‘นานมีบุ๊คส์’ ชวนทำมะ อ่านหนังสือ สร้างแรงบันดาลใจผ่านตัวอักษร

'นานมีบุ๊คส์' ชวนทำมะ อ่านหนังสือ สร้างแรงบันดาลใจผ่านตัวอักษร

“มันเป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์ ในฐานะผู้ผลิตหนังสือ ที่จะต้องทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสังคมหรือขับเคลื่อนทางความคิดของสังคม เครื่องมือที่สำคัญมาก คือ หนังสือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ความรู้ หรือวรรณกรรม โดยส่วนตัวยอมรับว่าชีวิตเปลี่ยนเพราะหนังสือ”

คิม จงสถิตย์วัฒนาคิม จงสถิตย์วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด แบ่งปันแง่งามของการอ่าน ที่สร้างเธอให้มีมุมคิดในการใช้ชีวิต และมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ในวันนี้

เหล่าวรรณกรรมเล่มโปรด อย่าง “หนึ่งร้อยปี แห่งความโดดเดี่ยว” และหนังสือเล่มน้อยใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงความสนใจไปตามช่วงวัย ค่อยๆ สั่งสมบ่มเพาะจนกลายเป็นคนแบบ “คิม” และในวันที่ต้องมาสานต่อธุรกิจครอบครัวในธุรกิจหนังสือ เธอเชื่อในพลังของพวกมันอยู่แล้ว จึงมีอุดมการณ์อยู่ในส่วนลึก ที่อยากทำหนังสือน้ำดี ให้ข้อมูล รอบด้านทั้งบวกและลบ ให้เด็กได้คิดและตัดสินใจ ด้วยตัวเอง เติมความคิดให้แหลมคม เป็นคนดีและมีความสุข แนวคิดนั้นไม่ได้แตกต่างจากแม่ของเธอ “สุวดี จงสถิตย์วัฒนา” ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ นานมี บุ๊คส์ เราจึงเห็นความชัดเจนของนานมีบุ๊คส์ตลอด 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ในบทบาทของสื่อสร้างสรรค์ มีจุดยืนที่จะผลิตหนังสือดีป้อนตลาด พวกเขา เริ่มจากการผลิตหนังสือแปลแนวความรู้ ก่อนขยาย สู่ความหลากหลาย ทั้งแนวบันเทิงคดี สารคดี และความรู้สำหรับเยาวชน

จนมีสำนักพิมพ์ย่อย 7 สำนักพิมพ์ ผลิตนิตยสารสำหรับเยาวชนอีก 2 ฉบับ คือ เล่มโปรด และ go genius พร้อมเป็นผู้นำเข้า สื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งสื่อปฐมวัย สื่อวิทยาศาสตร์ และ สื่อคณิตศาสตร์ ในวันนี้

“สำหรับนานมีบุ๊คส์ เราจะแบ่งการดำเนินธุรกิจ ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกแน่นอนว่าในฐานะที่เราเป็นธุรกิจหนังสือ เราจะต้องขายให้ได้เพื่อความอยู่รอด กับอีกส่วนหนึ่ง คือเราทำโครงการที่ไม่ได้ มุ่งแสวงหาผลกำไรเพื่อสังคม”

ทายาทนานมีบุ๊คส์บอกความชัดเจนของพวกเขา เราจึงได้เห็นโครงการมากมาย อย่างการทำกิจกรรมเสริมความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนครูด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และครูบรรณารักษ์ อย่างต่อเนื่อง จนได้รับความสนใจ และเข้าร่วมจากโรงเรียนและเยาวชน จำนวนมาก รวมถึงการนำพาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสังคม

'นานมีบุ๊คส์' ชวนทำมะ อ่านหนังสือ สร้างแรงบันดาลใจผ่านตัวอักษรเช่นเดียวกับการเข้าร่วมโครงการ “ทำ-มะ 2600 ปี แห่งการตื่น 26 วันเปลี่ยนชีวิต” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับหอจดหมายเหตุ พุทธทาสฯ และ 24 องค์กร ช่วยกันจัดขึ้น เพื่อฉลองวาระพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

โดยนานมีบุ๊คส์ได้นำเสนอโครงการ “ธรรมะ ทำมะ 2600 ปี แห่งการตื่น 26 วัน เปลี่ยนชีวิต” นานมีบุ๊คส์รีดดิ้งคลับ รวมพลังคนไทยอ่านหนังสือให้ได้ อย่างน้อยวันละ 26 นาที เป็นเวลา 26 วัน ออกปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ วันวิสาขบูชาโลก 4 มิถุนายน ไปจนถึงสิ้นเดือน รวมเวลา 26 วัน เปิดช่องทางร่วมกิจกรรมทั้งทางเว็บไซต์ www.tumma.com แอพพลิเคชั่น tum-ma หรือสมุดบันทึกรักการอ่าน แม้แต่การตั้งปณิธานด้วยตัวเองก็สามารถทำได้

