นักช้อปออนไลน์ ระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของต่างประเทศ

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา


นักช้อปออนไลน์ ระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของต่างประเทศ thaihealth


แฟ้มภาพ


อย. เตือนนักท่องเที่ยว นักช้อปออนไลน์ ระวังการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของต่างประเทศมารับประทาน อาจเสี่ยงเจอสารอันตรายขอให้ตรวจสอบรายชื่อได้ทาง http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/index.jsf รวมถึงผู้ประกอบการระวังการนำเข้าของต่างประเทศมาขาย ขอให้ตรวจให้ดีก่อนนำเข้าได้ทางเว็บไซต์เดียวกัน


นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทโดยตรงตามกฎหมายในการควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพและถูกกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร โดยได้มีการติดตามประเด็นข่าวด้านสุขภาพที่น่าสนใจ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกิดขึ้นในต่างประเทศจากเว็บไซต์ของหน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ โดยล่าสุด Health Sciences Authority ประเทศสิงคโปร์ แจ้งเตือนข้อมูลผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่พบส่วนประกอบของ ยาห้ามใช้และปลอมปนยาที่อาจเป็นอันตราย เช่น ไซบูทรามีน ซึ่งช่วยออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกไม่อยากอาหาร และส่งผลข้างเคียงกับการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเดกซาเมทาโซน และ ไมโครฟิโนลิก แอซิค เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบจำหน่ายในท้องตลาดและซื้อผ่านอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ Health Canada ประเทศแคนาดา ได้แจ้งข้อมูลผลิตภัณฑ์ยาที่ผิดกฎหมายและห้ามขาย เนื่องจากพบการปนเปื้อนสารโซเดียมคลอไรต์ (Sodium Chlorite NaClO2) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ น้ำยาฆ่าเชื้อ อุตสาหกรรมการทำน้ำให้บริสุทธิ์ ผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ไตวาย เม็ดเลือดแดงผิดปกติ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกกล่าวอ้างว่าใช้รักษาโรคร้ายแรง อาทิ โรคมะเร็ง โรคเอดส์ และ โรคออติสซึมในเด็ก เป็นต้น จากการตรวจสอบและเฝ้าระวังของ อย. ไม่พบการขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทย และเมื่อตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางอินเทอร์เน็ตก็ไม่พบการขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด


รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนนักท่องเที่ยว นักช้อปออนไลน์ อย่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทานโดยเด็ดขาด เพราะมีสารที่เป็นอันตราย เสี่ยงสูญเงินฟรีเพราะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าตามกฎหมาย รวมถึงผู้ประกอบการนำเข้าขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศได้ที่เว็บไซต์ HPVC http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/index.jsf หัวข้อ สรุปข่าวความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2561

Shares:
QR Code :
QR Code