นักบริบาลเอื้ออาทรดอนแก้ว ผู้สร้างสายใยในชุมชน
การดูแลสุขภาพของคนภายในชุมชนก็เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งน่าอยู่ และด้วยจิตของคนในชุมชนที่มีใจเอื้ออาทรต่อกัน จึงเป็นที่มาของจุดเด่นของชุมชนใน ต.ดอนแก้ว และต่อยอดเป็นหนึ่งในหลักสูตรของมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข นั่นก็คือ หลักสูตรนักบริบาลเอื้ออาทร
ที่มาของหลักสูตรนี้ คุณพัชรี จันตาบุญ พยาบาลวิชาชีพได้เล่าว่า ในชุมชนจะมีกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งเราจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและช่วยเหลือตัวเองได้ กลุ่มที่สองจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน แต่มีโรคประจำตัวและภาวะแทรกซ้อน และกลุ่มที่สามจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงและมีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่น จึงเป็นที่มาของหลักสูตรวิชานักบริบาลชุมชนขึ้นมา
ผู้ที่เข้ามาเรียนวิชานักบริบาลชุมชนจะต้องเรียนรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งภาคทฤษฎีหลักๆก็จะเรียนเรื่องทักษะการสื่อสารและกิจกรรมกายภาพบำบัดเบื้องต้น หลังจากจบหลักสูตรภาคทฤษฎีก็จะเป็นการเรียนภาคปฏิบัติด้วยการลงพื้นที่ชุมชนไปฝึกปฏิบัติจริงกับกลุ่มผู้ป่วย โดยมีครูผู้สอนคอยกำกับดูแลอีกที
ในแต่ละวันที่นักบริบาลชุมชนเข้าไปดูแลผู้ป่วยจะสามารถเข้าไปดูแลได้วันละไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง เวลาที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของลูกหลานหรือคนในครอบครัวที่ต้องดูแล เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่า ลูกหลานบ้านนี้ไม่กตัญญู ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาสังคมประการหนึ่ง ในส่วนที่นักบริบาลสามารถช่วยเหลือได้ก็คือ ให้ความรู้เบื้องต้นและสาธิตวิธีปฏิบัติแก่ลูกหลานของผู้ป่วยเพื่อให้พวกเขาสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
บ้านคือโรงพยาบาล โรงพยาบาลคือบ้าน กิจกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความผูกพันของคนในสังคมที่ทำให้ผู้ป่วยและลูกหลานรู้สึกมีความสุขกว่าการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เพราะหลักสูตรนักบริบาลชุมชนจะเน้นการรักษาต่อเนื่อง และใช้สิ่งใกล้ตัวมาสร้างเป็นนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
ที่มา: เว็บไซต์ปันสุข แบ่งปัน สรรค์สร้าง เพื่อชุมชนน่าอยู่