นักปราบไวรัส ล้านนาฮึดสู้หวัด
กระตุ้น นร.-ชุมชนเห็นความสำคัญ
แม้จะซาไปพักใหญ่ “โรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 เอช 1 เอ็น 1” ที่ลุกลามไปทั่วโลก ประเทศไทยเราเองก็มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณ สุข เมื่อราวปลายปี 2552 คาดว่ามีมากกว่า 6 ล้านคน และประมาณการว่า อาจจะมีถึง 15 ล้านคน ที่สามารถติดเชื้อและป่วยได้อีกในช่วงการระบาดระลอก 2 โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวนี้ และในภาคเหนือที่สภาพอากาศหนาวเย็นกว่าภาคอื่นๆ นับว่าเสี่ยงไม่น้อย
จึงเป็นที่มาของขบวนการ “ฮึดสู้หวัด 8 จังหวัดล้านนา” โดย อัมรินทร์ เปล่งรัศมี จากกลุ่มละครชุมชนกั๊บไฟ จ.เชียงใหม่ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ “โรงเรียนสู้ภัยหวัด 2009” กล่าวว่า สิ่งที่หลายฝ่ายหวั่นวิตกคือ ในช่วงฤดูหนาวนี้ จะมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ระลอก 2 จะรุนแรงกว่าระลอก แรก จากการระบาดรอบแรกพบว่า จ.เชียงใหม่ มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในภาคเหนือ ประมาณ 2,300 ราย
ทางกลุ่มละครชุมชนกั๊บไฟ ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6 จัดขบวนการฮึดสู้หวัด 8 จังหวัดล้านนาขึ้น มีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียน 250 แห่ง
กิจกรรมแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน เริ่มจาก “ผอ.เปิงใจกับครูน้อยฮึดสู้หวัด” เชิญผู้อำนวยการ และครูในโรงเรียนอีก 2 คน จาก 25 โรงเรียน ในเขต 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มาร่วมกิจกรรมสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริหารและครู ถึงบทบาทในการป้องกัน และบทบาทในกิจกรรมฮึดสู้หวัด ที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง
ขั้นตอนที่ 2 คัดนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีทักษะความเป็นผู้นำ และการสื่อสาร มาต่อยอดในค่าย “ยอดนักปราบไวรัส วายร้าย” เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อพัฒนาสื่อบุคคลให้รู้จักเครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วนำไปถ่ายทอดสู่บุคคลอื่น หรือชุมชนในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการรับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
กิจกรรมในค่าย นอกเหนือจากปรับพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรค ให้เท่าเทียมกัน ทั้งเรื่องข้อมูล สุขบัญญัติ 10 ประการ ทักษะการทำเจลล้างมือ และหน้ากากอนามัยแล้ว ยังเน้นวิธีการสื่อสารเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เช่น สื่อบุคคล วิทยุชุมชน วีดิทัศน์ ละคร ดนตรี เกม และศิลปะ
ขั้นตอนที่ 3 “10 ทิศ พิชิตหวัดร้าย” เป็นกิจกรรมเพื่อขยายผลจากนักเรียนแกนนำไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงอีก 9 แห่ง และชุมชนของตนเอง เพราะต้องการให้ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้เรื่องการดูแลสุขอนามัย และมีมาตรการรองรับไข้หวัด 2009 เมื่อแกนนำแต่ละโรงเรียนนำไปขยายผลต่ออีก 9 แห่ง ก็จะเป็น 1+9 = 10 โรงเรียน เมื่อคำนวณจากแกนนำหลัก 25 โรงเรียน จะได้ครบ 250 โรงเรียน
เข้าสู่ขั้นตอนที่ 4 “ฉันคือคนที่อยู่เคียงข้างเธอ” กลุ่มละครกั๊บไฟ จะให้อิสระกับทุกโรงเรียนแกนนำ ในการคิดและทำกิจกรรมขยายผล แต่มีการติดตาม ประเมินผล ว่านักเรียนทำอย่างไร มีวิธีการ หรือกิจกรรมอะไรบ้าง พร้อมทั้งคอยดูแลให้คำปรึกษาอยู่ห่างๆ ส่วนขั้นตอนสุดท้าย เป็นการสรุป รวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อนำส่งสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ฯ และสสส.
