นำทูตสันติเชื่อมมิติสังคมแรงงานข้ามชาติ
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
สสส. ไขคำตอบ KEY SUCCESS ทลายกำแพงทางภาษามองข้ามความมั่นคง นำทูตสันติเชื่อมมิติสังคมแรงงานข้ามชาติ
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำคณะผู้บริหารพร้อมที่ปรึกษา ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา อดีตคณบดีหญิงคนแรกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ผู้นำกองทัพหมอยาที่เข้มแข็ง มีคุณูปการแก่คนไทยโดดเด่นที่สุดในวงการเภสัชกรรม-เหินฟ้าตรวจงานบุตรแรงงานข้ามชาติศูนย์ซอย 7 ที่จังหวัดระนอง เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพฝั่งอันดามัน เสน่ห์เมืองเล็กในป่าใหญ่ KEY SUCCESS ทลายกำแพงทางภาษา มองข้ามความมั่นคงให้เป็นทูตสันติ เชื่อมมิติทางสังคม กลุ่มประชากรข้ามชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม) เข้ามาพำนักในเมืองไทยเพื่อทำงานรวมถึงบุตรที่เกิดในเมืองไทย มีแรงงานข้ามชาติได้รับการจดทะเบียน 2,287,401 คน มีผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติและบุตรที่เกิดในเมืองไทย (เมียนมา ลาว กัมพูชา) จำนวน 19,664 คน แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน 1.1 ล้านคน มีเด็กไม่มีสัญชาติไทยในเมืองไทยประมาณ 300,000 คน เจาะลึกครอบครัวยายหม้อ ครูอาสาพม่า พ่อผู้ก่อตั้งโรงเรียน-ลูกชายลูกสาว "ครูโม-ครูติ๋ม ติน ติน อ่าว" อุทิศตัวทำงานเป็นครูเด็กลูกแรงงานข้ามชาติให้มีอนาคตที่ดี กังวลเงินช่วยเหลือมูลนิธิฯ หมดปี 2561 วอนผู้ใหญ่ใจดีหยิบยื่นความช่วยเหลือระยะยาว เด็กเก่ง เรียนต่อทางออนไลน์ได้วุฒิบัตรจาก Australia Catholic University (ACU)
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อม คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 นำโดย ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานกรรมการ ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ ภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักประชากรกลุ่มเฉพาะ อุบล หลิมสกุล อดีตรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กรรมการ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นพ.ยงยุทธ ธรรมวุฒิ ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา ที่ปรึกษา ผศ.ภญ.สำลี ใจดีที่ปรึกษา และ ภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการศึกษาสำหรับลูกหลานแรงงานข้ามชาติและการสร้างเสริมสุขภาพ
ทั้งนี้ ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) ให้ข้อมูลเรื่องระบบการศึกษาที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปด้วยการพัฒนาแนวทางและรูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับประชากรข้ามชาติที่เป็นรูปธรรมของการพัฒนา โดย สสส. เข้ามาสนับสนุนตำราสองภาษาสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เปิดเผยตัวเลขเมื่อปี 2559 กลุ่มประชากรข้ามชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม) เข้ามาพำนักอาศัยในเมืองไทยเพื่อทำงานหรือแสวงหาที่พักพิงลี้ภัย รวมทั้งติดตามครอบครัวเข้ามา รวมถึงบุตรที่เกิดในเมืองไทย