นมแม่คือ ‘หลักชัย’ ป้องกันโรคภัยและมีชัยชนะตลอดชีวิต
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยจัดงานสัปดาห์นมแม่โลกวันที่ 3 สิงหาคม 2557 ณ อาคารสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รณรงค์หญิงตั้งครรภ์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยนาน 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตลอดจน “แม่ออนไลน์” แสดงพลัง “ปฎิเสธ” การแจก – การรับนมผง เพื่อกระตุ้นกระแสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างยั่งยืน และสนับสนุน พรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก
แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ประกาศคำขวัญวันสัปดาห์นมแม่โลก 2557 Breastfeeding : A Winning Goal – For Life! – “นมแม่ คือหลักชัย ปกป้องโรคภัยตลอดชีวิต” มีความหมายคือ การให้นมแม่เป็นการเริ่มต้นที่ดี เมื่อแม่ตั้งเป้าหมายที่จะให้นมแม่ เท่ากับแม่ได้ตั้งหลักชัยให้กับลูกตั้งแต่แรกเกิด มุ่งสู่การป้องกันโรคภัยและมีชัยชนะตลอดชีวิต
แพทย์หญิงศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล ประธานคณะกรรมการเว็บไซต์มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มแม่อาสาเป็นผู้ร่วมจัดงานสัปดาห์นมแม่โลก 2557 ในครั้งนี้ ขณะนี้มีสมาชิกกลุ่มออนไลน์มากกว่า 30,000 คน ที่ใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คค้นหาความรู้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถูกต้อง ทำให้มีกลุ่มเพื่อนที่สนับสนุนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผ่านเพจ www.facebook.com/Thaibf อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างเสริมให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานขึ้น
“เหตุผลทำไมจึงต้องมี กฎหมายว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ( International Code of Marketing of Breastmilk substitutes) หรือที่เรียกสั้นๆว่า “Code นม” – Code นม ไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่จะห้ามการใช้ หรือ ขายนมผงดัดแปลงสำหรับทารกและเด็กเล็ก แต่มีวัตถุประสงค์ที่จะ ให้สังคมมั่นใจว่า – มีการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อที่ พ่อแม่จะไม่ถูกชักจูงให้เข้าใจเรื่องการให้นมแม่อย่างผิดๆ โดยการตลาด และการโฆษณานมผง พ่อแม่ต้องตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ได้รับมาทั้งสองด้านอย่างละเอียด และเมื่อตัดสินใจอย่างไรแล้ว สังคมรอบตัวจะสนับสนุนคู่แม่ลูกอย่างดีที่สุด”
แพทย์หญิงศิริพัฒนา กล่าวเสริมว่า ความหมายของคำขวัญ สัปดาห์นมแม่โลก 2557 – นมแม่ คือหลักชัย ปกป้องโรคภัยตลอดชีวิต ได้ครอบคลุมถึงชัยชนะ 4 ขั้น ได้แก่ ชัยชนะขั้นแรก คือ การเอาชนะใจตนเองของแม่, ชัยชนะขั้นที่สองคือ ชัยชนะของลูกในการเริ่มชีวิตใหม่, ชัยชนะขั้นที่สามคือ ชนะโรคภัย และชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ชัยชนะสำหรับสังคมโลกส่วนรวม
ขั้นแรกของชัยชนะ คือ การเอาชนะใจตนเองของแม่ เมื่อมีลูกเพิ่มเข้ามาในชีวิต แม่จะต้องมีการปรับตัวปรับใจครั้งใหญ่ เพื่อที่จะน้อมนำใจตนเอง เข้าหาใจของลูก รับรู้ผ่านทางใจของลูก เรียนรู้เพื่อให้ความต้องการของลูกมาก่อนความต้องการของตนเอง และตอบสนองให้ถูกกาลเทศะ ความสุขสบายส่วนตัวของแม่อาจจะลดน้อยลงไปบ้าง แต่เพื่อลูก แม่จะเอาชนะใจตนเองอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก และนำไปสู่ความสำเร็จในการให้นมแม่
ขั้นต่อไปคือ ชัยชนะของลูกในการเริ่มชีวิตใหม่ ทารกแรกเกิดคลอดออกมาพร้อมที่จะใช้สัญชาติญาณในการคลานไปบนอกแม่ และหาเต้านมและหัวนมแม่ เพื่อเริ่มต้นดูดนมแม่ หากแม่ให้โอกาสลูกได้ใช้เวลาอย่างไม่รีบเร่ง แม่จะค่อยๆซึมซับความมหัศจรรย์ ของลูกตัวน้อยๆ ที่แนบอยู่บนอกอุ่นของแม่ เมื่อลูกพบหัวนมก็จะอ้าปากงับและดูดอย่างมีความสุข ลูกได้เรียนรู้แล้วว่าเต้านี้คือแหล่งอาหารและความอบอุ่น ลูกจะฝึกการดูดอย่างขยันขันแข็ง ลูกค่อยๆเรียนรู้ว่า ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ หากมีความพยายาม ก็จะนำไปสู่ชัยชนะ และความสำเร็จ
ชัยชนะต่อไปคือ ชนะโรคภัย เพราะนมแม่มีสารภูมิต้านทานเฉพาะเจาะจงสำหรับเชื้อที่แม่เคยได้รับมาก่อน ลูกที่กินนมแม่จึงได้สารภูมิต้านทานนั้นๆ และเซลล์ที่มีชีวิตเข้าไปด้วย ทำให้ป่วยน้อยลง พบว่า ทารกที่กินนมแม่เป็นโรคท้องเสีย ทางเดินหายใจอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบน้อยกว่าทารกที่ไม่ได้นมแม่ นอกจากนี้ ยังพบว่าทารกที่กินนมแม่ยังลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้ถึงร้อยละ 24
ครอบครัวนมแม่ ชนะภัยทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่ต้องเสียเงินซื้อนมผงสำเร็จรูป และลูกแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บป่วย ไม่ต้องเทียวหาหมอรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ถ้าครอบครัวสามารถเก็บออมเงินส่วนที่ประหยัดนี้ไว้ได้ ก็จะมีทุนเพื่อการศึกษาของลูกเตรียมไว้พร้อมสรรพสำหรับอนาคตสถานที่ทำงานที่ส่งเสริมการให้นมแม่ ชนะใจแม่ให้นม การทำงานจึงมีประสิทธิภาพ แม่ไม่ต้องลางานไปดูลูกที่ป่วย
ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ชัยชนะสำหรับสังคมโลกส่วนรวม โลกชนะเพราะการให้นมแม่ประหยัดทรัพยากรของโลก ประหยัดการใช้พลังงาน ลดโลกร้อน การให้นมแม่ช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้น เพราะเราไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เรามีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เชื่อมต่อสายใยผูกพันรักระหว่างแม่ลูก แผ่ขยายออกไปสู่คนในครอบครัว และคนในสังคมรอบตัว ในที่สุด ความเป็นตัวตนของแต่ละคนจะค่อยๆมาหลอมรวมกันเพื่อวัตถุประสงค์ร่วม คือ “สังคมนมแม่” สังคมที่ประสานและรวมพลังช่วยกันให้นมแม่กลายเป็นทรัพยากรของแม่ทุกๆคนได้ในที่สุด
ที่มา: มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย