ธุรกิจการศึกษาไทยอุปสรรคการปฏิรูป

คืนสู่สามัญ หลักสูตรที่ส่งสัญญาณดี

 

          อ่านข่าวเล็กๆ ในหน้าการศึกษา “ไทยโพสต์” พบปัญหาข้อเสนอของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ขอให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ พิจารณา “คะแนนความดี” ของนักเรียนเป็นส่วนหนึ่งในการรับเด็กเข้าเรียนต่อ แต่ปรากฏว่าเสียงสะท้อนกลับเป็นเสียงโต้แย้งแสดงความไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า “ความดี” เป็นเรื่องนามธรรมที่มิอาจตัดสินได้ว่า …ใครดีกว่าใคร… นอกจากนั้นที่น่าสนใจคือ อาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยชี้ว่า…ดีอย่างเดียวไม่พอ หากเรียนไม่ได้ ก็จะเสียเวลา และเสียงบประมาณทางด้านการศึกษาโดยใช่เหตุ

 

ธุรกิจการศึกษาไทยอุปสรรคการปฏิรูป

          อีกข่าวหนึ่งเป็นข่าวจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ที่ระบุว่า ความรวยความจนสัมพันธ์กับระดับการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดรายได้และที่สำคัญผลการวิจัยชี้ว่า การลงทุนด้านการศึกษาของรัฐยังเหลื่อมล้ำ อุดหนุนอุดมศึกษามากกว่าการศึกษาพื้นฐาน เอื้อคนรวย มากกว่าคนจน หากเชื่อว่าการศึกษาเป็นทางออกในการแก้ปัญหาประเทศ ก็ควรพัฒนาระบบการศึกษาให้เด็กส่วนใหญ่ได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน

 

          อ่านเอาเรื่องทั้งสองข่าวแล้ว เป็นไงบ้างครับ รู้สึกอย่างไร ?!?

 

          มันอาจจะไม่เกี่ยวกันเลย ต่างกรรมต่างเวลา ต่างสถานที่ต่างสถาบันและต่างแหล่งข่าว แต่ผมว่าในความต่างมีความเหมือนครับ

 

          เหมือนตรงที่ข้อเท็จจริงไงครับ

 

          ข้อเท็จจริงที่ต้องถามว่า…คนจนมีสิทธิ์ไหมครับ ?!?

 

          รมช.ชัยวุฒิ พบปัญหาระบบการศึกษาไทยว่า เด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ในการไปเรียนกวดวิชา เป็นเหตุทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมาคือ พวกเขาไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีและมีชื่อเสียง บางคนก็ต้องจำนนหันหลังให้กับการเรียน เลือกไปทำมาหากินช่วยครอบครัวหรือเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแทน

 

          ทีดีอาร์ไอ ก็วิจัยแล้วพบว่า ระบบการศึกษาไทยทุกวันนี้เอื้อประโยชน์ต่อคนที่มีฐานะดีมากกว่าคนยากจน ในขณะที่การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญสร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับคนในสังคมส่วนใหญ่

 

          เราอาจจะตั้งประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับ “คะแนนความดี” ไม่ได้ ในเมื่อผู้บริหารสถาบันการศึกษาไม่เห็นด้วย แม้ทุกวันนี้สังคมไทยจะเรียกร้องรณรงค์สร้างระบบคุณธรรมนำชาติก็ตาม แต่ผมว่าเราไม่อาจจะมองข้ามข้อสังเกตว่า หากเราต้องการเห็นประเทศไทยมีความมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแล้ว การให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมแก่ประชาชนเป็นรากฐานอันดับแรก

 

          ไปนั่งในงานสัมมนาที่ไหน ร่วมฟังเสวนาเวทีใด อันเกี่ยวกับแนวทางสร้างประเทศไทยให้มีอนาคต หรือข้ามพ้นวิกฤตสถานการณ์ต่างๆ หนีไม่พ้นที่จะต้องมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการให้การศึกษา จัดระบบการศึกษา การสร้างองค์ความรู้ …จริงไหมครับ

 

          ไม่ว่าจะเป็นปัญหากีฬาสีเหลือง-แดงที่ยังไม่รู้ว่าจะจบวันไหนเราก็จะได้ยินว่า รัฐต้องให้ความรู้และการศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตยในหลักธรรมาภิบาลที่ถูกต้องกับประชาชน

 

          จะเป็นปัญหาสุขภาพ อาทิ โรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดอยู่พักใหญ่ จนชาวบ้านตื่นตระหนกไปทั่ว เราก็บอกว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมไทยไม่ตกเป็นเหยื่อของความกลัวจนเกินเหตุ

 

          กระทั่งปัญหาข่าวลือ ข่าวปล่อย ส่งผลต่อดัชนีในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เราก็ชี้ว่า การศึกษาที่ชัดเจน เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะแมงเม่าทั้งหลาย