มีแรงงานข้ามชาติได้รับการจดทะเบียน 2,287,401 คน มีผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติและบุตรที่เกิดในเมืองไทย (เมียนมา ลาว กัมพูชา) จำนวน 19,664 คน และยังมีแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนและเป็นแรงงานที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง คาดหมายว่ามี 1.1 ล้านคน ประมาณการว่ามีเด็กไม่มีสัญชาติไทยในเมืองไทยประมาณ 300,000 คน ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือเด็กที่เกิดฝั่งโน้น ฝั่งนี้ก็ไม่ยอมรับ เด็กที่เกิดฝั่งนี้ ฝั่งโน้นก็ไม่ยอมรับ ต่างก็โยนกลองให้แก้ไขปัญหา จึงเป็นงานที่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำหน้าที่ประสานหลายหน่วยงานเพื่อช่วยคลายปมปัญหา
จิระนันท์ บุญเรือง ผู้อำนวยการสถานศึกษา กศน.เมืองระนอง กล่าวคลายปมปัญหาว่า กศน. เปิดช่องทางการศึกษาให้กับเด็กที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติ โอกาสที่จะเข้าเรียนในระบบปกติเป็นเรื่องยากเนื่องจากไม่มีเอกสารแสดงตน ไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน ขณะเดียวกันพ่อแม่เด็กต้องการให้เรียนรู้ภาษาของตนเองเพื่อวันใดวันหนึ่งจะได้คืนกลับสู่ประเทศต้นทาง ในช่วงปี 2556-2559 สสส. สนับสนุนโครงการจัดการศึกษา ในปี 2559-2561 มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน เข้ามาช่วยสนับสนุน เป็นเรื่องที่ยอมรับว่าการศึกษานำไปสู่สุขภาวะ การที่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เด็กที่อ่านออกเขียนไทยได้ โอกาสที่จะเข้าสู่การให้บริการสุขภาพ หลักประกันสุขภาพ หลักประกันสังคม ลดปัญหาการสื่อสาร การให้บริการด้านสุขภาพ เด็กวัย 7-9 ขวบ มีปัญหาการเรียนกับเด็กไทย กศน.เปิดโอกาสให้เด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา พลาดโอกาสได้เข้าเรียน มีวุฒิการศึกษา เชื่อมโยงการศึกษา กศน.ที่ประเทศเมียนมาต้นทาง เป็นการจัดการศึกษาคู่กัน อาจารย์ทั้ง 7 คนของศูนย์แห่งนี้นำร่องจัดการศึกษาหลักสูตรเด็กและเอื้อต่อกลุ่มผู้ใหญ่ด้วย
เด็ก 20,000 คนที่ไม่มีสัญชาติไทย 4 กลุ่มอยู่ในระบบการศึกษาที่แตกต่าง เด็กบางคนต้องออกมาทำงานก่อนวัยอันควร ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของแพปลาในระนองรับคนงานวัยเจริญพันธุ์เข้ามาทำงาน เมื่อมีลูก มารวมตัวกันจ้างครูเข้ามาสอน แพสาคร แพวัฒนา อยู่ใน 12 ศูนย์ บางศูนย์ไม่ได้เรียนภาษาไทย เรียนภาษาพม่า อังกฤษ แต่ศูนย์ที่ผมดูแลจะให้มีการสอน 3 ภาษาไทย อังกฤษ พม่า ช่วงเช้าเรียนคณิตศาสตร์ โจทย์พม่า วันนี้เราไม่พบครูพม่าบางคนเพราะในพม่ามีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร จึงต้องเข้าไปประชุมหลักสูตรใหม่ เด็กที่เรียนในศูนย์ 12 แห่ง จำนวน 200 คน แต่ยังมีเด็กอีก 2,000 คนอยู่นอกศูนย์ฯ อยู่ตามสวนเกษตร ปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา เด็กเหล่านี้ตกค้าง เด็กที่เป็นลูกๆ ของแรงงานต่างด้าวในวันหนึ่งต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทางการศึกษาด้วยโรงเรียนขยายโอกาส เป็นการสมัครใจให้เรียนหลักสูตร กศน. ไม่ใช่เป็นการบังคับแต่อย่างใด มีบาทหลวงจากฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ มาสอนภาษาไทย เรามีคนงานข้ามชาติ 70,000-80,000 คนอยู่ในโรงงานปลากระป๋อง ปลาป่น โรงน้ำแข็ง ประมง ลูกๆ ของเขาก็ควรได้สิทธิ์ในการเข้าเรียนหนังสือ แต่ถ้าสอนภาษาไทยทั้งหมด ลูกของเขาสื่อสารภาษาพม่าไม่ได้เมื่อกลับไปเยี่ยมบ้าน ขณะนี้ที่นี่เริ่มโครงการ To Be Number One ป้องกันไม่ให้เด็กติดยาเสพติด ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาสังคมต่อเนื่อง
