นวัตกรรมสร้างสุขภาวะชุมชน รร.วชิรวิทย์ จ.เชียงใหม่

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ข่าวสด


นวัตกรรมสร้างสุขภาวะชุมชน รร.วชิรวิทย์ จ.เชียงใหม่  thaihealth


‘NPK easy’นวัตกรรมสร้างสุขภาวะชุมชน โรงเรียนวชิรวิทย์ จ.เชียงใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งประกวดผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.


“หนองป่าครั่ง” เป็นตำบลหนึ่งที่อยู่ติดกับพื้นที่ของตัวเมืองเชียงใหม่ อยู่ในสถานะเทศบาลตำบลประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน เป็นชุมชนเมืองที่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง มีมหาวิทยาลัย มีโรงเรียน และสถานประกอบกิจการต่างๆ ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งงานจำนวนมาก จึงกลายเป็นชุมชนที่มีทั้งประชากรดั้งเดิมและมีประชากรแฝงซึ่งอพยพเข้ามาทำงานมากกว่าประชากรในพื้นที่


และภายใต้สังคมกึ่งเมืองที่กำลังขยายตัวทำให้ชุมชนหนองป่าครั่งมีปัญหาด้านสุขภาวะแฝงอยู่ในชุมชนหลายด้าน อาทิ ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาโภชนาการปนเปื้อนสารเคมี ปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ จากวิธีการกำจัดเศษใบไม้ของชาวบ้านด้วยการเผา ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนวชิรวิทย์คิดหาหนทางที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในชุมชนที่มีผลกระทบต่อตนเอง


ประกอบกับทางโรงเรียนมีกิจกรรมของ “ชมรมเกษตรพอเพียง” ซึ่งได้รับความรู้จากการไปดูงานในที่ต่างๆ และได้นำมาทดลองทำและประยุกต์ใช้ภายในโรงเรียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเกิดแนวคิดที่จะนำเอาความรู้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่มีอยู่จากชมรมออกไปเผยแพร่สู่ชุมชน


“จากความรู้ที่มี เราพัฒนาเป็น 5 นวัตกรรมเผยแพร่สู่ชุมชน ได้แก่ สะดิ้งไฮโซ ถังขยะออมเงิน ผักไฮโดรออร์แกนิกส์ บ้านไส้เดือน AFและBaby Nutri life เพาะต้นอ่อนผักค่ะ” “น้องแบม” ณัฐริกา ไลย์ นักเรียนชมรมเกษตรพอเพียง โรงเรียนวชิรวิทย์ เล่า


แม้การเลี้ยงไส้เดือนจิ้งหรีดหรือปลูกผักเพาะต้นอ่อนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการผลิตอาหารออร์แกนิกส์และชุมชนเกษตร แต่กิจกรรมของชมรมเกษตรพอเพียงโรงเรียนวชิรวิทย์ นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมอย่างเต็มภาคภูมิเพราะสามารถประยุกต์ความรู้ทั่วไปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของโรงเรียนและชุมชนที่มีพื้นที่จำกัดด้วยการออกแบบ “คอนโดจิ้งหรีดและไส้เดือน” รวมไปถึงการนำกล่องโฟมซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากร้านอาหารในท้องถิ่นมา “ปลูกผักไฮโดรออร์แกนิกส์” ที่ออกแบบให้ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อหมุนวนน้ำ และกลุ่มกิจกรรมของชมรมยังสามารถเวียนใช้ผลผลิตได้ เช่น การนำ “ปุ๋ยจากไส้เดือน” ที่ผลิตมาใช้กับการปลูกผัก


และนอกจากนั้น “ถังขยะออมเงิน” ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายก็ถูกพัฒนามาจากปัญหาขยะและเศษใบไม้ในชุมชน ถังขยะธรรมดาเพื่อการรีไซเคิลถูกนำมาทำเป็นถังปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ เพื่อใช้หมักเศษใบไม้โดยจะใช้เวลาในการหมักที่เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการกำจัดเศษใบไม้ด้วยเผาที่ทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และนำปุ๋ยที่ได้ไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ


