นักวิชาการเร่งรัฐ ควบคุมโฆษณาขนมกรุบกรอบ
ปิดประชุมวิชาการปัญหาพฤติกรรมการบริโภคอาหาร พบใช้มาตรการภาษี คุมอาหาร เครื่องดื่ม ไม่มีคุณค่า ลดอ้วน โรคไม่ติดต่อได้ผล ชี้ ฉลากอาหาร แบบใหม่แสดงค่า ความเข้าใจต่ำกว่าแบบสัญญาณไฟ เร่งรัฐคุมโฆษณาในขนม อาหารเด็ก นักวิชาการ เร่งศึกษาภาษีเครื่องดื่มรสหวาน
เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา นพ.ทักษพล ธรรมรังสี รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการประชุมประจำปีครั้งที่ 1 เรื่อง “การจัดการปัญหาพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน:ประเทศไทยพร้อมหรือยัง” จัดโดย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (ihpp) แผนงานวิจัยอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (fhp) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีนักวิชาการด้านอาหารจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม ผลจากการประชุมมีประเด็นที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายและนำมาทบทวนมาตรการของประเทศไทยต่อไปได้ คือ 1.มาตรการทางภาษี พบว่า ในหลายประเทศมีการใช้มาตรการทางภาษี เพื่อจัดการอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และเครื่องดื่มที่ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีหลักฐานการวิจัยชัดเจนว่าสามารถลดปัญหาโภชนาการเกินได้ แต่จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบและทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน เพื่อนำข้อมูลไปผลักดันและพัฒนานโยบายต่อไป
“เรื่องที่ 2 คือ เรื่องฉลากอาหาร มีการนำเสนอผลจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฉลากเป็นแบบแสดงค่าพลังงาน ไขมัน น้ำตาล และ โซเดียม หรือ gda โดยพบว่า ร้อยละ 42 ของผู้บริโภคยังไม่ค่อยเข้าใจในการอ่านฉลากอาหาร เมื่อเทียบกับการใช้ฉลากแบบสีสัญญาณไฟจราจรจะเพิ่มความเข้าใจได้มากถึงร้อยละ 80 ดังนั้น จึงควรมีการพัฒนารูปแบบฉลากให้เข้าใจ โดยต้องมีการศึกษารูปแบบที่จะสร้างความเข้าใจได้อย่างง่ายในการตัดสินใจเรื่องอาหารซึ่งผู้บริโภค จะต้องเห็นและเข้าใจได้ทันที”
นพ.ทักษพลกล่าวต่อว่าเรื่องที่ 3.การตลาด พบว่า อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีลักษณะเป็นกลุ่มบริษัทที่เป็นเครือข่าย มีเป้าหมายในการประกอบธุรกิจคือ การสร้างกำไรให้แก่หุ้นส่วน โดยการใช้กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดทุกรูปแบบ เพื่อเข้าถึงเด็กและเยาวชน จึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐว่า ต้องคำนึงถึงการควบคุมการใช้สื่อโฆษณาในสินค้าที่อาจมีผลต่อสุขภาพในเด็ก
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ นักวิจัยเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้าประเภทเครื่องดื่มผสมน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม โซดา ชา กาแฟ น้ำผักผลไม้ ฯลฯ เพื่อควบคุมปัญหาภาวะโภชนาการเกิน โดยนำภาษีที่ได้ไปแก้ปัญหาโรคที่เกิดจากโภชนาการเกิน แก้ปัญหาโภชนาการเกิน ที่เป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อสำคัญ ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากร ทั้งโรคอ้วน ความดัน หัวใจ เบาหวาน มะเร็ง ที่สร้างภาระทางด้านค่าใช้จ่ายสาธารณสุขอย่างมาก
“สำหรับประเทศไทย เครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์มีราคาต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ 17 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ จำเป็นต้องศึกษาทั้งด้านสุขภาพ ซึ่งมีงานศึกษาจำนวนมากชี้ว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการเกิน และศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อหารูปแบบการจัดเก็บภาษี และสร้างความเข้าใจต่อสังคม” ทพญ.จันทนากล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์astvผู้จัดการ