ด้าน “น้องแอ้”น.ส.รุจีรัตน์ ปัญญาดิบวงศ์ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนแม่พริกวิทยา จ.ลำปาง หนึ่งในแกนนำนักเรียนที่เข้าค่ายยอดนักปราบไวรัส วายร้าย เล่าว่า ได้รับความรู้จากค่ายมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะสถานการณ์โรคนี้ ที่พบครั้งแรกในเมืองเวราครุซ ประเทศเม็กซิโก ก่อนแพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลก
จากการร่วมกิจกรรม ทำให้น้องแอ้ ยอดนักปราบไวรัส วายร้าย ได้ความรู้ว่า ถ้าได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ อาการคล้ายผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ธรรมดา แต่รุนแรงและรวดเร็วกว่า มีไข้สูงราว 38 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตามข้อ ไอ มีน้ำมูก เสมหะ ปอดบวม เบื่ออาหาร บางรายอาจท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
จากนั้นเชื้อจะแพร่เข้าสู่กระแสโลหิต ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทรงตัวผิดปกติ เดินเอนไปเอนมาเหมือนคนเมาสุรา อาจสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกได้ และเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
น้องแอ้อธิบายวิธีป้องกันอย่างง่ายว่า ให้ปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติ 10 ประการ โดยเฉพาะ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หลีกเลี่ยงอยู่ในที่ชุมชนแออัด เมื่อรู้สึกตัวว่าเป็นหวัดควรสวมหน้ากากอนามัย ไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังผู้อื่น
ส่วน นายวศิน อิงอาน หรือ “น้องเบล” นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนฮอดพิทยาคม จ.เชียงใหม่ ร่วมเล่าว่า ทำหน้าที่เป็นแกนนำในโรงเรียนหลายๆ ด้าน จึงถูกเลือกให้เข้าค่ายเป็นกรณีพิเศษ และใช้ละครชุมชนเป็นสื่อทางเลือก ที่จะสื่อสารกับเพื่อนทั้งในโรงเรียนเดียวกัน และต่างโรงเรียน รวมถึงชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เชื่อว่าจะได้ผลค่อนข้างดี
เพราะความรุนแรงจากการระบาดของโรคในช่วงที่ผ่านมา เป็นบทเรียนที่ทำให้ทุกคนรู้สึกกังวลใจอยู่แล้ว เมื่อได้รับความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นภาพร อ่อนมณี อาจารย์โรงเรียนสันทรายวิทยาคม จ.เชียงใหม่ ทางโรงเรียนตระหนักถึงภัยไข้หวัด 2009 มาตั้งแต่ต้น เพราะอ.สันทราย เป็นพื้นที่เสี่ยงอันดับ 2 ของจ.เชียงใหม่ รองจากอ.เมือง ในการระบาดรอบแรกมีเด็กนักเรียนกว่า 500 คนป่วย จากทั้งหมด 1,600 คน
ในจำนวนนี้ 6-7 คน ติดเชื้อเอช 1 เอ็น 1 ทางผู้บริหารจึงมีมาตรการเฝ้าระวัง โดยกำชับให้ครูประจำชั้นดูแลเด็กที่เข้าแถวช่วงเช้าอย่างถี่ถ้วน หากพบว่าใครมีอาการไข้หวัด หรือตัวร้อนผิดปกติ ให้คัดกรองส่งห้องพยาบาล พร้อมทั้งแจกหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนอื่นๆ และแจ้งไปยังผู้ปกครองให้มารับตัวเด็กไปพบแพทย์ทันที
กิจกรรมนี้ นับเป็นมาตรการเชิงรับที่ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ดีในระดับหนึ่ง แต่มาตรการเชิงรุกที่ดีที่สุด สมควรปฏิบัติควบคู่กันไป คือรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ล้างมือบ่อยๆ กำจัดเชื้อโรค
ขณะเดียวกันในการรณรงค์ป้องกัน ก็ต้องทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ กระตุ้นย้ำให้นักเรียน และชุมชนเห็นความสำคัญของการป้องกันโรค และนำสุขบัญญัติ 10 ประการไปปฏิบัติจนกลายเป็นนิสัยอย่างถาวร
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update 25-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร