นาฏศิลป์ สร้างสุข
ที่มา : ข่าวสด
ภาพประกอบจาก เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์
แม้เป็นโรงเรียนวัด แต่โรงเรียนวัดสระแก้ว (รุ่งโรจน์ธนกุลอุปถัมภ์) ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง อยู่ภายใต้การอุดหนุนของวัดสระแก้ว รับอุปการะดูแลเด็กกำพร้า ฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษามาช้านาน
ปัจจุบันมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประมาณ 1,700 คน เป็นนักเรียนในพื้นที่ร้อยละ 20 ที่เหลืออีกร้อยละ 80 มาจากต่างถิ่น ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาที่ส่งบุตรหลานมาพักอยู่ประจำในโรงเรียน
จากแนวคิดในการใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนฝึกซ้อมรำไทยของเยาวชนกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน เพื่อนำไปแสดงในงานของโรงเรียน ได้พัฒนามาเป็นโครงการ "จิตอาสาศิลป์สร้างสุข" หนึ่งใน "กิจกรรมสร้างสรรค์ แบ่งปันสุขภาวะที่ดีสู่เด็กและเยาวชนจังหวัดอ่างทอง" ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนรวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า เสริมสร้างทักษะการเข้าสังคม สร้างความสุขให้แก่ผู้ชมในวาระต่างๆ ขณะเดียวกันก็ยังช่วยสืบสานวัฒนธรรมผ่านการแสดงนาฏศิลป์ไปด้วย
นางสาวนลิน มีสวัสดิวงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หัวหน้าโครงการ เล่าว่า ในโรงเรียนมีเด็กกว่าร้อยละ 80 อยู่หอพัก เวลาว่างหลังเลิกเรียนจึงคิดหากิจกรรมให้รุ่นน้องได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จึงรวมกลุ่มแกนนำ 5 คน โดยมีครูนาฏศิลป์ในโรงเรียนมาสอน จากนั้นแกนนำก็นำความรู้พื้นฐานไปฝึกหัดให้กับสมาชิกอีกทอด ปัจจุบันมีน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 50 คน
การได้ทำกิจกรรมช่วยสร้างความมั่นใจในการแสดงออก แต่เมื่อได้รับการฝึกฝน มีความสามารถในด้านการแสดงนาฏศิลป์ ได้ออกไปแสดงในงานต่างๆ ช่วยเพิ่มโอกาสให้ตนเองและรุ่นน้องที่ร่วมกิจกรรม และยังเป็นผลงานที่นำไปใช้ในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย
ด้าน เด็กหญิงสุพิดชญา บรรเลง แกนนำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าเสริมว่า แกนนำแต่ละคนจะแบ่งหน้าที่เป็นกลุ่ม สอนรุ่นน้องทุกเย็นหลังเลิกเรียน เมื่อฝึกฝนจนสามารถแสดงได้แล้วก็จะมีกิจกรรมไม่ขาดสาย ทั้งการต้อนรับแขกที่มาทำบุญในวัดสระแก้ว มาเลี้ยงข้าวนักเรียน หรือมาบริจาคเงิน เพื่อเป็นการต้อนรับและขอบคุณผู้มาทำบุญในวัด รวมทั้งการเดินทางไปแสดงนอกโรงเรียน
"พวกเรามีความสุขที่ได้มารำ ได้ไปออกงานในชุมชน เราไม่ได้หวังเรื่องเงินไม่ได้เรียกร้อง แค่หวังว่าเขาจะประทับใจเรา ได้รับความบันเทิง ความสนุกสนาน ขณะที่ตัวเองได้รู้ตัวเองว่าถนัดด้านไหน ได้แสดงความสามารถด้านการรำ โดยส่วนตัวก็ร้องและเล่นลิเกได้ เพราะฝึกลิเกมาตั้งแต่เด็กๆ ก็ได้ใช้ในการแสดงตามงานต่างๆ ด้วย"สุพิดชญากล่าว
ขณะที่ นายศิริพงษ์ กรุธไทย ครูที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า เดิมเคยเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนวัดสระแก้ว เคยเล่นลิเกของคณะโรงเรียน มีความรู้พื้นฐานด้านนาฏศิลป์อยู่บ้าง จึงช่วยสนับสนุนเมื่อเด็กมาขอคำปรึกษา โดยมี ครูอุบลวรรณ กรุธไทย ซึ่งเรียนด้านนาฏศิลป์ เข้ามาช่วยด้านการฝึกสอน
"กิจกรรมนาฏศิลป์มาจากพื้นฐานความรู้เดิม เป็นความรักด้านนี้ของผมเอง ก็เริ่มออกแบบกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ให้เด็กนักเรียนได้ทำ ตอนแรกไม่ได้รับความสนใจเพราะวัฒนธรรมต่างกัน ส่วนใหญ่เด็กที่นี่เป็นชาวเขา จะฝึกร้องลิเกก็ไม่ได้เพราะออกเสียงไม่ชัด ต้องมาทางการแสดง การรำ อาศัยเด็กในท้องถิ่นที่เป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนชักชวนกันมา จนรวมกลุ่มกันได้" ครูศิริพงษ์กล่าว
จากจุดเริ่มต้นกิจกรรมในรั้วโรงเรียนของกลุ่มเยาวชนเพื่อตอบแทนน้ำใจแก่ผู้มีอุปการคุณ ช่วยสร้างโอกาสให้นักเรียนที่ยากไร้จากดอยสูง แม้จะมีวัฒนธรรมแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนทำให้เยาวชนค้นพบศักยภาพในตัวเอง ที่สามารถขยายความสุขและรอยยิ้มไปสู่สังคมภายนอก พร้อมๆ กับสืบสานการแสดงนาฏศิลป์ไทยในเวลาเดียวกัน