นวัตกรรม เพื่อลด-เลิก เหล้าบุหรี่
เอ่ยถึง "นวัตกรรม" หลายคนอาจคิดถึง สิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ ที่มีคุณประโยชน์ แทบไม่มีใครนึกถึงสิ่งใกล้ตัวที่เคยเห็นจนชินตา ว่าจะต่อยอดให้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ มีคุณค่าได้ เช่น การนวดกดจุด เพื่อให้สิงห์อมควัน เลิกสูบบุหรี่ ที่ ต.โพนทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
ผศ.มณฑา เก่งการพานิช จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวใน เวทีเสวนา "ปัจจัยที่ทำให้ปรับพฤติกรรมเสี่ยงและกระบวนการทำงานประเด็นเหล้าบุหรี่" ว่าแม้ที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ จะรณรงค์ให้เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ แต่พบว่าอัตราการเสพเหล้า-บุหรี่ ในสังคมไทยยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะเหล้า-บุหรี่ ยังเป็นสิ่ง หาซื้อได้ง่าย มีให้เลือกทั้งที่เสียภาษีสรรพสามิต อย่างถูกต้อง และเหล้าบุหรี่ปลอดภาษี หรือเลี่ยงภาษี
นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่หลายชุมชนมองเห็นความสำคัญของการปัญหาการติดเหล้า-บุหรี่ และพยายามหาวิธีการให้ท้องถิ่นของตนเองปลอดเหล้า-บุหรี่ ได้สำเร็จในระดับหนึ่ง เช่น โครงการธนาคารเหล้า บ้านดงยาง-พรพิบูลย์ อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี, โครงการเพื่อน ช่วยเพื่อน ต.โพนทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ, โครงการครอบครัวอบอุ่น ชุมชนลดเหล้าบ้านแม่ป่าข่า ของ รพ.สต.ทาปลาดุก จ.ลำพูน, โครงการ ดอนแก้วสดใสไร้ควันบุหรี่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, โครงการพลังวัฒนธรรมชุมชนกับการช่วยเลิกบุหรี่ ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ หรือโครงการสวนดอกปลอดบุหรี่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เป็นต้น
สมัย ไชยคำจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านดงยาง เล่าว่า บ้านดงยาง-พรพิบูลย์ เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน เพิ่งแยกออกเป็น 2 หมู่บ้านเมื่อเร็วๆ นี้ มีทั้งหมด 261 หลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และทำผ้ามัดหมี่ย้อมคราม ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่ช่วงที่ผ่านมากลับพบว่าชาวบ้านเสพเครื่องดื่มมึนเมามากขึ้น เห็นได้จากการนำเข้าเหล้า-เบียร์ ของร้านค้าในชุมชน และปริมาณขยะจากขวดเหล้า-เบียร์ ซึ่งจากการสำรวจชาวบ้านทั้งหมด 1,070 คน ดื่มแอลกอฮอล์ถึง 522 คน หรือคิดเป็น 48.78 เปอร์เซ็นต์ "ปัญหาที่ตามมาคือเกิดอุบัติเหตุบ่อยจากความมึนเมา ขาดสติ โดยในรอบปีที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุถึง 10 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย พิการ 3 ราย ซ้ำยังเกิดการลักเล็กขโมยน้อย ครอบครัวแตกแยก ทะเลาะวิวาทในงานบุญ และ เมื่อมีงานศพ เจ้าภาพต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับเหล้าเลี้ยงแขก ถึงงานละ 30,000 บาท" ผู้ใหญ่บ้านดงยาง อธิบาย
วิธีการแก้ไขปัญหา จึงจัดตั้งสภาชุมชนร่วมกันทั้งบ้านดงยาง และบ้านพรพิบูลย์ ดึงผู้นำ ด้านต่างๆ เช่น ผู้นำคุ้ม ผู้นำหมู่บ้าน ครู พระ ผู้นำสตรี เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้ามาเป็น คณะกรรมการ แล้วจัดอบรมบทบาทหน้าที่ ก่อนพาไปศึกษาดูงานหมู่บ้านที่ดำเนินการ เลิกเหล้ามาแล้ว และกลับมาทำมติผ่าน ประชาคมหมู่บ้าน เชิญเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอเช่น นายอำเภอ สาธารณสุข เข้าร่วม พร้อมทั้ง ลงนามในพันธะสัญญาบนผ้าขาวขนาดใหญ่ แล้วติดไว้ในศาลากลางบ้าน และเมื่อถึงเทศกาลสำคัญเช่น เข้าพรรษา ก็ให้แต่ละคนเขียน พันธะสัญญาที่ตนเองจะปฏิบัติลงบนขวดแก้ว เช่น จะเลิกเหล้า-บุหรี่ ช่วงเข้าพรรษา แล้วนำ มาวางรวมกันไว้ ให้สังคม ชุมชนรับรู้ จะได้ช่วยกันสอดส่อง และคอยเตือนสติเมื่อพลั้งเผลอ ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดี นอกจากจะลดค่าใช้จ่าย ลดอุบัติเหตุจากความประมาทมึนเมาแล้ว ยังทำ ความสัมพันธ์ในครอบครัวกลับมาแน่นแฟ้น คนในบ้านหันหน้ามาพูดคุย ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมด้วยกันมากขึ้น