“คิดว่าการทำดีมีหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ การอ่านหนังสือ ที่บอกว่าชนะใจตนเอง เพราะ เป็นที่ทราบดีว่าคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ บางคน ก็บอกว่าไม่มีเวลา หรือไม่ชอบอ่าน จึงคิดว่านี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรักการอ่าน”

โครงการที่พูดถึง เป็นส่วนต่อขยายของ “นานมีบุ๊คส์รีดดิ้งคลับ” โครงการส่งเสริมการอ่าน ที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง 12 ปี มีสมาชิกอยู่ประมาณ 2 ล้านคนทั่วประเทศ ภารกิจนานมีบุ๊คส์ ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ในปีนี้ ยังเดินหน้าโครงการ รวมพลังคนไทย 20 ล้านคน อ่านหนังสืออย่างน้อยคนละ 20 นาทีต่อวัน เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จ- พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และฉลอง 20 ปีนานมีบุ๊คส์” เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยเตรียมตัวให้ทันก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

'นานมีบุ๊คส์' ชวนทำมะ อ่านหนังสือ สร้างแรงบันดาลใจผ่านตัวอักษรหลายครั้งการกระตุ้นให้เด็กไทยรักการอ่าน ไม่ได้ทำอย่างเดียวดาย ยังมีเพื่อนพ้องในวงการ มาร่วมด้วยช่วยกัน อย่างการร่วมกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กและ 6 สำนักพิมพ์ คัดสรรหนังสือดีเข้าร่วมโครงการ “รวมพลังสำนักพิมพ์ไทย วรรณกรรมดี เพื่อ 10 ปี มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก” เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยหันมารักการอ่าน ผ่านความรับผิดชอบ ของผู้ผลิตหนังสืออย่างพวกเขา

การกระตุ้นให้เด็กอ่านหนังสือ ผ่านโครงการต่างๆ ของนานมีบุ๊คส์ ทำควบคู่ไปกับการผลิตหนังสือดี ที่อยู่รอดในเชิงธุรกิจ โดยสร้างพนักงานจิตอาสา มาเป็นกองกำลังสำคัญของพวกเขา

“นานมีบุ๊คส์ อาจไม่ได้เป็นบริษัทที่ใหญ่ แต่เราพยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การทำงานเพื่อสร้างความตระหนักในสังคม เพราะฉะนั้นเวลาออกบูธ ก็จะเห็นว่าพนักงาน แผนกต่างๆ อย่าง ฝ่ายจัดส่ง หรือฝ่ายบัญชี จะมา ช่วยขายด้วย เพื่อให้เขาจะได้สัมผัสด้วยตัวเองว่า เวลาเด็กมาซื้อหนังสือของเราไปแล้วมีความเปลี่ยนแปลง อย่างไร ให้เขารู้สึก ชื่นใจและภาคภูมิใจ กลับมาเป็นพลังต่อยอดในการทำงานต่อไปได้”

การทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสังคม จะยั่งยืนได้ ต้องอยู่ที่ความเชื่อและเอาจริงเอาจังของผู้บริหาร สำหรับ คิม ประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา บ่มเพาะ มุมคิดเพื่อสังคมไม่น้อย

'นานมีบุ๊คส์' ชวนทำมะ อ่านหนังสือ สร้างแรงบันดาลใจผ่านตัวอักษรขณะที่กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอได้ร่วมกับเพื่อนๆ ก่อตั้งชมรม world service team เพื่อหาความหมายให้กับชีวิต ด้วยการ ทำประโยชน์ให้กับสังคม พวกเขาก่อตั้งชมรมค่ายอาสา สำหรับประเทศโลกที่สาม เพื่อเรี่ยไรเงินระหว่าง ปีการศึกษาไปช่วยเหลือสังคมในประเทศเหล่านั้น

เธอยอมรับว่า เคยเข้าใจผิดว่า คนที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้คือเอ็นจีโอเท่านั้น แต่เมื่อได้มาทำธุรกิจหนังสือ ทำให้เธอเข้าใจว่า แม้การทำธุรกิจ ก็สามารถสร้างประโยชน์และเปลี่ยนแปลงสังคมได้

“ถึงแม้เราทำธุรกิจ แต่เป็นธุรกิจทางปัญญา สินค้าของเราสามารถเปลี่ยนแปลงความคิด ของคนในสังคมได้ มีพลังไม่แพ้องค์กรอื่นๆ ถึงแม้ เราค้าขาย แต่เราขายหนังสือ บางคนบอกว่าขอบริจาคได้ไหม เราบอกว่าไม่ได้ เพราะเราต้องขายเพื่อนำเงินนั้นมาผลิตหนังสือดีๆ และทำโครงการดีๆ เพื่อสังคมต่อไป”

ภารกิจยิ่งใหญ่ ของการเปลี่ยนอนาคตเด็กไทย ด้วยหนังสือ ตอบอุดมการณ์ธุรกิจน้ำดีที่ชื่อ..นานมีบุ๊คส์

                   

เรื่อง: จีราวัฒน์ คงแก้ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