นักเล่าความสุข ปี 2 สร้างพลังใจคลายทุกข์จากโควิด

ที่มา : ไทยโพสต์


ภาพประกอบจาก สสส.


นักเล่าความสุข ปี 2 สร้างพลังใจคลายทุกข์จากโควิด thaihealth


ความสุขเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยหาทางคลายความเครียดจากวิกฤตโควิด ซึ่งคนทุกเพศทุกวัย ทุกวงการได้รับผลกระทบ นับเป็นแง่มุมที่น่าสนใจ คือ ไวรัสเป็นตัวการทำลายความสุข หรือว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ต่างหากที่ใช้ชีวิตด้วยความเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของการทุกข์กายทุกข์ใจ และนี่เป็นที่มาของกิจกรรม "ค่ายนักเล่าความสุข"ปีที่ 2 ชูแนวคิด "วันแบ่งปันความสุข" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นิตยสารสารคดี และมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เมื่อวันก่อน ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วย ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า กิจกรรม "ค่ายนักเล่าความสุข" อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารเพื่อสุขภาวะ : ค่ายสารคดีและค่ายนักเล่าความสุข ซึ่งนักเล่าความสุขจะถ่ายทอดประสบการณ์หรือเรื่องราวดีในชีวิตประจำวันมาเล่า พร้อมภาพถ่ายที่มีความหมาย ผลิตในรูปแบบสารคดี ซึ่ง สสส.ร่วมมือกับนิตยสารสารคดี ปีนี้มีผู้สมัครกว่า 1,000 คนจากทั่วประเทศ เกิดผลงาน 300 ชิ้น ก่อนคัดเลือกตกผลึกได้ 50 ผลงาน เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ของนิตยสารสารคดีและนิตยสารฉบับพิเศษต่อไป


นักเล่าความสุข ปี 2 สร้างพลังใจคลายทุกข์จากโควิด thaihealth


"กิจกรรมนี้ช่วยพัฒนาศักยภาพของคนเป็นนักเล่าส่งเสริมสุขภาวะได้ ซึ่งโฟกัสที่กลุ่มเด็กและเยาวชน ประเด็นที่หยิบมาเล่าส่วนหนึ่งจากสถานการณ์โควิด ทุกคนกระทบหมด ประสบการณ์นี้ไม่อยากให้ผ่านเลยไป นักเล่าหยิบมาสื่อสารผ่านงานเขียน สร้างแรงบันดาลใจ ให้ความหวัง พลังของชุมชน และจิตอาสา เรื่องเล่ามีพลัง มีอรรถรส และช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ด้วย เราอยากเห็นคนที่มีแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศน์สื่อสุขภาวะให้เข้มแข็ง แม้ค่ายจบแล้ว กลุ่มนักเล่า จะส่งต่อความแนวคิดแบ่งปันความสุข เพราะทุกเรื่องในชีวิตประจำวันหากไตร่ตรองด้วยสติและเล่าออกมาล้วนมีประโยชน์" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว


นักเล่าความสุข ปี 2 สร้างพลังใจคลายทุกข์จากโควิด thaihealth

          


สำหรับค่ายนักเล่าความสุข จุดเด่นจัดอบรมเยาวชนนักสื่อสารสุขภาวะกับกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี เรียนรู้ทักษะการเล่าเรื่อง การเขียน และถ่ายภาพผ่านสื่อออนไลน์ ให้สามารถสร้างสรรค์เรื่องเล่า "ความสุข" เผยแพร่สู่สังคม


นายสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บก.บห.นิตยสารสารคดี กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด ปีที่ 2 จึงปรับรูปแบบ เปิดรับต้นฉบับออนไลน์เป็นครั้งแรก ชวนผู้สนใจเป็นนักเขียนและเพิ่มทักษะการเขียน ติวออนไลน์ ควบคู่การเรียนรู้เรื่องความสุข เพราะเป็นประเด็นสำคัญ โลกยุคใหม่คนในสังคมไทยเผชิญความเครียด เผชิญสถานการณ์โควิด กระบวนการของค่ายนักเล่าความสุข ช่วยให้คนค้นพบความสุขจากสิ่งใกล้ตัว ไม่ใช่แลกด้วยเงิน


