นวัตกรรมพลังงานชุมชน ‘คิดเอง ใช้เอง’

 

นวัตกรรมพลังงานชุมชน 'คิดเอง ใช้เอง'

 

ทำไมต้องมาส่งเสริมให้ชุมชนผลิตนวัตกรรมพลังงานใช้เอง คำตอบคือพลังงาน สิ่งแวดล้อม และโลกร้อนมันเกี่ยวโยงกัน กัลยา  นาคลังกา ผู้จัดการฝ่ายพลังงานชุมชน มูลนิธินโยบายสุขภาวะเริ่มต้นบทสนทนา ในฐานะคนกลางที่ต้องเข้าหาชุมชนจากทั่วประเทศให้เป็นแนวร่วมในการ  “คิดค้น” นวัตกรรมใหม่ๆ ด้านพลังงานสำหรับชุมชน

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อช่วง 4 ปีก่อน หลังจากที่ มูลนิธินโยบายสุขภาวะชุมชนเริ่มมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศนั้น เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และพลังงานได้โดยตรง เพราะถ้าใช้พลังงาน ผลิตขยะมากก็ต้องใช้ทรัพยากรมาก  เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมตามมา และเป็นตัวการทำให้เกิดโลกร้อนขึ้น

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการส่งเสริม ให้ชุมชน และนักวิจัยในท้องถิ่นหาวิธีการประหยัดพลังงานเอง เนื่องจากแต่ละชุมชนจะมีวัตถุดิบที่แตกต่างกันออกไป โดยได้รับงบจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ใช้เป็นทุนส่งเสริมให้กับชุมชน 24 แห่ง ที่สนใจทำงานกับเราในปีแรก แต่กลับ พบว่ามีนวัตกรรมพลังงานเกิดขึ้น มากทีเดียว

ผลผลิตหรือนวัตกรรมพลังงานของชุมชนที่ กัลยา เล่าถึงก็คือ เตาแก๊สพลังงานแกลบที่ได้จากของเหลือใช้ในชุมชน กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าที่ชุมชนคีรีวงศ์ จ.นครศรีธรรมราช การผลิตก๊าซชีวภาพจากเปลือก กล้วย จากชุมชนพ่อตาหินช้าง จ.ชุมพร ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียยางแผ่น และเศษอาหาร ในเกาะหมากน้อย จ.พังงา การผลิตพลังงานครบวงจรที่บ้านป่าเด็ง จ.เพชรบุรี หรือแม้แต่การทำ กังหันผุดน้ำ ของชาวนาที่แปลงเกษตรอินทรีย์ที่ จ.ยโสธร เป็นต้น เธอบอกว่า ผลงานในปีแรก ถือว่าเยี่ยมแล้ว สำหรับการเปิดโลกพลังงานในชุมชน ทำให้ก้าวต่อมา จึงมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายและขยายผลในพื้นที่ของตัวเองด้วยภายใต้เครือข่ายพลังงานหมุนเวียน

“พอปี 2553-2554 ทาง สสส.  ก็เห็นว่ามีทางเป็นไปได้จึงสนับสนุนเป็น 48 แห่ง กระบวนการหลักๆ ที่ยังสนับสนุนให้ทั้ง 48 ชุมชนหาพลังงาน ใช้เอง โดยมีคนประสานงานกลางในพื้นที่ ซึ่งไปไกลถึงขั้นการตั้งศูนย์พลังงานเรียนรู้ในระดับภูมิภาคขึ้น  โดยให้มหาวิทยาลัยในภูมิภาคเป็น ตัวเชื่อมการทำงานกับชุมชน ทั้ง ทางด้านเทคนิค และลงพื้นที่ชุมชน  เช่น ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นต้น”

ในรอบนี้เราค้นพบว่าคนที่ขับเคลื่อน การทำงานในชุมชน ส่วนหนึ่งมาจากพวกช่างชุมชน เช่น ช่างปูน ช่างเหล็ก ช่างไม้ ที่กลายเป็นนักพัฒนาพลังงานในชุมชน เพราะหลายกรณีแม้แต่นักวิชาการ ยังหาคำตอบไม่เจอ แต่พวกช่างชุมชน กลับค้นพบคำตอบได้