 

          นักเรียนที่มีปัญหาการสอบเข้ามาในมหาวิทยาลัยขาดวิจารณญาณที่ดีผิดหวังแล้วทำร้ายตัวเอง เราก็โทษว่าระบบการศึกษาของไทยมุ่งเน้นไอคิวมากกว่าอีคิว

 

          ข้อเท็จจริงเหล่านี้ เมื่อไหร่จะได้รับการเยียวยา ผ่าตัดและเล่นบทการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นจริง สอดคล้องกับความต้องการเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้น่าอยู่ล่ะ

 

          ผมตั้งคำถามประโยคนี้ไว้ ก็เพื่อเสนอแนะ กระตุ้นเตือนให้เห็นว่า คนดี มีคุณธรรม ไม่ได้รับการส่งเสริมให้ได้โอกาสที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ เพราะกำแพงของ “สมอง” ต้องมาก่อนนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในเบื้องต้น

 

          แต่ถ้าลองมองให้ลึกลงไปว่า คะแนนวิชาการที่มากล้น มีที่มาจากการที่เด็กคนนั้นมีอันจะกิน สามารถจ้างครูพิเศษติวที่บ้าน หรือเร่ไปเรียนกวดวิชาตามสถาบันชั้นนำ สรุปคะแนนสวยหรูดูงามตา แท้จริงไม่ได้มาจากสมองที่ปราดเปรื่องแต่อย่างใด ..มันยุติธรรมแล้วหรือครับที่จะบอกว่า เด็กในระบบมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ เก่งกาจสามารถกว่าเด็กที่ไม่มีโอกาสได้เข้าไปเรียนที่นั่น และแน่ใจแล้วหรือว่า เด็กที่มีคะแนนความดีสูง จะเป็นเด็กไร้สมองไปเสียหมด

 

          ธุรกิจการศึกษา ที่มุ่งเน้นพัฒนาคนที่มีอันจะกิน มีฐานะทางสังคมสูง จนมองไม่เห็นคุณค่าความเป็นคนของนักเรียนบ้านนอกนักเรียนยากจน ผมว่ามันเป็นปัญหาของการปฏิรูปการศึกษาอย่างน่าเสียดาย มันส่งผลให้แขนขาของคนไทยที่ถอดบล็อกออกมาจากสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเหมือนเป็ดง่อย นอกจากทำอะไรไม่เป็นแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดความคิด หรือทัศนคติว่า เก่งแล้วโกงไม่เสียหายอะไร

 

          ผมหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาเขียน ไม่ใช่เพราะอยากฝากประเด็นให้รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการคนใหม่ล่าสดๆ ร้อน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รับไปพิจารณาหรอกครับ เพราะไม่มีประโยชน์อยู่แล้วที่เราจะฝากความหวัง อนาคตการศึกษาไทยไว้กับข้าราชการการเมืองที่เดี๋ยวไปเดี๋ยว แค่ 3 ปีมีรัฐมนตรีเกือบ 10 คน

 

          แต่ผมยังมีความหวังว่า ผู้ทำงานด้านการศึกษา จะมองเห็น “อุกกาบาต” หลุมใหญ่ของปัญหานี้ แล้วช่วยกันค่อยๆ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย อย่างน้อยนี่ก็เป็นการเริ่มต้นทศวรรษที่สองของการปฏิรูปการศึกษาไทย หากเรามองปัญหาให้แตกเราก็จะได้เดินไปถูกทิศถูกทาง จริงไหมครับ..

 

          ปีนี้ผมได้ยินว่า หลายโรงเรียนเดินนโยบาย “คืนสู่สามัญ” คือสร้างหลักสูตรของตัวเองที่สนองการดำรงชีวิตประจำวัน การใช้ชีวิตในท้องถิ่น โดยไม่ต้องพึ่งพาจมูกคนอื่นหายใจ หรือต้องวิ่งเข้าสู่ศูนย์กลางคืนกรุงเทพมหานคร ผมก็ว่าเป็นสัญญาณที่ดี เช่น โรงเรียนเล็กๆ แถวอโศก เขาบอกว่า เขามีหลักสูตร “ไกด์” ให้นักเรียนเป็นวิชาเลือก เพราะโรงเรียนของเขาตั้งอยู่บริเวณที่มีชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นหลักประกันได้ว่า หากเขาไม่สามารถเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เขาก็มีอาชีพที่จะยึดทำมาหากินได้อย่างไม่น้อยหน้าใครได้เหมือนกัน แต่วิธีสอนภาษาอังกฤษของเขาจะแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปนั่นเอง

 

          บอกกันนักว่า บ้านเมืองวิกฤตต้องปฏิวัติปฏิรูป ..พูดแล้วทำกันเสียทีสิครับ

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

Update 08-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code