ส่วนกิจกรรมวัน "แบ่งปันความสุข" ได้รวบรวมและจัดแสดงผลงานจาก "ค่ายนักเล่าความสุข" รุ่น 1-2 พร้อมเวทีเสวนาแชร์มุมมองจากนักเล่ารุ่นแรก ภายในงานมีกิจกรรมสำรวจความสุขของตัวเอง ชวน คุณจุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง ศิลปิน นักแต่งเพลง ผู้สร้างแรงบันดาลใจผ่านตัวหนังสือ และมะขวัญ-วิภาดา แหวนเพชร นักเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Low Season สุขสันต์วันโสด และอาจารย์ "วิชาทักษะแห่งความสุข" สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดโลกทัศน์ ให้ผู้ร่วมกิจกรรม


"สำหรับ 50 ผลงานเรื่องเล่าความสุขของตนเองจากการออกกำลังกาย การทำงานศิลปะ บางคนเล่าประสบการณ์ความสุขจากการสัมผัสธรรมชาติ ช่วยฟื้นฟูจิตใจจากความเครียด นักเรียนนักศึกษาเขียนมาเยอะ และอีกหัวข้อที่พบมากเรื่องความสุขในการเปลี่ยนแปลง การสูญเสีย พลัดพรากจากกันให้อะไรกับชีวิต หรือแม้แต่การเรียนรู้ความสุขจากภายในใจ ถือเป็นประเด็นความสุขในมิติต่างๆ เปิดสู่สังคม" นายสุวัฒน์ เผยคุณค่าผลงานเติมเต็มสื่อดี


ในโลกยุคดิจิทัลที่ใครๆ ก็เป็นนักเขียน นักเล่าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ บก.บห.นิตยสารสารคดี บอกว่า สังคมยังขาดเรื่องเล่าความสุข อยากชวนให้มาสื่อสารมุมมองความสุข เพราะผู้เล่าได้ทบทวนความสำคัญ เรียนรู้ ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง เป็นเครื่องมือเยียวยาตนเอง ส่วนผู้อ่านได้เปิดมุมมองแห่งความสุข หลุดจากกรอบความสุข ผ่านงานเขียนที่สื่อสารมุมมองความสุขที่แท้จริง นักเล่าที่ผ่านค่ายตลอดสองปี และร่วมแชร์ในกิจกรรมวันแบ่งปันความสุขครั้งนี้ จะเกิดพลังก้าวต่อไปเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ ค้นหาเรื่องเล่าใหม่ๆ เขียนเผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ หากโควิดคลี่คลายมั่นใจว่ากระบวนการสร้างนักเล่าความสุขปีต่อไปจะเข้มข้นยิ่งขึ้น พัฒนาสู่การเล่าเรื่องความสุขของคนอื่นด้วยการเขียน ของขวัญคนทำสารคดี เป็นการลงพื้นที่เรียนรู้คนอื่นและเรียนรู้ตัวเอง


หนึ่งในนักเล่าความสุข บุญขนิษฐ์ วรวุฒิ ซึ่งร่วมกิจกรรมวันแบ่งปันความสุข บอกว่า ชอบเขียน ถอดความรู้สึกตัวเองออกมา ผลงานเสนอเรื่องการทำจิตอาสาศิลปะกับเด็กที่ป่วยโรคเลือด ซึ่งช่วงสองปีนั้นอาการโรคซึมเศร้าแทบหายไปเลย ตอนสมัครทำอาสา ตั้งใจมาให้ความสุขกับเด็ก ประดิษฐ์ของเล่น DIY จากวัสดุเหลือใช้ แต่ความสุขนั้นกลับมาถึงเรา เนื้อหาสื่อของขวัญในชีวิตไม่ต้องแพง ใหญ่โต แต่แค่นึกถึงก็ยิ้มในใจ ฝากติดตามผลงานของเพื่อนๆ นักเล่าความสุขปีนี้ มั่นใจจะจุดประกายความคิดให้คนลงมือทำสร้างสังคมที่ดี

Shares:
QR Code :
QR Code