นักวิชาการศรีลังกา ย้ำไทยต้องจัดโซนนิ่งน้ำเมา

ที่ผ่านมา มีผู้รู้จากหลายฝ่ายหลายประเทศ เคยเข้ามาร่วมชี้แนะและร่วมแชร์ประสบการณ์ควบคุมปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพูดปาวๆว่าจะให้ได้ผลต้องเร่ง“จัดโซนนิ่ง” รวมถึงมีองค์ประกอบที่รัฐต้องออกมาตรการที่ชัดเจน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับ “ประเทศศรีลังกา”ที่เขาทำอย่างได้ผลดีมาแล้ว

โดยเมื่อเร็วๆนี้ ทางสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างประเทศไทยกับประเทศศรีลังกา  ต่อประเด็นการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักรณรงค์  นิสิตนักศึกษา จากทั้งสองประเทศเข้าร่วม ทั้งนี้กรอบการหารือได้แก่ สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรการทางกฎหมาย  อุปสรรคที่พบในการทำงานด้านรณรงค์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายสำผัส   ดีสรัญ  นักวิชาการศูนย์วิจัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด  ประเทศศรีลังกา  ได้ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ โดยเขาระบุว่า ก่อนหน้านี้ประเทศศรีลังกามีผู้ที่ดื่มสุรามากถึง 44 %  ของประชากร อายุที่เริ่มดื่มจะอยู่ที่ 16 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มที่ดื่มหนักที่สุด คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน นอกจากนี้ สถานการณ์การดื่มของกลุ่มผู้หญิงยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น  เพราะธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาทำการตลาดและมุ่งตรงทำกิจกรรมกับเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะใน 1 วันประเทศศรีลังกา จะมีการเสียชีวิตมากถึง 30 ราย โดยสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

หลังจากสงคราม 3 ปีที่ผ่านมาเมื่อบ้านเมืองสงบ เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นทั้งแถบยุโรปและอเมริกา ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะเข้ามาพร้อมกับการดื่มแอลกอฮอล์โดยที่ไม่รู้กฎหมาย ซึ่งเราก็เป็นห่วง ว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวแบบนี้จะทำให้สถานการณ์การดื่มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

นายสำผัส  อธิบายถึงมาตรการที่นำมาใช่ในการปกป้องคนในประเทศว่า  ศรีลังกามี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2549 หรือ 25 ปีที่ผ่านมา(ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2551) มาตรการที่ประเทศศรีลังกาใช้ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้ผล คือ การจัดโซนนิ่ง โดยกำหนดว่า ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องอยู่ห่างจากสถานศึกษา 100 เมตร และห่างจากวัด 300 เมตร นอกจากนี้ ยังต้องมีมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 21 ปีควบคู่ไปกับการห้ามโฆษณาผ่านโทรทัศน์ทุกรูปแบบ หรือแม้กระทั่ง ในละครก็ห้ามพูดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามมีฉากดื่มแอลกอฮอล์ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย สำหรับช่วงเวลาที่ห้ามขายคือ 10.00-21.00 น. หรือในเวลา1 วันจะห้ามขายสุรา 11 ชั่วโมง

 “มาตรการจัดโซนนิ่ง จำกัดอายุของคนซื้อ เป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ ประกอบกับประเทศศรีลังกามีนโยบายที่เข้มแข็งอยู่แล้วนั่นก็คือ การห้ามโฆษณา ซึ่งใช้ได้ผลและมีประสิทธิภาพสูงเพราะห้ามโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งห้ามธุรกิจแอลกอฮอล์ให้ทุนกับกิจกรรมต่างๆ ส่วนเรื่องการออกใบอนุญาตขายสุราให้กับผู้ประกอบการ จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ผ่านการรับรองจากทั้งท้องถิ่นและระดับจังหวัดเสียก่อน จึงจะส่งต่อไปตามขั้นตอนของหน่วยงานรัฐและสามารถออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการได้” นักวิชาการฯศรีลังกา  กล่าว