ความภาคภูมิใจในผลสำเร็จของชมรมผลักดันให้เยาวชนนักกิจกรรมก้าวเข้าสู่ความต้องการที่จะเผยแพร่ผลงานของตนเองในวงกว้างมากขึ้น ทั้งสองจึงร่วมกับ “น้องนุ้ย” ดวงกมล เลี้ยงเชื้อ เพื่อนสมาชิกชมรมเกษตรพอเพียงต่อยอดผลงานที่ทำในชื่อ “โครงงาน NPK easy” และส่งกิจกรรมเข้าร่วมประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพหรือThaiHealth INNO Awards ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อบ่มเพาะ “เมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” โดยเปิดโอกาสให้กับเยาวชนที่รุ่นใหม่ระดับมัธยมและอาชีวศึกษาได้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ในรูปแบบแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ หรือส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีในทุกๆ ด้าน


หลังเข้าร่วมกิจกรรม Workshop เพื่อเปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ในการนำนวัตกรรมมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพของชุมชน กลุ่มสาวน้อยนักคิด WS Stable inno ทั้งสามก็ก้าวข้ามตนเองไปอีกขั้นด้วยการพัฒนาผลผลิตที่ได้ไปสู่การรับซื้อผลผลิตจากชุมชนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปผลผลิต ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และจัดจำหน่าย จากแมงสะดิ้งแช่แข็งกลายเป็น “แมงสะดิ้งทอด” จากผักสลัดไฮโดรออร์แกนิกส์กลายเป็น “สลัดโรลพร้อมรับประทาน” บรรจุภัณฑ์ของ “ปุ๋ยไส้เดือน” ทั้งอย่างแห้งและน้ำถูกคิดค้นขึ้นอย่างสวยงาม


ที่สำคัญที่สุดคือ กระบวนการเหล่านี้ถูกถ่ายทอดไปลงสู่ชุมชนพร้อมๆ กับความรู้เรื่องการทำบัญชีรับจ่ายให้ชุมชนรู้จักการทำบัญชีเพื่อการค้า และรวมไปถึงการเปิดตลาดกลางการซื้อขายขึ้นในโรงเรียน


จากผลงานทั้งหมด134ทีม ผ่านการคัดเลือกรอบแล้วรอบเล่า “โครงงาน NPK easy” โดยทีมสาวๆ นักคิด “WS Stable inno” จากโรงเรียนวชิรวิทย์ ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา ครูวิลาวัลย์ หล้าหลอด ที่ปรึกษา ก็ทะลุผ่านเข้าสู่รอบ 19 ทีมสุดท้าย และโดนใจคณะกรรมการในรอบตัดสินจนสามารถคว้า“รางวัลชนะเลิศ” จากการประกวด นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth INNO Awards ในระดับมัธยมศึกษาไปครองได้จากนวัตกรรมง่ายๆ แต่ใช้ได้จริงในชุมชน


ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนงานนวัตกรรม สสส. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายมัธยมศึกษา อธิบายปัจจัยแห่งความสำเร็จของทีมสาวน้อย WS Stable inno ซึ่งกรรมการทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่ามีความโดดเด่นและสมบูรณ์ ควรค่าแก่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาในการประกวดครั้งนี้


ถึงแม้ทั้งสามสาวน้อยกำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษานี้ แต่ก็ได้วางแผนสืบทอดการทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะในชุมชนหนองป่าครั้งต่อเนื่องไว้แล้วโดยส่งต่องานให้แก่รุ่นน้องในชมรม


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และนักเรียนสายอาชีวศึกษา มีโจทย์หลักคือความต้องการที่จะเปลี่ยนสังคมรอบตัวด้วยแนวคิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาหรือส่งเสริมสุขภาพของชุมชน หรือในเชิงประเด็นทางสังคมที่สามารถขยายผลในวงกว้างได้

Shares:
QR Code :
QR Code