นำร่องเขตคลองสามวา สร้างชุมชนเมืองสุขภาวะ มุ่งพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม-สุขภาพ

ที่มา : มติชนออนไลน์

                    แม้สังคมไทยในปัจจุบันจะก้าวสู่โลกโลกาภิวัตน์อย่างเต็มตัว เห็นได้จากแนวโน้มการพัฒนาเมืองที่ตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลาง ภาคธุรกิจ และภาคส่วนอื่นๆ แต่ทั้งนี้ยังขาดมิติเชื่อมโยงกับกลุ่มคนชายขอบ หรือมุมมองจากคนจนเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมืองโดยตรง ส่งผลให้ฐานของสังคมขาดความเข้มแข็ง จนไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้

                    ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พยายามแก้ปัญหานี้มาตลอด โดยเปลี่ยนมุมมองเมืองให้เป็นมากกว่าสินค้า การสร้างมูลค่า หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การออกแบบที่ยุติธรรมสำหรับคนทุกกลุ่ม รับกับวิสัยทัศน์ของ สสส. คือ มุ่งให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี พร้อมขับเคลื่อนสังคมควบคู่กับการพัฒนาทุกพื้นที่ในประเทศ

                    โดยปีนี้ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย จัดเวที ‘แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเวทีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะในเขตคลองสามวา’ นำร่องพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะในพื้นที่ กทม. พร้อมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ผสานความร่วมมือ 6 ชุมชนในพื้นที่ 4 แขวง 3 เขตของ กทม. ด้วยการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะผ่าน ‘โครงการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนเมือง’ ตามยุทธศาสตร์ของแผนสุขภาวะชุมชน คือ การพัฒนาระบบและกลไกเพิ่มขีดความสามารถการจัดการสุขภาวะของพื้นที่ การพัฒนานวัตกรรม และ ส่งเสริมการบูรณาการเข้าสู่งานประจำ ร่วมมือกันเป็นเครือข่าย

                    ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน เล่าถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า เป็นการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่นำร่องเขตคลองสามวา กทม. รวมถึงพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนสุขภาวะของคนทุกช่วงวัย สอดคล้องกับเป้าหมายข้อที่ 11 ของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งระบุว่า เมืองที่ดีต้องทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน

                    “นับเป็นระยะเวลากว่า 13 ปี ที่ สสส. ผนึกกำลังกับชุมชนเพื่อสร้างเสริมชุมชนสุขภาวะ โดยมุ่งเป้าพัฒนาศักยภาพคน พร้อมจัดการชุมชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ รวมถึงสร้างนวัตกรรมชุมชนเมืองอยู่ดีมีสุข ซึ่งการดำเนินการพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะในพื้นที่ กทม. ครั้งนี้ จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือขององค์กร หน่วยงานที่ทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

                    ทั้งนี้ พื้นที่นำร่องพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะของเขตคลองสามวา ประกอบด้วย 5 ชุมชน 4 แขวง ได้แก่ ชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน แขวงสามวาตะวันตก ชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง แขวงทรายกองดิน ชุมชนทองกิตติ แขวงบางชัน ชุมชนโรงช้าง และชุมชนภูมิใจ แขวงทรายกองดินใต้ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเหล่านี้มีความเข้มแข็ง เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และเข้าถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

                    ขณะเดียวกัน นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ บอกว่า การพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะ ไม่สามารถปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เช่นเดียวกับการผนึกกำลังระหว่าง สสส. และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ที่มีเป้าหมายสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเอง พร้อมสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาศักยภาพ ขับเคลื่อนงานพัฒนาในชุมชน นโยบายสาธารณะ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ

                    “จากความร่วมมือของทุกเครือข่ายที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมนำร่องในพื้นที่ กทม. ส่งผลให้คนในชุมชนมีที่อยู่อาศัยมั่นคง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ อาทิ การศึกษา สวัสดิการ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนใน กทม. มีความเป็นอยู่ที่ดี มีการจัดระบบชุมชน สามารถเข้าถึงการบริการทางสุขภาพ ต่อยอดให้ชุมชนพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน”

                    ด้าน นางเตือนใจ เกษมศรี ผู้แทนชุมชนภูมิใจ แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา เล่าว่า ชุมชนภูมิใจมาจากการรวมตัวของหลายชุมชน ซึ่งอยู่ในพื้นที่สาธารณะริมคลองที่ถูกไล่รื้อ คือ ชุมชนคลองเป้ง เขตวัฒนา ชุมชนลาดบัวขาว เขตสะพานสูง ชุมชนอยู่เย็น เขตลาดพร้าว ชุมชนแบนตาโพ เขตคลองสามวา และชุมชนใต้ทางด่วนดินแดง เขตดินแดง โดยตั้งแต่ปี 2561 ชาวชุมชนชุดแรกเข้ามาสร้างบ้านพักชั่วคราวในพื้นที่ใหม่ พร้อมพัฒนาที่ดินเพื่อทำแปลงที่อยู่อาศัยจำนวน 37 ครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอย้ายเข้ามาอยู่อาศัยจำนวน 96 ครัวเรือน

                    “การสร้างสุขภาวะชุมชน เป็นการใช้ปัญหาในพื้นที่มาเป็นเป้าหมายของการพัฒนา รวมถึงใช้ศักยภาพของพื้นที่มาร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหา นับเป็นการระดมทุนทางสังคมและทรัพยากรเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การสร้างงาน พัฒนาระบบบริการ และสภาพแวดล้อมถูกสุขภาวะชุมชนอย่างแท้จริง” ผู้แทนชุมชนภูมิใจ เล่าปิดท้าย

                    จากความร่วมมือในครั้งนี้ ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของชุมชน รวมถึงพัฒนาระบบบริการสาธารณะ พร้อมเชื่อมประสานความร่วมมือระหว่าง กทม. หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เป็นการนำร่องพื้นที่เมืองใหญ่ นำไปสู่การเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