นวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยติดเตียง ต่อยอดแผนพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน
ชุมชนท้องถิ่นมีศักยภาพจัดการด้านการป้องกันโรค การดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่ต้องพึ่งพาโรงพยาบาลหรือหมอเพียงอย่างเดียว เปิดโอกาสให้ชุมชนคิดนวัตกรรมในการรักษาโรค การรวมกลุ่มทำงานดูแลผู้ป่วยในลักษณะจิตอาสา เหล่านี้คือตัวอย่างของการแพทย์องค์รวมในสังคมไทยที่เรียกว่า ระบบสุขภาพชุมชน
ในงานมหกรรมสุขภาพชุมชน ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “จากความรู้สู่ระบบการจัดการใหม่ จินตนาการเป็นจริงได้ไม่รู้จบ” ณ อิมแพ็คเมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 18-20 ม.ค. ที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากภาคีภาคต่าง ๆ อาทิ ของ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) องค์การอนามัยโลก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นต้น เป็นแกนกลางในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานในระบบบริการปฐมภูมิและงานสุขภาพชุมชน นักวิชาการ ผู้แทนจากองค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้บริหาร ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนในการพัฒนาระบบบริหารปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชนอย่างต่อเนื่อง
โรงพยาบาลแม่ลาว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ได้มาร่วมงานในครั้งนี้พร้อมนำนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยโดยชุมชนมาแสดงให้ผู้ร่วมงาน โดยทางชมรมจิตอาสาได้คิดค้นอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยหลังพบปัญหา เรื่องค่าใช้จ่ายและการเคลื่อนไหวที่ไม่สะดวกกายในรายผู้ป่วยติดเตียง ได้แก่ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้ โดยตั้งชื่อเรียกให้จำง่ายว่า “กางเกงซับได้ไม่สิ้นเปลือง” “เปิดเป้าเร้าใจ” กางเกงขาก๊วยไว้บริการสำหรับผู้หญิงที่ไม่ถนัดในการสวมผ้าถุงยามที่ต้องขึ้นขาหยั่งโดยออกแบบให้มีซิปสำหรับรูดเปิดปิดตรงเป้าง่ายต่อการทำงานของแพทย์ที่ไม่ต้องคอยบอกให้คนไข้ขยับก้นไปมาระหว่างตรวจมะเร็งปากมดลูก “สุขสบายไร้พุง” แผ่นพยุงหลังทำจากผ้าสำลีภายในบรรจุแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดลดอาการปวดหลัง ซึ่งมีราคาถูกกว่าท้องตลาดและใช้งานได้ไม่ต่างกัน
นวัตกรรมทางการแพทย์อีกตัว ชื่อ “เดี้ยงได้ก็สวยได้” ผ้ารองแขนสำหรับผู้ป่วยอัมพาตที่ต้องทำกายภาพเมื่อต้องใช้แขนในการชักรอก แต่ในช่วงระหว่างแขนต้องสัมผัสกับเชือกมีการเสียดสีทำให้คนป่วยรู้สึกไม่สบายจึงพาลไม่ทำกายภาพไป รวมทั้งเสื้อสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาแขนอ่อนแรงด้านหนึ่งเป็นเสื้อที่ออกแบบให้ผู้ป่วยใส่ง่ายถอดง่าย
สายอรุณ ใต้ฟ้าพูล และ ปาณิสรา มหาวรรณ์ 2 จิตอาสาจาก รพ.แม่ลาวเล่าว่า ในชุมชนมีคนไข้ติดเตียงทั้งอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคชราเกือบ 20 คน เมื่อออกไปจิตอาสาดูแลคนไข้ พบปัญหา ญาติคนป่วยนำผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำเร็จรูปที่มีขายในท้องตลาดไปซักนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะไม่มีเงินไปซื้อของใหม่ เฉลี่ยแล้วค่าดูแลคนป่วยติดเตียงเฉพาะผ้าอ้อมสำเร็จรูปเดือนละเกือบ 3,000 บาท สายอรุณซึ่งมีอาชีพเป็นช่างเย็บผ้าอยู่แล้ว จึงทดลองนำผ้าสำลีมาเย็บเป็นกางเกงผ้าอ้อม ภายในมีแผ่นรองซับอีกชั้นบุด้วยผ้าฝ้ายเพื่อให้ระบายความร้อน ทดลองให้ผู้ป่วยติดเตียงใช้ปรากฏว่าได้ผลดี เนื้อผ้าสำลีที่นุ่มทำให้ใส่สบาย คำนวณค่าใช้จ่ายค่าผ้าแล้วตกชุดละ 200 บาท มีอายุใช้นานนับปี โดยได้รับงบประมาณจาก อบจ. ดำเนินการซื้อผ้ามาตัดเย็บแจกให้ผู้ป่วย
จากผ้าอ้อมต่อยอดมาเป็นแผ่นพยุงหลัง แผ่นรองแขน โดยใช้ผ้าสำลีบุด้วยผ้าฝ้ายเช่นกัน ปัจจุบันนวัตกรรมของจิตอาสาโรงพยาบาลแม่ลาวปัจจุบันกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มของโรงพยาบาลสุขภาพตำบลและกลุ่มจิตอาสาในจังหวัดอื่น ๆ มียอดสั่งสินค้าเข้ามาจนผลิตแทบไม่ทัน
“ผ้าอ้อมยิ่งเป็นสีสันด้วยคนไข้จะชอบ ทำให้เขามีกำลังใจอยากทำกายภาพ” สายอรุณบอกเล่าตัวอย่างการทำงานป้องกันโรคและดูแลผู้ป่วยโดยชุมชนผ่านจิตอาสาของโรงพยาบาลแม่ลาวเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายให้เกิดความเข้มแข็งของระบบสุขภาพชุมชนซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน
“จะมุ่งพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนให้เกิดขึ้น 4,000 ตำบลทั่วประเทศครอบคลุมในปี 2558 ประเดิม 100 ตำบลในปีแรกในปีนี้” นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุ
ด้าน ดร.มัวรีน อี.บรีมิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนของประเทศไทยอยู่ในความสนใจขององค์การอนามัยโลกที่จะนำไปเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นในภูมิภาคเพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเน้นการป้องกันโรคมากกว่ารักษา
งบประมาณทางสาธารณสุขมหาศาล เทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้า แพทย์ที่มีทักษะสูงไม่เป็นหลักประกันว่าคนในประเทศจะมีระบบสุขภาพที่ดี ถ้าบริการนั้นไม่มีคุณภาพ ไม่มีความทั่วถึงทางการแพทย์ในคนทุกระดับ ระบบสุขภาพชุมชนเห็นประโยชน์ชัดว่าลดจำนวนคนไข้ไม่ให้เข้าไปแออัดในโรงพยาบาล หมอมีเวลาบริการคนไข้ได้ดีขึ้น คนไข้มีกำลังใจดีขึ้นยามเจ็บป่วยได้อยู่กับครอบครัว
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์