ครูพม่าชื่อ ยายหม้อ วัย 56 ปี ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ซอย 7 จัดการศึกษาสำหรับลูกหลานแรงงานข้ามชาติ โอกาสการศึกษาในโรงเรียนไทยและทางเลือกการศึกษาในศูนย์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับ กศน.ไทย และเชื่อมโยงกับประเทศต้นทาง (ประเทศเมียนมา) ปัจจุบัน มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) โดย ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว เข้าไปช่วยดำเนินงาน จุดเริ่มต้น เมื่อยายหม้อ บิดาพร้อมด้วยภรรยาและบุตร 2 คนชายหญิง วัย 3 ขวบ และ 2 ขวบ หนีภัยสงครามในเมียนมาเข้ามาอยู่ในเมืองไทยในจังหวัดระนองซึ่งอยู่ติดชายแดนประเทศเมียนมา จุดเข้าออกทางเดียวคือท่าเรือระนอง-เกาะสอง ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง เริ่มต้นด้วยอาชีพรับจ้างเป็นชาวสวน ที่บ่อน้ำร้อน อัมพวา ที่ระนอง ต่อมาทำกับข้าวขาย
ยายหม้อ เรียนจบชั้นปี 3 คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แต่เรียนไม่จบปริญญาตรีเนื่องจากมีสงครามในประเทศ มหาวิทยาลัยย่างกุ้งปิดการเรียนการสอน จึงต้องหนีภัยสงครามเข้ามาทำงานในเมืองไทย ยายหม้อถ่ายทอดเป็นภาษาพม่าว่า "อยู่ที่พม่าลำบากมาก หาเงินได้คนเดียวแค่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนเดียว ไม่สามารถมีเงินเผื่อลูกเมียได้ แต่อยู่เมืองไทยหาเงินเพียงคนเดียวก็ยังเลี้ยงลูกเมียได้" แม้ยายหม้อจะอยู่เมืองไทยเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ฟังภาษาไทยรู้เรื่องทั้งหมดแต่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ เพราะรู้สึกเคอะเขินที่จะพูด จำเป็นต้องมีลูกสาวทำหน้าที่ล่ามถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดให้คณะสื่อมวลชน
ครูพม่าที่ชื่อ ยายหม้อ มีความรักเด็กๆ เป็นพิเศษ ตัดสินใจเปิดศูนย์เพื่อสอนเด็กเมื่อปี 2549 เริ่มสอนเด็กลูกคนงานพม่า 16 คน 1 เดือนต่อมามีเด็กเข้ามาเรียนเพิ่มทวีจำนวนเป็น 50 คน พ่อจะใช้รถมอเตอร์ไซค์ รถพ่วงมาส่งเด็กทุกเช้า จัดประชุมจิตอาสาเข้ามาดูแลเด็ก ได้รับเงินสนับสนุนจากเงินจากมูลนิธิพัฒนาเอเชีย ขณะนี้ โม บุตรชายคนโต วัย 27 ปี เป็นครูจิตอาสา ไม่ได้รับเงินเดือน บุตรสาว ติน ติน อ่าว (ติ๋ม) วัย 26 ปี บุตรสาว เป็นลูกไม้หล่นใต้ต้น ทำหน้าที่ ครูประจำกลุ่มต่างด้าว ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อ.เมืองระนอง สอนเด็กวัย 9-14 ปี ชั้นประถมปีที่ 3, 4, 5, 6 จำนวน 40 คนด้วยการคละสอน ทุกวันนี้รับเงินเดือนจาก สำนักงาน กศน. จังหวัดระนอง ขณะนี้มีนักเรียนในศูนย์ฯ 145 คน นักเรียนหญิง 70 คน นักเรียนชาย 75 คน มีครูทั้งหมด 7 คน และน้องสาว พิ้ว เป๊บ เพียว อ่าว (นิตยา) วัย 23 ปี ทำหน้าที่เสมียนแพปลา