ขณะที่โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ต.โพนทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ บอกว่า การนวดแผนไทย และนวดฝ่าเท้า เป็นศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และความตึงเครียดตามจุดต่างๆ ในร่างกาย แต่หากศึกษาอย่างถี่ถ้วน จะพบว่าบริเวณเท้ามีปลายประสาทที่เชื่อมโยงไปสู่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย การกด 5 จุดที่นิ้วโป้งซ้าย จึงถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่พัฒนามาจากการนวดฝ่าเท้า และส่งผลสะท้อนไปยังส่วนสมอง ช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ เพราะเมื่อสูบจะรู้สึกรสชาติเปลี่ยนไปจนไม่อยากสูบอีก แต่ทั้งนี้ต้องนวดอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 2 สัปดาห์ และตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะเลิกบุหรี่ เพื่อให้เกิดกำลังใจอันแข็งแกร่ง
ประยงค์ ทองพระพักตร์ จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเทพพัฒนา อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ ผู้รับผิดชอบโครงการพลังวัฒนธรรมชุมชนกับการช่วยเลิกบุหรี่ ใน ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ เล่าถึงสาเหตุที่นำวัฒนธรรมชุมชน เข้ามากำหนดกลวิธีในการช่วยเลิกบุหรี่ว่า เกิดจาก การสำรวจพบว่าชาวบ้านใน ต.โคกมะม่วง ติดบุหรี่ มากถึง 2,346 คน จาก 10,000 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 27 และส่วนใหญ่มวนสูบเองมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 20 ปี ทำให้ปัญหาการเกิดโรคเรื้อรังมีแนวโน้มสูงขึ้น
ในการดำเนินงานของ รพ.สต.จึงเชิญชวนชาวบ้านที่สูบบุหรี่เข้าร่วมโครงการอย่างสมัครใจ เริ่มจากการตั้งจิตอธิษฐานเลิกบุหรี่ต่อหน้าพระพุทธรูปในวัด ใช้คาถาชุมนุมเทวดาเพื่อสร้างกำลังใจให้ผู้สูบบุหรี่เกิดความเชื่อมั่นในการเลิก แล้วให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านออกตรวจเยี่ยม อบรม และติดตาม ถึงบ้าน หากรายใดมีอาการอยากบุหรี่ ก็ใช้สมุนไพรช่วย เช่น มะนาว หรือรางจืด ขณะเดียวกัน ก็ให้ปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเป็นต้นแบบที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือช่วยเป็นวิทยากร และอาศัยระบบพี่น้อง ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถเลิกได้อย่างแท้จริง
เมื่อดำเนินการได้ 1 ปี พบว่ามีผู้เลิกบุหรี่ได้ถึง 430 คน จากผู้เข้าโครงการ 956 คน โดยเลิกได้ภายในระยะเวลา 1-6 เดือน ร้อยละ 16.57 ที่เหลือก็สามารถลด ละบุหรี่ได้ในเวลาต่อมา ทำให้ปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ในปอดลดลง ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีขึ้น
กิจกรรมต่างๆ ที่แต่ละพื้นที่จัดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมย์ที่จะให้ชุมชน ลด ละ เลิก เหล้า-บุหรี่ และเมื่อกระตุ้นให้คน ในท้องถิ่นมองเห็นปัญหา พร้อมทั้งตั้งเป้าหมาย ไว้อย่างเดียวกัน แล้วดำเนินกิจกรรมเสริมอื่นๆ โดยใช้นวัตกรรม วัฒนธรรมชุมชน รวมถึงความศรัทธา เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจที่เข้มแข็ง การเลิกเหล้า-บุหรี่ จึงเห็นผลในเชิงประจักษ์
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต