นานาทัศนะ ชีวิตหลังกำแพง
เรื่อง : ปรภัต จูตระกูล Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบ : นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th / สสส.
นานาทัศนะ : ชีวิตหลังกำแพง
กำแพงสูงตระหง่านและรั้วลวดหนามกั้นโดยรอบ เป็นภาพปรากฎของ “คุก” ในสายตาของคนในสังคม ที่แบ่งแยกระยะห่างที่ชัดเจนระหว่างผู้คนในเรือนจำกับสังคมภายนอก จนทำให้ผู้ใช้ชีวิตหลังกำแพงลืมไปเลยว่าสังคมที่แท้จริงเป็นอย่างไร และเมื่อกลับออกมาอีกครั้งก็ต้องเผชิญกับนานาทัศนะ ที่มองคนหลังกำแพงในด้านติดลบ
ในงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเสวนา “นานาทัศนะต่อคุกไทย: สิ่งที่เห็น กับสิ่งที่ควรจะเป็น” เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตหลังกำแพง ผ่านผู้เคยอาศัยจริงและผู้ที่เฉียดการใช้ชีวิตในเรือนจำ
นานาทัศนะ
“หลายคนมองว่าผู้ที่อยู่ในเรือนจำเป็นคนน่ากลัว มีปัญหา ไม่ควรได้รับโอกาส เห็นได้ชัดจากการประกาศอภัยโทษทำให้สังคมเกิดการแตกตื่น ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่การปล่อยตัว แต่อยู่ที่ทัศนคติของคน” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะของหมอที่เคยอยู่ในเรือนจำ เล่าว่าผู้ที่อยู่ในเรือนจำไม่ต่ำกว่า 80% ไม่สมควรอยู่ในนั้น เป็นผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด แต่ด้วยข้อบังคับของกฎหมายที่ทำให้ไม่มีทางเลือก หรือการตัดสินของศาลซึ่งสามารถตัดสินแบบอื่น เช่น แพทย์บางคนถูกส่งเข้าเรือนจำกว่าครึ่งปีเพียงเพราะจ่ายเช็คเด้ง ซึ่งในความเป็นจริงหากวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมก็ควรจะปรับวิธีการลงโทษ อาจใช้การปรับเป็นจำนวนเงินหรือใช้เทคโนโลยีกำไลอิเล็กทรอนิกส์ และเลือกส่งคนเข้าเรือนจำเฉพาะกรณีที่จำเป็น หรือเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับคนในสังคม
นพ.สุรพงษ์ บอกเล่าปัญหาในเรื่องของการรักษาพยาบาลว่า การใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพที่ติดอยู่กับโรงพยาบาลไม่ได้ถูกนำมาใช้ที่นี่ เพราะขาดกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูล รวมถึงแพทย์ที่เข้ามาทำหน้าที่ตรวจรักษาผู้ที่อยู่ในเรือนจำกลับมีทัศนคติที่ขาดความเมตตาเอื้ออาทร ตรวจแบบห่าง ๆ เช่น การส่องไฟฉายไปยังปากของคนไข้อย่างห่าง ๆ เป็นต้น
ห่วงโซ่ของการทำความผิด
“การที่มีคนเข้าเรือนจำเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา โครงสร้าง และความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้อย่างมีศักดิ์ศรี หลายคนถูกสังคมบีบให้กระทำความผิดจนต้องกลับเข้ามาสู่เรือนจำ” คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ในฐานะของคนทำงานสื่อที่ไปเยี่ยมเพื่อนเรือนจำ อธิบายว่า ความผิดเพียงเล็กน้อยไม่สมควรต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ เพราะมันส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ของสังคม เช่น กรณีที่ผู้ที่เข้าไปเป็นพ่อ ส่งผลให้ขาดหัวหน้าครอบครัว หรือผู้ที่เข้าไปเป็นแม่ จะทำให้ขาดคนเลี้ยงดูลูก แม้สามีที่กระทำความผิดจริงแต่ภรรยาที่อยู่ด้วยขณะเกิดเหตุถูกตัดสินว่าผิดด้วยกัน ส่งผลให้ลูกขาดคนดูแลอบรมสั่งสอน เด็กจะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ กระทบกันเป็นวงจรและอาจเข้าสู่ห่วงโซ่ที่อาจกระทำความผิดตามรอยผู้ปกครอง
สุภิญญา กล่าวเสริมว่า “ไม่ได้หมายความว่าควรปล่อยหรือละเลยผู้กระทำความผิด แต่ในหลายกรณีไม่ควรถูกลงโทษด้วยการจองจำ”
คืนคนดีสู่สังคม
การใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำโดยถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ขาดการเชื่อมต่อหรือบูรณาการ ส่งผลให้เมื่อออกมาสู่โลกกว้างแล้วอาจปรับตัวไม่ได้ รู้สึกเคว้งคว้าง ไม่มีที่ไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ไร้ญาติขาดมิตร สังคมไม่ยอมรับ นับเป็นสิ่งที่โหดร้ายและเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการคืนคนดีสู่สังคมที่ล้มเหลว ทำให้พวกเขากลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง
“หากเราพาคนเข้าเรือนจำเพื่อดัดนิสัยหรืออะไรก็ตาม ต้องทำให้พวกเขาพร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมได้ แต่คนส่วนใหญ่ที่กลับออกมาขาดความพร้อม มันเลยสะท้อนให้เห็นปัญหาในเชิงระบบที่ต้องแก้ไข” ในประเด็นนี้ สุภิญญา เล่าว่า “การที่คนออกมาจากเรือนจำแล้วปรับตัวไม่ได้ ทำให้ฉุกคิดว่า คุกหรือเรือนจำอาจเป็นศูนย์รวมของผู้ที่กระทำความผิดจริง ๆ เพราะขาดกระบวนการที่จะทำให้เขาออกมาใช้ชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีโอกาสที่จะกระทำความผิดแบบเดิมอีก”
อย่ามองคุกเป็นสถานที่ประจาน
“คุณบอกว่า ‘คืนคนดีสู่สังคม’ แต่การปฏิบัติมันไม่ใช่ คุณกดขี่ให้ผู้ต้องขังถูกประณาม ไม่ควรออกมาสู่สังคม ถูกตีตราว่าเป็นนักโทษ” คุณจินตนา แก้วข้าว นักสิทธิมนุษยชนชาวบ้าน ที่เคยอยู่ในเรือนจำเล่าประสบการณ์ว่าสิ่งที่เห็นหลายอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะพฤติกรรมที่ผู้คุมสั่งให้นักโทษนั่งคุกเข่า การลงโทษด้วยการสก็อตจั๊มพ์แบบเหมารวม การส่งตัวคนออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในชุดนักโทษ หรือสภาพของห้องน้ำที่มีเพียงฉากกั้นแค่หน้าอกเมื่อนั่งยอง เป็นต้น
“อย่ามองว่าคุกเป็นสถานที่ที่คนต้องถูกประจาน หลายคนไม่ควรถูกประจานแบบนี้ เพราะมีหลายคนที่ไม่ได้ทำผิดแต่ถูกประจาน ประณามและไม่สามารถกลับมาเป็นคนดีในสังคมได้อีก” จินตนา เล่าต่อว่า ปัญหาที่ยกตัวอย่างไปอาจไม่เหมือนกันในทุกเรือนจำ เพราะแต่ละที่มีการดูแลที่ไม่เหมือนกัน และอย่าคาดหวังให้เรือนจำขนาดเล็กเท่าเทียมกับเรือนจำขนาดใหญ่
ปัญหาของชีวิตหลังกำแพงพูดเท่าไหร่ก็ไม่จบ แต่หากยึดหลักการหรือวิธีคิดของการทำให้ชีวิตคนในเรือนจำไม่ต่างจากชีวิตที่มีความปกติเหมือนข้างนอก ให้บริการตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ เพราะการใช้ชีวิตอยู่รวมกันอย่างแออัดและสภาพแวดล้อมภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัดในเรือนจำก็ถือเป็นการลงโทษที่มากพอ สสส. โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ได้สนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการและส่งเสริมสุขภาพในเรือนจำ และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อปรับเปลี่ยน “คุกไทย” สู่การเป็น “เรือนจำสุขภาวะ”
โครงการเรือนจำสุขภาวะ ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 7 ด้าน ได้แก่ 1. เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง 2. ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ 3. เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการสุขภาพ 4. ผู้ต้องขังมีพลังชีวิตคิดบวกและมีกำลังใจ 5. ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร 6. สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ เป็นลูก หรือเป็นสมาชิกในครอบครัว และ 7. มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม
ไม่ว่าจะมีสถานะทางกฎหมายและทางสังคมอย่างไร แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของประชากรไทย ก็สมควรได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพตามสิทธิหลักประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกันทุกคน