นอกใจ อันดับ 1 ต้นเหตุความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่น

/data/content/26474/cms/e_afgijpqsv249.jpg


          เปิดโพลความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่น ชี้นอกใจ-เจ้าชู้-หึงหวงยังครองแชมป์กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง เผยสาเหตุที่ทน เพราะรัก-อาย-กลัวพ่อแม่รู้ แนะ 6 วิธีแก้ปัญหาตั้งสติ ไม่รุนแรง แจ้งความ ขอรับคำปรึกษา


         วันที่ 13 พ.ย. 57 ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และนิสิตนักศึกษา จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กปี 2557 ภายใต้แคมเปญ“อย่าอ้างว่ารัก แล้วทำร้าย”


          นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาพระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยผลสำรวจ “สถานการณ์ความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่น” โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน นักศึกษาหญิง ทั้งหมด 1,204 ราย อายุระหว่าง17-25 ปีจาก 14 สถาบันการศึกษา ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล ทั้งนี้เมื่อถามถึงสถานการณ์ความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่นที่ต้องเผชิญกับตัวเองหรือจากเพื่อน คนรู้จัก พบอันดับแรก 98.4% คือการนอกใจ เจ้าชู้คบหลายคน รองลงมา90.5% การใช้คำหยาบคายส่งเสียงดัง 75% การทำลายข้าวของ 74% ทำร้ายร่างกาย เช่น กระชากแขน ดึงผม ตบหน้า ตบหัว ทุบตี เตะ ขณะที่71.6% เป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยวห้ามออกไปไหน และ68.8%การตั้งครรภ์ไม่พร้อม


          นางสาวอังคณา กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่น คือ 18.8%การนอกใจ 18.6% หึงหวง/แสดงความเป็นเจ้าของ17.1 % ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 12.5%แสดงอำนาจที่เหนือกว่า/ไม่ให้เกียรติกัน ขณะเดียวกันเหตุผลที่ผู้หญิงต้องอดทนเพิกเฉยต่อการถูกกระทำ พบว่า 23.3% ทนเพราะรัก 22.7%ไม่กล้าบอกใคร 17.9%กลัวพ่อแม่/ผู้ปกครองรู้ 17%กลัวถูกทำร้ายซ้ำ และเมื่อถามว่า หากพบเห็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากแฟนหรือคนรักจะทำอย่างไร กลุ่มตัวอย่าง 33.4%ตอบว่า แจ้งตำรวจ 18%แจ้งผู้ดูแลหอพัก/ผู้อาวุโสในละแวกนั้น 16%เข้าไปห้าม 7.4% เพิกเฉย และในทางตรงกันข้ามหากเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงเอง จะมีวิธีป้องกันตัวอย่างไร กลุ่มตัวอย่าง47% ระบุว่า ขอความช่วยเหลือจากเพื่อน/คนรู้จัก 23.3%หนีไปอยู่ที่อื่นสักพัก/หนีปัญหา12.3%ขอความ/data/content/26474/cms/e_cfgijnpqrw69.jpgช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ9.5%ระบายทุกข์ด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


          “ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนพฤติกรรมความรุนแรงในวัยรุ่นได้อย่างชัดเจน จึงขอฝากคำแนะนำ เมื่อวัยรุ่นต้องเผชิญกับความรุนแรง ดังนี้ 1.ตั้งสติ อย่าใช้อารมณ์ 2.ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง 3.หาทางเอาตัวเองออกจากพื้นที่เกิดเหตุ 4.แจ้งเหตุ ขอรับการช่วยเหลือ 5.อย่าเก็บเรื่องไว้คนเดียว ขอคำปรึกษา หาตัวช่วย และ 6.หลีกเลี่ยงการดื่มหรือเสพของมึนเมาทุกชนิด ซึ่งทำให้ขาดสติและเพิ่มดีกรีความรุนแรง อย่างไรก็ตามหากวัยรุ่นต้องเผชิญสถานการณ์เลวร้ายสามารถขอคำปรึกษาและการช่วยเหลือได้ที่ 02-5132889 ซึ่งมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาที่เกิดจากอคติทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิง เครือข่ายชุมชน กลไกรัฐ และเอกชน เพื่อบูรณการการทำงานนำไปสู่การแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน และจากปัญหาดังกล่าว ทางมูลนิธิฯเตรียมที่จะเข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกระทวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขในเร็วๆนี้ และจะสนับสนุนให้มีการรณรงค์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ”นางสาวอังคณา กล่าว


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code