นักวิจัย ม.นเรศวร พัฒนาหลอดเก็บเลือด
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
ทางออกสำหรับกลุ่มคนที่เจาะเลือดยากโดยเฉพาะเด็กเล็กและทารก นักวิจัย ม.นเรศวร พัฒนาหลอดเก็บเลือดรูปแบบใหม่เคลือบสารพิเศษช่วยรักษาคุณภาพเลือด ส่งผลให้ใช้ตัวอย่างเลือดน้อยลง บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้เร็วขึ้นรวมถึงลดต้นทุนในแล็บ เตรียมยื่นจดอนุสิทธิบัตรและบัญชีนวัตกรรม พร้อมส่งต่อเอกชนผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์
ผศ.วันวิสาข์ ตรีบุพชาติสกุล นักวิจัยหน่วยวิจัยวัสดุอ้างอิงและนวัตกรรมห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวว่า แต่ละปีมีความต้องการใช้หลอดเก็บเลือดมากกว่า 100 ล้านหลอด ราคาขายของตัวหลอดอาจจะไม่แพงแต่ปริมาณการใช้สูง ทำให้เป็นโอกาสที่ผลงานประดิษฐ์คิดค้นนี้จะต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
โจทย์ลดเจ็บ
นักวิจัยมองเห็นปัญหาของผู้ป่วยจากการตรวจเลือดที่ต้องเจาะเลือด 2-3 หลอดหรือราว 4-10 มิลลิลิตร เพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ แต่กลุ่มคนที่เจาะเลือดยาก เส้นเลือดเล็ก คนอ้วนที่หาเส้นเลือดยาก รวมถึงเด็กเล็กและคนชรา การเจาะเลือดแบบนั้นทำได้ยาก ทำให้ได้เลือดในปริมาณน้อยกว่าที่ต้องการ การตรวจก็ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร
"เรามองเห็นและตั้งคำถามว่า ทำไมไม่มีวิธีการตรวจที่ใช้เลือดเพียง 1 หลอด จึงนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาหลอดเก็บเลือดขนาดเล็กพร้อมทั้งการพัฒนาสารเคลือบพิเศษ ที่สามารถรักษาระดับน้ำตาลกลูโคสและสารชีวเคมีได้ในหลอดเดียว โดยไม่ต้องแยกหลอดสำหรับตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสและ สำหรับตรวจสารชีวเคมี" ผศ.วันวิสาข์ กล่าว
สารเคลือบดังกล่าวเป็นสารเคลือบที่มีเฮปารินชนิดเกลือลิเทียม และสารยับยั้งการใช้น้ำตาลในสัดส่วนที่เหมาะสม เมื่อเคลือบในหลอดเก็บเลือดอินโนไมโครทิวบ์ จะสามารถรักษาระดับน้ำตาลได้นาน 3 ชั่วโมง และสามารถตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ สารชีวเคมี 19 รายการ อาทิ ไตรกีเซอไรด์ กรดยูริค ไขมันเอชดีแอล แอลดีแอล เป็นต้น
หลอดเก็บเลือดอินโนไมโครทิวบ์นี้จะทดแทนการใช้หลอดเฮปารินและหลอด โซเดียมฟลูออไรด์จากจำนวนรวม 2 หลอดให้เหลือเพียง 1 หลอด ช่วยแก้ปัญหาการเจาะเก็บเลือดได้น้อยกว่าปริมาณที่กำหนด เจาะเลือดไม่ได้ ใช้เวลานาน หรือปัญหาน้ำตาลต่ำปลอมจากการใช้หลอดเก็บเลือดเฮปาริน โดยเฉพาะในการเก็บเลือดเด็กเล็กหรือทารก
"เดิมเราพัฒนาหลอดเก็บเลือดปริมาตร 4 มิลลิลิตรที่เริ่มทำการตลาดแล้ว โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท วี เมด แล็บ เซนเตอร์ จำกัด ดำเนินการผลิตและบริษัท อินโฟกัส เฟิร์มมิ่ง จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่าย และต่อยอดพัฒนาเป็นหลอดเก็บเลือดแคป ควอเลย์ ปริมาตร 1 มิลลิลิตรสำหรับตรวจวัดน้ำตาลกลูโคสและสารชีวเคมีในหลอดเดียวเช่นกัน ก่อนที่จะได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการพัฒนาหลอดเก็บเลือดรุ่นใหม่"
"แคป ควอเลย์ พลัส" เป็นหลอดเก็บเลือดปริมาตร 0.25-1 มิลลิลิตรที่มี นวัตกรรมสารเคลือบที่ช่วยให้ตรวจเลือดในระดับห้องปฏิบัติการได้ในหลอดเดียว ทั้งยังออกแบบตัวหลอดขนาดเล็กนี้ ให้สามารถสวมเข้ากับปลอกหลอดเก็บเลือดปกติและใช้ได้กับระบบเครื่องอัตโนมัติของห้องปฏิบัติการ โดยใช้กับฝาปิดหลอดที่เป็นสากล จากการคำนวณแรงอัดและออกแบบร่องเกลียวที่ช่วยให้ฝาปิดได้หนาแน่นไม่เกิดการรั่วไหลของตัวอย่างเลือด
ส่งต่อเอกชน พร้อมสู่เชิงพาณิชย์
ผศ.วันวิสาข์ กล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวทำให้ได้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้นทุนถูกลง มีประสิทธิภาพ โดยไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ และยังช่วยให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้สะดวก รวดเร็วขึ้น ลดภาระและเวลาการทำงานได้อีกด้วย
ปัจจุบัน ทีมวิจัยอยู่ระหว่างการยื่น จดอนุสิทธิบัตร พร้อมภาคเอกชนที่ดำเนินการ รับถ่ายทอดเทคโนโลยีกับมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะยื่นจดทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งจะช่วยเรื่องการตลาดภาครัฐ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐต่างๆ ได้
นอกจากนี้ ม.นเรศวรยังเตรียมสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อรองรับงานวิจัยที่ต้องการผลิตต้นแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อยื่นขอการรับรองมาตรฐานต่างๆ อาทิ อย. ก่อนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหลอดเก็บเลือดเป็นผลงานนำร่อง อีกทั้งยังคาดหวังว่า ในปี 2565 จะสร้างยอดขาย 20 ล้านหลอดต่อปี ลดการนำเข้าหลอดเฮปาริน และ หลอดโซเดียมฟลูออไรด์จากต่างประเทศ 50% และจะเดินหน้าทำตลาดในประเทศ เพื่อนบ้านแบบคู่ขนาน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมา และมาเลเซีย
ที่สำคัญ ทีมวิจัยยังเดินหน้าพัฒนาหลอดเก็บเลือด 3 อิน 1 ที่เพิ่มฟังก์ชันทดแทนหลอดตรวจเม็ดเลือด ทำให้สามารถตรวจทั้งน้ำตาลกลูโคส สารชีวเคมี และเม็ดเลือดได้ในหลอดเดียว