ว เพื่อให้บรรจุในสิทธิประโยชน์แล้ว