เด็กที่เริ่มต้นเรียนเมื่ออายุน้อย ฉลาด หัวไว แต่เด็กโตบางคนเรียนได้ช้ากว่าก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 สอบ N-Net พม่าทั่วประเทศ เมื่อเด็กเรียนจบ เลือกเรียนต่อที่ระนองธานี เป็นโรงเรียนพม่าคล้ายๆ กับศูนย์ฯ กศน. หรือจะเลือกเรียนต่อ MEII การศึกษาไทย-พม่า มูลนิธิการศึกษาประกายแสง รวมทั้ง Australia Catholic University (ACU) ให้วุฒิบัตรกับเด็กที่เรียนทางออนไลน์ ขณะนี้ทางอนามัยเข้ามาฉีดวัคซีน พ่นควันกันยุง มีสื่อการเรียนการสอนจาก UNESCO สื่อการสอน มีทีวี TRUE Wifi TRUE มีการ์ตูนให้เด็กอนุบาลดู มีการสอนเด็กเต้นรำ สอนให้ทำกระทง การเรียนการสอนมีการประเมินผลและวัดผลตลอดทั้งปี
"ติ๋มเป็นเด็กพม่าที่ครูไทยที่สอนตั้งแต่อนุบาลตั้งชื่อให้ว่าติ๋ม ติ๋มเป็นเด็กพม่า เรียนในโรงเรียนไทยก็ต้องติวเข้มเหนื่อยกว่าคนอื่น เพราะตอนนั้นติ๋มพูดไทยไม่ได้ ติ๋มเกิดย่างกุ้ง เข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ 2 ขวบ
ติ๋มเลือกเรียนจบ ปวส.เทคนิคระนอง ขณะนี้กำลังเรียนปริญญาตรีธุรกิจทั่วไป มสธ. เป็นการเรียนทางไปรษณีย์ ทุกคนมีสิทธิ์เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ มีเพื่อนติ๋มไปเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติ๋มทำงานที่นี่ไม่มีนายจ้าง เป็นงาน กศน. ติ๋มจัดอยู่ในกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรีอนุญาตให้คนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย อยู่เมืองไทยมากกว่า 10 ปี มีบัตรสีขาว เป็นบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร แต่ใช้แสดงตัว กำลังรอสัญชาติ บัตรนี้กระทรวงมหาดไทยออกให้ หากต้องการมีบัตรประกันสุขภาพต้องซื้อ อายุต่ำกว่า 7 ปี ราคา 365 บาท อายุเกิน 7 ปี ราคา 1,600 บาท ถ้าเป็นตั๋วราคา 2,100 บาท หากเลือกทำงาน มีนายจ้างเข้าสู่หลักประกันสังคม กลุ่มเปราะบาง พม่าก็ไม่ใช่ ไทยก็ไม่ใช่ พูดได้ทั้งพม่าและไทย ซื้อบัตรประกับสุขภาพ แต่ก็มีอีกเหมือนกันที่ไม่ซื้อบัตรประกันสุขภาพเพราะไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ ยังมีคนไทยพลัดถิ่น คนไร้รัฐรอพิสูจน์ 2.4 หมื่นคน ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนเลข 13 หลัก คนที่มีบัตรสีชมพูคือกลุ่มพม่าหลบหนีเข้าเมือง ได้รับการผ่อนผันชั่วคราว คนพม่าที่เกิดในปี 2548-2554 เปิดให้ขึ้นทะเบียนบุคคลที่ไม่มีหลักฐานจากประเทศต้นทาง"
การจัดการเรื่องการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเด็กไม่ได้เรียนก็จะถูกใช้งานอย่างหนัก รวมถึงการขายยาบ้า เป็นการทำงานแบบไม่รู้ตัว จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากถ้าเด็กไม่อยู่ในระบบโรงเรียน เด็กติดเพื่อน ติดเกม ติดเหล้าติดบุหรี่ติดยาเสพติดได้ง่าย แต่ถ้าเด็กรวมกลุ่มกันเรียนหนังสือแสวงหาความรู้ พ่อแม่ก็รู้สึกสบายใจ เด็กปลอดภัยได้รับความรู้อย่างแน่นอน ค่าบำรุงการศึกษา 150 บาท/เดือน เด็กที่นี่จะเอาอาหารกลางวันใส่ปิ่นโตมารับประทาน แต่บางครั้งอาหารที่เด็กเอามาบูด เนื่องจากพ่อแม่ทำไว้ให้ตั้งแต่ตี 3 เพราะต้องออกไปทำงานแพปลา กว่าจะถึงกลางวันอาหารก็บูดเสียก่อน เด็กพอใจที่จะกินอาหารกลางวันที่ครูทำไว้เพราะรู้สึกอร่อยกว่าอาหารที่ตัวเองนำมา
ยายหม้อ ต้องไปแสดงตัว แสดง Border pass ทุก 7 วัน อย่างไรก็ตามถ้าหากศูนย์ฯ มีความลงตัว มีหน่วยงานให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน ขณะนี้ยังมีความเป็นห่วงเนื่องจากเงินช่วยเหลือจาก มูลนิธิพัฒนาเอเชีย จะหมดลงในอีก 1 ปี วอนผู้ใหญ่ใจดีจากองค์กรหยิบยื่นความช่วยเหลือระยะยาว ทุกวันนี้ครูมีรายได้พอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ หากทุกอย่างลงตัวก็อยากจะกลับพม่าเพื่อใช้ชีวิตในบั้นปลายที่แผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน ด้วยความรู้สึกรักและผูกพันกับอองซาน ซูจี ผู้นำหญิงแกร่งแห่งเมียนมา
ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา (จุละจาริตต์) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ วัย 77 ปี อดีตคณบดีหญิงคนแรกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้การดำเนินงานของภาคีแผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กล่าวว่า ชื่นใจมากที่เราทุกคนอยู่กันอย่างมีกัลยาณมิตรต่อกัน ทำงานเป็นบุญกุศล เวลานี้งานไม่ใช่การปิดทองหลังพระ แต่ล้นออกมาจนเต็มองค์พระแล้ว ขอชื่นชมทุกคนที่มีแรงบันดาลใจ สื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ข่าวสาร เป็นกำลังใจให้ทุกคนรวมพลัง อาจารย์เรียนจบแพทย์ตั้งแต่ปี 2506 ผ่านเหตุการณ์สงครามเวียดนาม เข้าไปทำงานในพื้นที่สีชมพู ไม่เห็นคอมมิวนิสต์สักคนเดียว เห็นแต่คนป่วยรอรับพวกเราในถิ่นทุรกันดารมาก ในปี พ.ศ.2510 มีการแย่งชิงพื้นที่ชายแดน จริงๆ แล้วประเทศไทยใครๆ ก็อยากจะเข้ามาอยู่อาศัย เพราะเราเป็นดินแดนของคนที่มีจิตใจสูงส่ง วันนี้เรามาช่วยกันทำบุญกุศลทางด้านการศึกษา ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ ทุกท่านเป็น IDOL ในฐานะของหมอเด็ก ขอขอบคุณแทนหมอเด็กทุกคนด้วย
นพ.ชัยพร สุชาติสุนทร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวว่า พื้นที่ระนองมีเสน่ห์ ไมตรีจิต หลายองค์กรภาคีเครือข่าย รวมทั้งหน่วยงานเอ็นจีโอเข้ามาช่วยเหลือทำงานร่วมกันระหว่างไทย-พม่าอย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ผมเข้ามาทำงานตั้งแต่ปี 2553 บุคลากรทำงานแบกรับปัญหาพื้นที่แนวชายแดน ดูแลรักษาพยาบาลอย่างที่เรียกว่า Innovation เราต้องใช้ทูตสันติเชื่อมมิติทางสังคมในการทลายกำแพงทางภาษา คนพม่าก็อยากจะเป็นคนไทยเพราะเรามีระบบสาธารณสุขที่ดีกว่าประเทศของเขา มีการทำงาน ประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งด้านการศึกษา สังคม สาธารณสุข เราเฝ้าระวังโรคติดต่อในการส่งผู้ป่วย การแลกข้อมูลซึ่งกันและกัน ถ้ารัฐบาลพม่ามีความมั่นคงทางด้านการทหาร
ด.ญ.แยมงเซิง วัย 10 ขวบ เป็นเด็กเรียนเก่ง สอบได้เป็นที่ 1 ของห้องเรียน เธอเล่าว่า สนุกสนานในการเรียนหนังสือ ทำให้รู้ภาษาไทย อังกฤษ และพม่า พ่อแม่ทำงานแพปลา ในช่วงวันหยุดเรียนเธอก็ไปช่วยทำแพปลากับพ่อและแม่ด้วย เปิดเทอมวันแรกวันที่ 15 พ.ค. ครูให้คัดลายมือและเขียนคำอ่านเป็นภาษาไทย สี ดี มี วี ไปพลางๆ เพื่อรอนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่พม่าแล้วยังกลับมาเรียนหนังสือไม่ทันวันแรกของการเปิดเทอม