นำร่องธนาคารเวลาจิตอาสาเก็บแต้มทำความดี
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
'กรมผู้สูงอายุ' นำร่องธนาคารเวลาเก็บแต้มทำความดีกับคนชราในพื้นที่อบต. 38 แห่ง ย้ำไม่จำกัดอายุของจิตอาสา ส่วนผู้รับบริการเน้นผู้สูงวัย
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ได้เปิดประเด็นรับฟังแนวทางการนำรูปแบบธนาคารเวลามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งแนวคิดนี้คล้ายคลึงกันกับงานอาสาสมัครและงานจิตอาสา ที่ทำงานเพื่อสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ขณะเดียวกันได้มีการศึกษาแนวคิดธนาคารเวลาของต่างประเทศมาปรับใช้ โดยเฉพาะประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่มีรูปแบบน่าสนใจ ซึ่งกำหนดให้ใครที่มาทำความดีกับผู้สูงอายุสามารถเก็บแต้มไว้เมื่อเวลาที่ตัวเองสูงอายุแล้วก็จะได้รับการตอบแทนแลกด้วยบริการต่างๆ ที่ต้องการ อย่างไรก็ตามการศึกษานำรูปแบบเพื่อปรับใช้ให้เข้ากับบริบทประเทศไทย และประยุกต์กับธนาคารความดีที่เราดำเนินการอยู่แล้วในพื้นที่ต่างๆ
นางธนาภรณ์ กล่าวต่อว่า จากการหารือได้ข้อสรุปเบื้องต้นจะเริ่มนำร่องธนาคารเวลาใน 38 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีการทำเรื่องธนาคารความดีไว้บ้างแล้ว ซึ่งเป็นการทำฟรีเป็นจิตอาสาไม่ได้มีการสะสมแต้ม โดยจะนำมาถอดเป็นรูปแบบและจำแนกว่ากิจกรรมความดีจิตอาสารูปแบบใดจะนับเป็นคะแนนได้กี่แต้ม เพื่อจะทำให้เป็นมาตรฐาน เหมือนเป็นการนำการให้บริการไปฝากไว้แล้วแลกกับการรับบริการในอนาคต ซึ่งขณะนี้กำลังให้ทดลองทำช่วง 2 เดือนนี้ จากนั้นในเดือน ต.ค.จะนำมาถอดบทเรียนวิเคราะห์ข้อมูลและขยายผลให้มากขึ้นในปี 2562 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำคู่มือและนำร่องใน 38 อบต.ที่จะดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ตามกลุ่มเป้าหมายที่จะทำงานจิตอาสาสะสมแต้มในธนาคารเวลาเป็นใครก็ได้ไม่จำกัดอายุ ส่วนผู้รับบริการคือผู้สูงอายุ เบื้องต้นอยากให้เน้นผู้สูงอายุที่ติดเตียงกับติดบ้านกลุ่มคนที่ไม่ไหนมาไหนไม่ได้ก่อน
นางธนาภรณ์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนในกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างคิดระบบ อาจจะเริ่มใน 2 พื้นที่นำร่อง ซึ่งในกรุงเทพฯก็มีแนวคิดว่า คนที่ทำงานและมีช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างคิดหารูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญของธนาคารเวลาคืออยากให้ทุกคนได้ทำความดีมีจิตอาสา ไม่อยากให้เน้นไปที่ว่าจะต้องทำกี่แต้มแล้วจะได้รับคืนบริการอย่างไร ที่ผ่านมาจะเห็นว่าคนไทยมีการช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังรับผลตอบแทนอยู่แล้ว แต่ระบบนี้เป็นเพียงส่วนเสริมในการสร้างแรงจูงใจเพิ่มขึ้น