นวัตกรรมสร้างบุญ…ไม่ต้องเข้าวัด
12 ปีที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่จุดประกายให้คนมีความสุขจากสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 มิติได้แก่ กาย จิต ปัญญา สังคม คำกล่าวที่ว่าสุขด้วยปัญญานั้นอาจหาคำนิยามที่ยากแก่การเข้าใจ แต่การเดินทางหาความสุขด้วยปัญญาผ่านนวัตกรรมทางการกระทำและความคิด จะช่วยเป็นแผนที่นำทางว่าทุกวันนี้เราสามารถหาความสุขด้วยปัญญาจากด้านใดบ้าง
สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) ภายใต้สังกัด สสส. ได้ขับเคลื่อนการทำงานในมิติสุขภาวะทางปัญญา ผ่านความร่วมมือชักชวนฟันเฟืองเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชน คนทำงาน ท้องถิ่น ชุมชน ให้มีพื้นที่แสดงพลังผลักดันกิจกรรมสร้างสุขทางปัญญา สู่เป้าหมายใหญ่ที่อยากจะเห็นสังคมไทยน่าอยู่ ในโอกาสครบรอบ 12 ปี สสส. ได้จัดงานสานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจในวันนั้นมีเวทีนวัตกรรมสร้างสุขด้วยปัญญา เป็นการแบ่งปันประสบการณ์การทำงานจากเครือข่าย ที่ทำงานสร้างสุขด้วยปัญญา
“กลุ่มทำมะ” เกิดจากกลุ่มบุคคลอิสระรวมตัวกันในนาม “กลุ่มทำมะ” มีความคิดที่อยากจะเชิญชวนให้คนในสังคมที่คิดจะเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มจากตัวเองถึงสิ่งบกพร่องของตัวเอง พร้อมกับเน้นให้กระทำซ้ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 21 วัน เนื่องจากมีรายงานวิจัยจากต่างประเทศว่า การทำพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งเป็นเวลาต่อเนื่องเกินกว่า 21 วันจะทำให้พฤติกรรมนั้นเป็นนิสัยของบุคคลนั้น
กุณฑ์ สุจริตกุล ชายหนุ่มผู้นำกลุ่มบุคคลอิสระรวมตัวกันในนาม กลุ่มทำมะ กล่าวว่า เขาเริ่มต้นจากตัวเองด้วยการนำจุดบกพร่องของชีวิตคิดการติดบุหรี่ และเลิกบุหรี่ได้ใน 26 วันโดยเชื่อมโยงกับ วาระของพุทธชยันตี โดยเอาเลข 2600 อยากให้คน 2600 มาเปลี่ยนแปลงตนเอง 26 วันประเด็นหลักสร้างเรื่องศีล เพราะคนไทยเน้นเรื่องทำทานทำให้ดูสมัยใหม่มาใช้ไม่ดูน่าเบื่อ แล้วให้คนกลุ่มนี้ ทำหน้าที่เชื่อมโยงแล้วสร้างเว็บไซต์เป็นแอพพลิเคชั่นในมือถือ ในปีแรกสร้างธรรมะให้มีความเป็นสมัยใหม่พัฒนาโครงการระดับหนึ่ง ใช้ธรรมะ
“ค้นพบว่าสุขภาวะทางปัญญาเกิดจากการทำซ้ำอดทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่น่าเบื่อ จนค้นพบว่าธรรมะมีไว้เพื่อสร้างนวัตกรรมความสุขให้คนเมือง ธรรมะจะช่วยเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นคนใหม่ในที่เดิม ๆ”
กลุ่มมะขามป้อมตัวอย่างของกลุ่มเครือข่ายสำคัญที่ทำงานร่วมกับ สสส. มาตั้งแต่ปี 2552 โดยใช้กิจกรรมละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดดเด่นในด้านที่ว่า “ละครชุมชน” ส่งเสริมให้เยาวชนลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริงค้นหาภูมิปัญญาวัฒนธรรมในท้องถิ่น และนำมาเขียนเป็นบทละครเล่นเอง
“มองว่าสังคมไทยอินกับละครมาก ในปีแรกใช้กระบวนการสร้างองค์ความรู้ สิ่งที่ยากคือ ต้องต่อสู้กับรายการประกวดร้องเพลง มองว่าประเทศมีความจำเป็นมากที่ต้องมีนักร้องเยอะ ดังนั้นปีแรกต้องทำความเข้าใจ เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์” พฤหัส พหลกุลบุตร ผู้นำกลุ่มมะขามป้อมบอกเล่าประสบการณ์ทำงาน
พฤหัส บอกว่าวิธีใช้ละครมาเปลี่ยนแปลงสังคม โดยให้โจทย์แนวคิดเรื่องของละครโดยใช้ข้อมูลชุมชน ให้เด็กออกไปเก็บข้อมูล ปัญหาในหมู่บ้าน ภูมิปัญญาหมู่บ้าน เพราะขณะนี้ ทุกชุมชนได้รับของขวัญ เช่นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่าง ๆ นำปัญหาไปแสดงละครให้ชาวบ้านดู ซึ่งคาดหวังว่าการใช้ละครมาเปลี่ยนสังคมคือก่อให้วงสนทนาก่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนในชุมชน
เครือข่ายพุทธิกา คือเครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทยที่มุ่งสร้างทัศนคติ 4 ประการ คือการคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง การไม่พึ่งพิงความสุขจากวัตถุเพียงอย่างเดียว การเชื่อมั่นในความเพียรไม่หวังลาภลอย และรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล เกื้อกูลและเป็นประโยชน์
ธวัชชัย โตสิตระกูล ผู้นำเครือข่ายพุทธิกาสุขแท้ด้วยปัญญา กล่าวว่า การทำงานเพื่อจะสะท้อนว่าการมีเงินทอง ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสุข มองว่าคนส่วนใหญ่ยังเห็นแก่ตัวไม่สนใจว่าความสุขได้มาจะทำให้คนอื่นจะเป็นทุกข์ แต่ความสุขมีอย่างอื่นเช่นความสงบ ความสุขอยู่กับธรรมชาติ โดยมอบทุนสนับสนุนให้กับการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาและติดตามผล
“คิดว่าการออกหนังสือธรรมะ พระเทศน์สังคมมีมากแล้ว จึงคิดว่ามีกระบวนการเรียนรู้ด้านอื่นหรือไม่ ทำอย่างไรให้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทำให้คนมีพลังและมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกัน สุดท้ายเอาบทเรียนเชื่อมโยงจะเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไร”ผู้นำเครือข่ายพุทธิกาสุขแท้ด้วยปัญญา บอกเล่า
การทำงานเพื่อให้สังคมดีขึ้นของเหล่าเครือข่ายเหล่านี้ใช้หลักเมตตา การแบ่งปัน เสียสละลดอัตตาในตัวเอง ทำเพื่อผู้อื่น ผลที่ได้คือเป็นผู้มีจิตใจสงบเย็น ปล่อยวาง คือการปฏิบัติตามหลักธรรมะของพุทธศาสนาเหล่านี้คือบุญอันยิ่งใหญ่ที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสู่วัดเพียงอย่างเดียว
สำหรับผู้มีแนวคิดเพื่อสร้างสังคมให้มีสุขภาวะทางปัญญา สามารถส่งโครงการเพื่อพิจารณางบประมาณสนับสนุนได้ที่สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สสส. www.thaihealth.or.th www.facebook.com/section6th
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย พรประไพ เสือเขียว