“มีอยู่หลายแห่งที่ช่างชุมชน เป็น คนคิดค้นและต่อยอดนวัตกรรมพลังงาน เช่น แค่เราวาดรูปถังไบโอแก๊ส ช่างคนหนึ่ง พอกลับไปก็ทำกลับมา ซึ่งบางเรื่องนักวิชาการแก้ไม่ตก เช่น โดมครอบไบโอแก๊ส ซึ่งต้องทำ ครอบวงปูนห้องน้ำ แต่ฝาต้องทำเป็นโดม เพราะถ้าไบโอแก๊สต้องคลุมให้สนิท ปรากฏว่าเขาไปเห็นสุ่มไก่บ้านตัวเอง  ก็เอามาเป็นแบบทำโดมไบโอแก๊สสำหรับชุมชน ดังนั้น การขับเคลื่อนนอกจากจะอาศัยนักวิชาการแล้วยังมีพวกช่างชุมชน เป็นกำลังสำคัญ” กัลยา บอก

เป้าหมายการทำงานในอีก 2 ปี ข้างหน้าจำเป็นต้องมองภาพรวมอีกรอบว่า ทิศทางการพัฒนาพลังงานในอนาคตเป็นรายพื้นที่ และต่อยอดนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง เพื่อให้ขยายผลในระดับชุมชนได้จริง ขณะที่ยังวาดฝันที่ขยายผลในชุมชนเมือง รวมทั้งชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติการคิดค้นพลังงานใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อลดรายจ่าย และช่วยโลก ซึ่งยอมรับว่า เป็นเรื่องยาก เพราะพฤติกรรมของคนเมืองคงไม่ชอบความยุ่งยาก

ความยุ่งยากนี้ กลับตรงกันข้ามกับการปฏิวัติพลังงานของชุมชนบ้านป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  ซึ่งทำมาหลายปีก่อนที่โลกจะเข้าสู่ ยุควิกฤติพลังงาน

โกศล แสงทอง ประธานเครือข่าย รวมใจตามรอยพ่อ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี บอกว่า ความท้าทายในการหาแหล่งพลังงานให้ชุมชนแห่งนี้ เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันของหมู่บ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่ อ.แก่งกระจาน เนื่องจาก สภาพพื้นที่ของ ต.ป่าเด็ง ในโซนใต้ของ อ.แก่งกระจาน ติดกับอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน ซึ่งมี 10 หมูบ้านแต่ในจำนวนนี้ยังมีบางหมู่บ้านที่ระบบไฟฟ้า และสาธารณูปโภคเข้าไม่ถึง เนื่องจาก ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเกือบ 100%

ในจำนวนนี้ 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 2, 3, 4, 5, 6 ซึ่งอยู่ในโครงการพระราชดำริ เพราะถือเป็นผู้อพยพตั้งแต่สมัยสัมปทานป่าไม้ เมื่อช่วง 30 ปีก่อนได้มีการส่งเสริมให้เลี้ยงโคนม เป็นส่วนใหญ่เฉลี่ยหมู่บ้านละประมาณ 100 ครอบครัว น่าจะมี วัวนมวัวเนื้อรวมกันมากกว่า 5,000 ตัว ผมในฐานะที่เป็นชาวบ้านที่นั่น เดิมไม่สนใจ เรื่องพลังงาน แต่สนใจเรื่องเศรษฐกิจ พอเพียงก็รวมคนสัก 10 คนใน 10 หมู่ บ้านทำอย่างไรจะทำให้พึ่งพาตัวเองได้ กระทั่งได้อ่านเจอเรื่องการทำแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ เลยปิ๊งกับตรงนี้ เพราะบ้านเรามีขี้วัวเยอะมาก”

หลังจากนั้นเขาเดินหน้าลุยทันที เริ่มจากไปดูงานที่ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน จ.กาญจนบุรี และเริ่มทดลองผลิตบ่อหมักแก๊สชีวภาพจากขี้วัวเอง โดยใช้ถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร เอาขี้วัวลงไปหมัก ลองไว้ทั้งกลางแจ้ง ในร่ม ใต้ต้นไม้ เพื่อดูว่าแต่ละสภาพมันจะให้แก๊สได้อย่างไร ก็พบว่าขี้วัวที่หมักไว้ 7 วันด้วยถังขนาด 200 ลิตรจะให้แก๊สมีเทนออกมา ใช้งานได้ 15 นาทีเท่านั้น เรียกว่าพอแค่ต้มน้ำให้เดือด หรือทอดไข่ได้

“เรารู้แล้วว่าใช้ได้จริงเลยมาปรับว่า ถ้าใหญ่ถัง 200 ลิตรโดยใช้วัสดุเป็น ถังปูนซีเมนต์ 3 อันฉาบติดกันแล้ว ครอบด้วยถังน้ำขนาด 500 ลิตรก็พบว่ามันผลิตแก๊สได้มากขึ้นเป็นชั่วโมงเศษๆ  ซึ่งเป็นจังหวะที่ของบจากมูลนิธิได้มาจำนวน 2 แสนบาทสำหรับอบรม ดูงาน และผลิตเตาแก๊สชีวภาพสำหรับคนในชุมชนขึ้นได้เพิ่มเป็น 23 บ่อ เรียกว่าสามารถทดแทนการซื้อแก๊ส และตัดไม้ในพื้นที่เพื่อนำมาทำถ่านได้มาก โดยอาศัยหลักการว่าถ้ายิ่งขยันเติมขี้วัว แก๊สก็จะได้เพิ่ม”

