นักศึกษาสร้างสรรค์ผลงานใช้สื่ออย่างปลอดภัย

ที่มา : เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล


ภาพประกอบจากเว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล


นักศึกษาสร้างสรรค์ผลงานใช้สื่ออย่างปลอดภัย thaihealth


อาณกร ตันสุริยวงศ์ นักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ เอกลูกค้าสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร จากผลงาน “INFLUFAILURE” สื่อสารในประเด็นการใช้สื่อ social media อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยการเลือกรับสื่อ social media อย่างมีวิจารณญาณของวัยรุ่นในการเสพสื่อจากสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน


แนวทางการสร้างสรรค์สื่อ


กลุ่มเราทำในหัวข้อของสื่อสร้างสรรค์ โดยมีชื่อผลงานว่า INFLUFAILURE เกิดจากที่ปัจจุบันมีการเกิดขึ้นของ Influencer เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น Blogger Youtuber เป็นผู้นำทางความคิดที่เกิดขึ้นใหม่ที่ชักจูงแฟนคลับให้เชื่อในสิ่งที่เขาพูดได้ ในขณะที่มีทั้งดีและแย่ ในปัจจุบันแค่มีกล้องกับคอมพิวเตอร์ก็สามารถเป็นได้แล้ว การเกิดขึ้นก็จะมีทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ


โดยวิธีการทำงานของเราทำเพื่อที่จะทำการทดลองเชิงสังคม โดยสร้าง Twitter (https://twitter.com/influfailure) ขึ้นมา 2 Account ที่เลือก Twitter เพราะว่าวัยรุ่นให้ความสนใจมาก เป็นช่องทางที่วัยรุ่นใช้อย่างแพร่หลายและส่งต่ออย่างรวดเร็ว ใน Account แรกวางคาแรกเตอร์ให้ตรงกับสิ่งที่หวังที่วัยรุ่นชื่นชอบ แสดงความคิดเห็นต่อข่าวที่มีกระแสสังคมเข้ามา ด้วยคำพูดที่ตรง ๆ เน้นอารมณ์ เน้นถ้อยคำที่จิกกัด รวดเร็ว เสียดสี ใส่ความคิดเห็นของตัวเอง ส่วนอีก Account จะเป็นฝั่งที่แสดงความคิดเห็นด้วยเหตุผลและใช้ข้อเท็จจริงในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งผลที่ออกมาคือยอดคนเห็นและทวีตทั้งหมด ในเวลา 3 เดือน ทวิตเตอร์ที่ใช้เหตุผลในการพูดมีคนเห็น 20,000 กว่าคน ส่วนทวิตเตอร์ที่ใช้ข้อความเสียดสีมีคนเห็นถึง 200,000 กว่าคน ซึ่งเป็น 10 เท่าของอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้รับสารขาดการใช้วิจารณญาณในการรับสาร ยอดตัวเลขที่ได้มาจากการทดลองเป็นยอดจริง และมีอีกผลงานที่เราทำออกมา เป็นผลงานที่มีข้อความสีแดงและสีฟ้าที่วางทับซ้อนกัน โดยเรามีประเด็นสังคมที่เป็น ตัวอย่างให้เขาอ่าน แล้วตัดสินใจเลือกว่าทวิตเตอร์เอหรือทวิตเตอร์บี ที่เหมาะจะเป็น Influencer ของเขา และจะมีแผ่นพลาสติกสีน้ำเงินและสีแดงวางอยู่ให้เลือกตามนั้น เขาก็จะเห็นผลของการเลือกที่จะเชื่อ Influencer เหล่านั้น นี่ก็คือ ผลงานที่จะตั้งที่นี่


ส่วนที่ทำเพิ่มเติมในทวิตเตอร์ที่เราเคยใช้ทดลอง เราก็ลองทวีตเพิ่มเติมเนื้อหาและเปลี่ยนชื่อ Account ให้เป็นคำว่า Influencer และเพิ่มข้อมูลลงไปใน ออนไลน์ คอนเทนท์จะเป็นเรื่อง เช่น การเถียงกันหรือกระแสดาราต่าง ๆ เป็นกระแสที่มาแรงในตอนนั้น และแฮชแท็กให้คนอื่นเข้ามาเห็น ทำในเวลาที่รวดเร็ว เพื่อให้คนได้เข้าถึงรวดเร็ว คอนเทนท์ที่เด่น ๆ ก็เช่นเรื่องของโป๊บ ที่มีข่าวกับผู้หญิง มียอดรีทวีตเยอะที่สุด สิ่งที่ทำให้เราตกใจและทำให้เรามีความสุข เพราะเราทำไปสักพักกระแสเริ่มซาลงแล้ว เรากลับมาเก็บตัวเลข ทวีตที่เราเคยโต้ตอบกับคน แล้วเขากลับไปลบออก เหมือนกับมันเกิด effect กับสังคมจริง ๆ ว่าเขาเกิดฉุกคิดได้ว่าเขาควรลบข้อความนั้นออก


สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการ


สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือการพัฒนาตัวเอง พอเราได้มาทำในหัวข้อนี้ เราก็ต้องคิดวิเคราะห์มากขึ้น เพราะงานดีต้องจับประเด็นสังคมและตอบกลับอย่างรวดเร็ว ทำให้เราได้ฝึกคิด วิเคราะห์ และมีตรรกะที่ดีขึ้น ได้พัฒนาภูมิคุ้มกันของตัวเองด้วย


ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ


ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้ในเรื่องของการเรียนคือเราเรียนในสายของนิเทศศาสตร์ ทำให้เราจะคลุกคลีกับสื่อมากขึ้น และเข้าใจในหน้าที่ของสื่อในช่องทางต่าง ๆ มากขึ้น ว่าสามารถทำหน้าที่ได้อย่างไร ถ้าเราเข้าใจทุกแพลตฟอร์มจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของทุกแพลตฟอร์มได้มากขึ้น ประโยชน์ที่ได้จากโครงการ UNC ที่จะติดตัวเราไปก็คือเรื่องของทักษะการทำงาน เพราะเป็นกระบวนการงานกลุ่ม ทักษะการสื่อสาร รู้จักหน้าที่ การควบคุมงาน สามารถนำไปใช้ในตอนทำงานในอนาคตได้ต่อไป


สิ่งที่ทำแล้วรู้สึกว่าเกินความคาดหมาย คือการตอบรับของคนทั่วไปกับงานของเรา เราเริ่มจากศูนย์ และกลายเป็นว่าพอทำงานแล้วมีคนมาติดตามเราเยอะ แล้วเขาสามารถตระหนักได้ ก็เลยรู้สึกว่าเกินความคาดหมาย


อยากจะฝากว่าตอนนี้เรามีกล้องและคอมพิวเตอร์ใครก็สามารถสร้างคอนเทนท์ได้ อยากจะให้คิดถึงสิ่งที่เรากำลังจะส่งสื่อออกไป ถ้าเราจะสร้างคอนเทนท์แย่ออกไปก็จะทำให้สังคมแย่ลง อยากให้ทุกคนมีจรรยาบรรณและใช้วิจารณญาณในการทำสื่อ เพราะเดี๋ยวนี้ผู้คนที่เสพสื่อเขาไว้ใจเราทุกอย่าง ตัวช่วยในการตัดสินใจเขาน้อยลง เราควรเป็นตัวกรองที่ดีให้ผู้รับสาร


ผลงานสร้างสรรค์สื่อสะท้อนปัญหาสังคม ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่ ปี 5 (ปี 2561) ดำเนินงานโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย องค์กรภาคี ภาคประชาสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

Shares:
QR Code :
QR Code