นับวันยิ่งดุมากขึ้น ‘โรคไต’ ‘ภัยเงียบ’ ที่ต้องกลัว
“มีคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 17 ล้านคน หรือ 16% ของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี จากข้อมูลในปี 2551 มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายราว 31,496 ราย หรือประมาณ 500 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่ง การดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ต่อครั้งประมาณ 1,500-2,000 บาท ต้องรักษาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เดือนหนึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท ปีละประมาณ 200,000 กว่าบาทต่อคน”…นี่เป็นสถาน การณ์ “โรคไต” ในไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีนัยสำคัญที่มิอาจมองข้าม การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไต…สำคัญ!!โดยเฉพาะการป้องกันยิ่งต้องให้ความสำคัญมาก
ทั้งนี้ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ระบุถึงเรื่องโรคไตว่า… โรคไตเรื้อรังนั้นถือว่าเป็น ‘ภัยเงียบ’ อย่างหนึ่ง เพราะกว่าร่างกายจะมีอาการเตือนของโรคไตส่วนใหญ่ไตก็จะเสียไปประมาณ 70% แล้ว เป็นมากแล้วถึงจะเริ่มมีอาการ ในระยะเริ่มต้นที่ไตจาก 100% ลงมาเหลือ 30% บางคนไม่มีอาการ ‘บางคนไตหายไปข้างหนึ่งแล้วยังไม่มีอาการเลย!!’
โรคไตเรื้อรังเป็นภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายถาวร ไตค่อยๆ ฝ่อเล็กลง แม้อาการจะสงบ แต่ไตจะค่อยๆ เสื่อม และเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นโรคไตสูงนั้น กลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวานถือเป็นอันดับต้น รองลงมาก็คนที่เป็นความดันโลหิตสูง เป็นโรคหัวใจ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไต และคนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ซึ่งใน 5 กลุ่มเสี่ยงนี้ควรตรวจคัดกรองหาโรคไตประมาณปีละ 1 ครั้ง
“แต่คนที่ไม่ได้อยู่ใน 5 กลุ่มเสี่ยงก็มีโอกาสเป็นโรคไตได้ แล้วต้องทำยังไงให้ห่างไกลโรคไต ก็ต้องทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี ไม่ทานเค็ม อย่าทานหวานมากเพราะถ้าทานหวานมากน้ำหนักจะเยอะ พอน้ำหนักเยอะก็อาจจะเป็นโรคได้ ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำมากๆ วันละ 6-8 แก้วเป็นอย่างต่ำ”
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ให้ความรู้อีกว่า…สำหรับการสังเกตอาการเตือนว่าจะเป็นโรคไตหรือไม่นั้น มีวิธีสังเกตเบื้องต้น อาทิ มีอาการบวมโดยเฉพาะ บวมที่หน้า บวมที่ตา พอตอนสายๆ จะบวมที่ขา พอตื่นเช้าขาหายบวม มาบวมที่ตาก่อน นี่เป็นลักษณะการบวมจากโรคไต คนที่ ปัสสาวะมีฟองมากกว่าปกติ เช่น ปัสสาวะลงโถไป 1 นาทีแล้วฟองยังไม่หาย อย่างนี้น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคไต หรือบางคน ปัสสาวะสีเปลี่ยน เป็นสีชา สีแดง สีน้ำล้างเนื้อ หรือสีขุ่นผิดปกติ นี่ก็อาจจะมีโรคไตซ้อนอยู่ หรือบางคนก็มี ผมร่วง คันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ และอาการที่ไม่จำเพาะก็จะมีอาการ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อันนี้ก็อาจเป็นอาการของโรคไต
การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายนั้น มีอยู่ 3 วิธี คือ 1. ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ที่เราเรียกว่าล้างไต 2. ล้างไตทางช่องท้อง ผู้ป่วยทำเองที่บ้านได้ ส่วนวิธีรักษาที่ดีที่สุดก็คือ 3. ผ่าตัดปลูกถ่ายไต
“การดูแลป้องกันในระยะเริ่มต้นนั้นสำคัญ เป็นการป้องกันโรคไตที่ดีที่สุด ถ้ารักษาหรือชะลอการเสื่อมระยะเบื้องต้นจะชะลอได้ 5-10 ปี แต่ถ้าไปชะลอในระยะท้ายๆ จะไม่ค่อยได้ผล เพราะฉะนั้นประชาชนต้องตื่นตัว ต้องปฏิบัติตัวให้ดี ดูแลตัวเองให้สม่ำเสมอ ไม่ให้เกิดโรคไต”…ผศ.นพ.สุรศักดิ์ ระบุ
ขณะที่ ศ.นพ.ดุสิต ล้ำเลิศกุล นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย บอกว่า… สำหรับสมาคมโรคไต คือสมาคมวิชาการ เริ่มแรกเป็นการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมความรู้ในหมู่สมาชิกแพทย์ อาจารย์แพทย์ แพทย์ต่างจังหวัด แพทย์ประจำบ้าน นักเรียนแพทย์ ให้มีความรู้เกี่ยวกับโรคไต แต่ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหน้าที่ของสมาคมฯ จึงไม่เพียงทำแต่เรื่องวิชาการแล้ว แต่ยังได้ส่งเสริมการบริการทางการแพทย์ให้ทั่วถึงมากขึ้น ส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงการรักษา คือทั้งให้ความรู้ด้านวิชาการ บริการ ป้องกัน
ด้าน พญ.ธนันดา ตระการวนิช อนุกรรมการป้องกันไตวายเรื้อรัง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เสริมว่า…ในส่วนของคณะอนุกรรมการฯ ก็เน้นที่การให้ความรู้การป้องกันโรคไต แนะนำเรื่องอาหาร การปฏิบัติตัว กิจวัตรประจำวัน และการกินยา ทั้งยาที่ควรกินและควรเลี่ยง โดยวิธีป้องกันและชะลอความเสื่อมของไตคือ ลดทานเค็มเพื่อไม่ให้ไตทำงานหนัก จำกัดอาหารโปรตีนในคนไข้ที่ไตเสื่อมเพื่อให้ไตเสื่อมช้าลง ยาที่ควรเลี่ยงไม่ทานประจำก็พวกยาแก้ปวด ยาสมุนไพรบางอย่าง ยาบำรุงไตก็ไม่ควรซื้อกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ การออกกำลังกาย ปรับวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ ก็ชะลอการเสื่อมของไตได้ และควรตรวจคัดกรองโรคไตปีละ 1 ครั้ง
ทั้งนี้ กับเรื่องของ “โรคไต” นี้ ในวันที่ 6 มี.ค. 2554 หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดงานเนื่องในวันไตโลก บริเวณหอนาฬิกา สวนสาธารณะ สวนจตุจักร ซึ่งในงานก็จะมีกิจกรรมมากมาย อาทิ บริจาคไตถวายเป็นพระราชกุศล ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไต แนะนำวิธีป้องกันโรคไต ตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองสุขภาพไตฟรี ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการให้คำแนะนำคนที่ป่วยเป็นโรคไตเรื่องสิทธิการรักษา และขั้นตอนการขอสิทธิการรักษาด้วย
‘โรคไต’ คืออีกหนึ่ง ‘ภัยสุขภาพ’ ที่เป็น ‘ภัยเงียบ’ ทางที่ดี ‘ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า’ อย่าประมาท!!
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์