ไม่เพียงแต่การทำเตาแก๊สหมัก จากขี้วัวเท่านั้น แต่เขายังร่วมกับแกนนำของชุมชนซึ่งขณะนี้ขยายสมาชิกเป็น  30 ครอบครัวแล้ว จะตั้งวงถกกันทุกวันที่ 16 ของทุกเดือนหารือถึงแนวทางการพึ่งพาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาคน การส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อรักษา สิ่งแวดล้อมและทำไม้ใช้สอยและสุดท้ายเรื่องพลังงาน โดยทำให้เราได้นวัตกรรมตัวที่ 2 ขึ้นมาก็คือเตาถ่าน ระบบปิดที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ จากเดิมที่คนส่วนใหญ่จะเผาด้วย ระบบเปิดทำให้เกิดควันที่เกิดอันตราย โดยได้ผลิตเตาเผาถ่านแบบปิดขึ้นแจกจ่ายในชุมชนตอนนี้มี 27 ชุด ซึ่งเราจะใช้วิธีขอถ่านคืน 1 กระสอบนำมาขายและนำเงินมาผลิตเตาเผาให้กับสมาชิกคนอื่นๆ  ที่สำคัญจะเช็คได้ด้วยว่าไม้ที่นำมาเผา เป็นไม้ที่ตัดมาจากป่าหรือไม่

“เตาเผาระบบปิดนอกจากไม่มี ผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว เรายังได้ น้ำส้มควันไม้เอาไว้ใช้ไล่แมลง อีกด้วย ส่วนพลังงานอื่นๆ ที่ทำต่อยอดมาเรื่อยๆ ก็คือการทำไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายนัก เพราะกระบวนการยังยุ่งยาก เช่นเดียวกับการคิดหาแนวทางแก้ปัญหาตัวหม้อแปลง บนแผงโซลาร์เซลล์ ที่มักจะเสียบ่อยๆ และมีอายุการใช้งานแค่ 3 ปี แต่ผมก็ไปที่ดูงาน และได้ความรู้มาว่าหม้อแปลงสำนักงานนำมาใช้ทดแทนกันได้ โดยลองไปขอหม้อแปลงสำนักงานที่เขาเลือกใช้มาซ่อมกับแผง โซลาร์ที่เสียให้กลับมาใช้ใหม่ได้สัก  10 ตัวแล้ว

เมื่อถามว่าทำไมชุมชนแห่งนี้ถึงต้องหาพลังงานใช้เองมากมายขนาดนี้ โกศล บอกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากทดลอง ถ้าทำได้จริง ก็จะเกิดความตื่นเต้น แล้วก็อยากลุยต่อ เกิดจินตนาการขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราพบว่าในชุมชนเรามีวัตถุดิบมากมาย ทั้งซังข้าวโพด มูลสัตว์ ไม้ฟืน มัน สามารถผลิตเป็นพลังงานให้กับชุมชนได้

“ผมว่าสิ่งที่ชุมชนช่วยกันทำ มันไปไกลกว่าที่จะบอกว่าเจอวิกฤติพลังงาน เพราะเราคุยกันถึงสถานการณ์ของโลก พลังงานของโลก ทิศทางจะเป็นอย่างไร เราจะลดต้นทุนการผลิต ลดการพึ่งพาการใช้พลังงานอย่างไร ซึ่งมันสามารถตอบโจทย์ปัจจุบันได้ดี จากสิ่งที่พวกเราทำ” โกศล บอกทิ้งท้าย

วันนี้..ชุมชนของคุณลุกขึ้นมาหาพลังงานใช้หรือยัง?

สิ่งที่ชุมชนช่วยกันทำ ไปไกลกว่าที่จะ บอกว่าเจอ วิกฤติพลังงาน เพราะเราคุยกันถึงสถานการณ์ของโลก พลังงานของโลก ทิศทางจะเป็นอย่างไร เราจะลดต้นทุน การผลิต ลดการ พึ่งพาการใช้พลังงานอย่างไร  ซึ่งสามารถ ตอบโจทย์ปัจจุบัน ได้ดี จากสิ่งที่เราทำ

ขี้วัวหมัก 7 วัน ด้วยถังขนาด 200 ลิตรได้แก๊สมีเทนมาใช้งาน 15 นาที

 

         

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code