นักวิทย์น้อย ‘อมก๋อยวิทยาคม’ ร่วมสร้างสุขภาพ เพิ่มสุขชุมชน

 

นักวิทย์น้อย ร่วมสร้างสุขภาพ เพิ่มสุขชุมชน

ไม่ต้องถึงขนาดสร้างนวัตกรรมเลอเลิศ หรือสำเร็จปริญญาระดับดอกเตอร์ เอาแค่มองปัญหา-จัดระบบ และ “ประมวล” วิชาที่เคยร่ำเรียนเพื่อจัดการเรื่องส่วนรวมได้ ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ของเด็กนักเรียนมัธยม ก็เข้มข้นไม่แพ้ใครแล้ว !

ยกหลักฐานง่ายๆ เอาจากความสงสัยต่อกรณีอาการป่วยของประชากรใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ในโรคระบบทางเดินหายใจ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับจำนวนฝุ่นละอองในชุมชน ซึ่งใครจะรู้ว่าผู้ที่จุดชนวนให้ทราบถึงปัญหาไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นกลุ่มเยาวชนนักเรียนที่รู้จักวิทยาศาสตร์แบบจริงจังไม่กี่ปี

“ฝุ่นละอองในชุมชนเรามีมากเกินไป จนเป็นสาเหตุการป่วยของคนในชุมชนหรือไม่ พวกเราจะตรวจสอบเบื้องต้น ก่อนส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแก้ไขต่ออย่างไร” หนึ่งในทีมสมาชิกโรงเรียนอมก๋อยวิทยา กล่าว

นี่คือบางส่วนของความคิด ที่กลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาในโรงเรียนอมก๋อยวิทยาคมตั้งคำถามขึ้น ก่อนจะแปรความสงสัยเป็นรูปธรรม ผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ “สติ๊กเกอร์ใสเตือนภัยฝุ่นละออง” ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลายโครงงานของโปรเจ็คต์ “โครงงาน (เชิง) วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า (ระยะที่2)” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ และจัดเวทีถอดบทเรียนระหว่างกันไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

“ข้าวปุ้น” พัชรา กาวีระ นักเรียนชั้น ม.4 เล่าว่า พวกเธอเริ่มต้นจากการสังเกตอัตราผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจของคนในชุมชน ที่ติดอยู่บนบอร์ดประชาสัมพันธ์ ซึ่งตัวเลขที่แสดงสถิติเหล่านั้น เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีอัตราที่ลดบ้าง เพิ่มบ้าง แต่ก็จัดอยู่ในจำนวนที่ไม่น้อย เมื่อเทียบกับปริมาณประชากรทั้งหมด ซึ่งนั้นนำมาสู่การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อหาคำตอบว่า “ในชุมชนที่อาศัยอยู่นั้น มีปริมาณฝุ่นมากจริงหรือ และบริเวณใดมากที่สุด ครั้นจะไปติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองเป็นเรื่องเป็นราว ก็ดูจะเกินกำลัง ข้าวปุ้น และเพื่อนๆ จึงออกแบบวิธีวัดอัตราฝุ่นในแต่ละสถานที่แบบง่ายๆ แต่ครบถ้วนไปด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทั้งสังเกต ตั้งสมมติฐาน ทดลอง และสรุปผล

“เราใช้สติ๊กเกอร์ใสตรวจสอบปริมาณฝุ่น โดยเอาสติ๊กเกอร์ใสมาตัดขนาด 10×10 เซนติเมตร ติดเทปกาวสองหน้าแบบบางไว้ที่ด้านหลัง แล้วนำไปติดทั่วบริเวณที่ต้องการศึกษาทั้งหมด 10 จุดภายในหมู่บ้านหลิม ต.อมก๋อย อาทิ ที่โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม โรงพยาบาลอำเภอ ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาลตำบล สนามกีฬาเทศบาลตำบล และที่ทำการไปรษณีย์ โดยสติ๊กเกอร์เหล่านั้น ได้ชั่งน้ำหนักไว้อย่างละเอียดก่อนที่จะนำไปติดตามที่ต่างๆ ใช้เวลาทดสอบตั้งแต่ตุลาคมถึงธันวาคม 2553” ข้าวปุ้น กล่าว 

ซึ่งน้ำหนักแผ่นสติ๊กเกอร์ที่แตกต่างกันระหว่างก่อนและหลังนั้น สมมติฐานได้ว่าคือน้ำหนักของฝุ่นละอองที่ติดกับเทปกาว ข้าวปุ้นอธิบายอีกว่า ผลของการทดลองในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่า บริเวณสนามกีฬาเทศบาลตำบลมีปริมาณฝุ่นละอองมากที่สุด โดยเฉลี่ย 0.0053 กรัมต่อตารางเมตร ซึ่งจากการวิเคราะห์สาเหตุเป็นไปได้ว่า อาจเป็นสถานที่ที่มีคนในชุมชนเข้าออกจำนวนมาก รวมถึงพื้นที่ตั้งของอำเภอตั้งอยู่บนพื้นที่สูง มีลมพัดผ่านตลอดเวลา จึงเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง

“ผลการทดลองของพวกหนู ได้นำไปให้สาธารณสุขดู เป็นข้อมูลเพื่อนำไปศึกษาให้ละเอียดขึ้น ขณะเดียวกัน ตอนนี้เริ่มมีรถฉีดน้ำหน้าสนามกีฬาเพื่อลดปริมาณฝุ่น และจุดเสี่ยงอื่นๆ ด้วย จากเดิมที่ไม่เคยมีเลย” ข้าวปุ้นกล่าวด้วยน้ำเสียงภูมิใจ

การคิดและลงมือทำโครงงานวิทยาศาสตร์หนนี้ จึงได้จุดประกายนักวิทยาศาสตร์ในตัวเยาวชนนักเรียนโรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม พร้อมๆ กับประเด็นดังกล่าว ได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ด้วย

อีกผลงานหนึ่ง ที่โยงองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ให้ใกล้ตัวแบบสัมผัสได้จริงอย่างไม่น่าเชื่อ คือ โครงงานของนักเรียนโรงเรียนสงเคราะห์ชัยนาท ภายใต้ชื่อ “การศึกษาประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพร แก้ง่วงนอนในโรงเรียน”ได้

“หนูแดง” รัตติยา วงค์โคกสูง นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสงเคราะห์ชัยนาท บอกว่า โครงงานของพวกเธอเริ่มจากอ่านหนังสือนิตยสารเก่าๆ เล่มหนึ่งเท่านั้น ในนั้นบอกผลงานวิจัยของนักวิจัยคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ที่ว่ากลิ่นหอมของอบเชยและเปปเปอร์มินต์ระงับความอ่อนล้า และช่วยเพิ่มความตื่นตัวกระตุ้นสมองได้ ดังนั้น เราน่าจะทดลองใช้กับห้องเรียนช่วงบ่ายๆ ที่เด็กนักเรียนมักจะสัปหงกระหว่างครูสอน

รัตติยา เล่าว่า แม้จุดเริ่มต้นจะดูเหมือนง่าย แต่พอถึงกระบวนการทดลองกลับไม่ง่ายดั่งที่คิด ทั้งการสกัดน้ำมันหอมระเหยที่ได้ปริมาณน้อยมาก นำมาสู่การลองผิด-ลองถูก คิดสูตรในปริมาณที่เหมาะสมการทำความเข้าใจพืชแต่ละชนิด อาทิ เคยคิดว่าเปปเปอร์มินต์ คือต้นสะระแหน่ แต่แท้จริงกลับไม่ใช่ มันเป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่จริงๆ ไม่ใช่ หนูลองแล้วและรู้ว่ากลิ่นมันไม่ใช่เลย เคยไปซื้อตามห้างที่เขาสกัดออกมาขายก็พบว่า มีส่วนผสมของสารอื่นมากด้วย บางร้านไม่ใช่ของจริงด้วย การทดลองที่เผินๆ เหมือนง่ายจึงกลับไม่เป็นตามนั้น

เมื่อทำการศึกษาตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา โครงงานของนักเรียนโรงเรียนสงเคราะห์ชัยนาทก็สำเร็จไปได้ด้วยดี โดยพวกเขาได้สารสกัดจากพืชที่ทำให้คลายความง่วงระหว่างเรียนได้ ตามมาด้วยการพยายามทำการศึกษาพืชชนิดต่างๆ และคุณสมบัติอื่นๆ ในพืชสมุนไพร พร้อมมองถึงคุณประโยชน์และโทษในสารเคมีที่อยู่ในพืช เพื่อหาความสมควรใช้ประโยชน์

เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ในหนังสือที่ถูกส่งต่อจากผู้ที่มีฐานะดีกว่า ผ่านระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ได้ถูกนำมาขยายผลและสร้างกระบวนการคิดต่อแบบไม่รู้จบ เหมือนกับที่ “แพน” อาแพนดี สามะ และเพื่อนๆ นักเรียนชั้น ม.4-5 โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม อ.แว้ง จ.นราธิวาส สมาชิกโครงงาน “การทดสอบสารปนเปื้อนแบคทีเรียโคลิฟอร์มของร้านอาหาร” ที่ได้ลุกขึ้นมาตั้งคำถามแบบตรงไปตรงมาว่า อาหารที่ขายในโรงเรียน ซึ่งพวกเขารับประทานกันอยู่ทุกวัน สะอาดจริงหรือ ?

“ผมเริ่มทดลอง โดยใช้แบบทดสอบที่กรมอนามัยแจกให้ อุปกรณ์เหล่านี้แจกมาตามอนามัยจังหวัด ได้ใช้ตรวจสอบอาหารในตลาดบางช่วงที่มีการรณรงค์แต่กับอาหารในโรงเรียนยังไม่มีเลย ทั้งที่สารแบคทีเรียโคลิฟอร์มอาจปนเปื้อนมากับพืชผัก และหากร่างกายของเรารับสารชนิดนี้มากๆ จะเกิดอันตรายได้ ผมสงสัยและคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ จึงทำโครงงานเรื่องนี้ ถ้าแน่ใจได้ว่าอาหารที่กินอยู่สะอาดจริงๆ” น้องแพน กล่าว

“นักเรียนคงมีสุขภาพดีและมีความสุข” !

 

       

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน         

Shares:
QR Code :
QR Code