นอกจากนี้ที่ประเทศศรีลังกายังมีมาตรการรณรงค์และควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบที่แตกต่างจากประเทศไทยคือ  ปลดป้ายโฆษณาของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ ทาสีทับฝาผนังหากมีการโฆษณาสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ขณะเดียวกันท้องถิ่นยังได้มีการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับ กลุ่มเอ็นจีโอ  รัฐบาล ตลาด  ชาวบ้าน  ชุมชน  เยาวชน  และคนกลุ่มหลากหลายอาชีพ  เช่นคนขับรถ  คนงาน รวมไปถึงทหารทุกเหล่าทัพ ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายดังกล่าว

นายสำผัส กล่าวอีกว่า  การทำงานด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศศรีลังกาจะเน้นการเปลี่ยนแปลงสังคมและทัศนคติการดื่ม มีการติดตามประเมินผลของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดเวลา โดยแบ่งงานออกเป็น ด้านกลยุทธ์ นโยบาย  งานวิจัย  การศึกษา  การบำบัดผู้ที่ติดสุรา  และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มจากภายในจิตใจ

 

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะมีหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ติดตามข่าวทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ เพื่อหาข้อมูลการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากพบจะรวบรวมเพื่อนำข้อมูลทั้งหมดส่งไปให้ผู้ที่มีอำนาจและผู้ที่ออกนโยบายให้ได้รับรู้รับทราบ  รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย เพื่อให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิด

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้นี้ ยังฝากข้อคิดในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับประเทศไทยด้วยว่า “ผมมาที่ประเทศไทย ก็รับรู้ได้ทันที่ว่าเหล้าและบุหรี่หาซื้อได้ง่ายมาก และราคาถูกซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง และเรารู้สึกว่าประเทศไทยไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเท่าที่ควร ทำให้การซื้อการขายเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงธุรกิจแอลกอฮอล์ยังทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างสบาย อย่างไรก็ตาม หากเพิ่ม การบังคับใช้กฎหมายและเพิ่มราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้สถานการณ์การดื่มลดลงแน่นอน เพราะศรีลังกาใช้ได้ผลมาแล้ว”       

ด้านนายธีรภัทร  คหะวงศ์  ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ จากประเทศไทย กล่าวว่า  เยาวชนผลักดันเรื่องโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษามานานกว่า 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนกล้าหาญที่จะออกมาตรการนี้เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน ทุกวันนี้เราจึงเห็นเด็กและเยาวชนไทยโดยเฉพาะนักศึกษาถูกมอมเมา เป็นเหยื่อจากแหล่งอบายมุขเหล่านี้ บางแห่งตั้งประจันหน้ากับประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยกันเลยทีเดียว การไม่เข้มงวดกับการขายเหล้าให้เด็กรวมถึงปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าร้านเหล้า ผับบาร์ ยังเป็นเรื่องที่พบเห็นจนชินตา ซ้ำร้ายแต่ละร้านก็จัดโปรโมชั่นกันเต็มที่เพื่อล่อให้นักศึกษา เข้าไปใช้บริการ

“ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น แต่มันเกิดขึ้นได้เพราะผลประโยชน์บังตา เขาจึงละเลยการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า อนาคตของชาติสำคัญน้อยกว่าเม็ดเงินใต้ดินเราซึ่งเป็นเยาวชนจึงควรลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองและเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้ร้านเหล้า แหล่งอบายมุขทั้งหลายควรอยู่ห่างจากสถานศึกษา” นายธีรภัทร  กล่าว

สำหรับเวทีการแลกเปลี่ยนทัศนะของผู้ที่ทำงานด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ประเทศศรีลังกาได้เน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐยังได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงทำให้การมาตรการการควบคุมเครื่องแอลกอฮอล์ของประเทศศรีลังกาประสบความสำเร็จ หากมองกลับมายังประเทศไทย หากเจ้าหน้าที่ภาครัฐยังเพิกเฉย และละเลยต่อผู้ละเมิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว เชื่อว่า ทุกเทศกาลของคนไทย เรายังคงต้องนั่งนับศพผู้เสียชีวิตกันต่อไป

 

 

ที่มา : สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)

Shares:
QR Code :
QR Code