นักกฏหมายยัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ยุติธรรมเอื้อเกิดประโยชน์

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ

นักกฏหมายยัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ยุติธรรมเอื้อเกิดประโยชน์

          นักกฎหมาย แจง กมธ.สธ. มาตรา 5-6 ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ไม่ขัดกัน ตรงข้ามมีความยุติธรรมเอื้อให้เกิดประโยชน์ กันคนแห่มารับเงิน เห็นด้วยเพิ่มสัดส่วนสภาวิชาชีพ-ตัวแทนราชวิทยาลัยใน คกก. ลั่นรพ. เอกชนไม่ร่วมกองทุนชดเชยกับรพ.รัฐทำได้ แต่ต้องแก้กฎหมาย ในขั้นกมธ.

          ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ลงความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. … จำเป็นต้องมีการแก้ไขบางมาตราที่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะเรื่องการชดเชยความเสียหาย ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยในหลักการของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งไม่ได้เขียนกฎหมายให้ขัดแย้งกัน แต่เป็นการเขียนกฎหมายที่ดี มีความยุติธรรม โดยมาตรา 5 ระบุให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ส่วนมาตรา 6 ระบุข้อยกเว้นที่ผู้เสียหายจะไม่ได้รับการชดเชย หากเป็นการรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ มาตรานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้คนแห่มาขอรับเงินชดเชยตามมาตรา 5 ทั้งนี้ หากกังวลว่าอาจเกิดความคลาดเคลื่อนในการอ่านกฎหมายและทำให้เกิดความสับสน ก็สามารถแก้ไขได้ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร

          ศ.แสวง กล่าวต่อว่า หากต้องมีการแก้ไข ก็ควรแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับสัดส่วนของคณะกรรมการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข จำนวน 18 คน เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยการชดเชยความเสียหาย ตามมาตรา 5 และ 6 โดยเพิ่มตัวแทนอีก 6 คน รวมเป็น 24 คน ซึ่งมาจากสภาวิชาชีพ 5 องค์กร ได้แก่ จากสภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ และสภากายภาพบำบัด และตัวแทนจากราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องอีก 1 คน เพื่อความเหมาะสม

          กฎหมายนี้ดีคือไม่ต้องไปศาล เพราะเมื่อไปถึงศาลจะสู้กันด้วยเทคนิค ดังนั้นการไกล่เกลี่ยจึงดีกว่าการฟ้องร้อง และช่วยให้หมอไม่เดือดร้อน ไม่ต้องถูกฟ้อง เพราะถ้าผู้เสียหายไม่พอใจเงินชดเชยก็ให้ฟ้องกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่เกี่ยวกับหมอ ส่วนหลังจากนั้นสธ. จะมาไล่บี้กับหมอได้หรือไม่ ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ. ความรับผิดฐานละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กำหนดไว้ว่า สธ. จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่อร้ายแรงและไม่เคยมีคดีใดที่ประมาทเลินเล่อร้ายแรงมาก่อนศ.แสวงกล่าว

          ศ.แสวง กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่สถานพยาบาลเอกชนต้องการให้แยกกองทุนชดเชยระหว่างสถานพยาบาลรัฐและเอกชนนั้น ส่วนตัวเห็นว่า หากภาคเอกชนไม่ต้องการเข้าร่วมตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ได้ เพราะมีฝ่ายกฎหมายและไกล่เกลี่ยอยู่แล้ว โดยให้แก้ไขในร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้ชัดเจนว่ามีผลบังคับใช้เฉพาะสถานพยาบาลรัฐเท่านั้น

 

 

 

ที่มา: สำนักข่าวสสส.

 

 

Update: 24-08-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code