ธรรมะใกล้มือเผยแผ่ธรรมะผ่านเทคโนโลยี

พัฒนาความเจริญทางจิตใจให้ทันวัตถุนิยม

 

          ปัจจัย 5 ที่ทุกคนขาดไม่ได้ในยุคโลกาภิวัฒน์เช่นนี้ คงไม่ปฏิเสธกันว่าคือโทรศัพท์มือถือ

ธรรมะใกล้มือเผยแผ่ธรรมะผ่านเทคโนโลยี 

          ไม่เพียงเวลาไม่กี่สิบปีเท่านั้น จากโทรศัพท์ที่ต้องมีสายระโยงระยาง ก็เป็นโทรศัพท์ไร้สาย จากโทรศัพท์มือถือที่คุยแล้วไม่เห็นหน้า ทุกวันนี้ก็สามารถคุยโต้ตอบกันได้โดยสามารถเห็นหน้าของอีกฝ่ายได้แล้ว และโทรศัพท์ก็เล็กบางกว่ารุ่นแรกๆ อย่างเหลือเชื่อ

 

          ยิ่งความทันสมัยของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงสังคมมากขึ้นเท่าใด ดูเหมือนว่าวัตถุนิยมยิ่งทำให้ความเจริญทางด้านจิตใจกลับสวนทางกัน ห่างไกลศาสนามากยิ่งขึ้น เพราะแต่ละวัน จิตใจหลงระเริงไปกับสิ่งยั่วยุที่เป็นวัตถุต่างๆ ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง

 

          จากข้อมูลของสถาบันรามจิตติในโครงการ Child Watch ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่เก็บข้อมูลของการใช้ชีวิตของเด็กช่วงวัยต่างๆ ตั้งแต่ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย อาชีวศึกษา จนถึงอุดมศึกษาด้วยกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศกว่า 140,000 คนในปี 2549-2550 ที่ผ่านมาพบว่า

 

          “เด็กเพียง 10% ที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอ และมีเด็ก 25% ที่สวดมนต์ก่อนนอนเป็นประจำ ขณะที่เด็กมัธยมศึกษากว่า 65% มีโทรศัพท์มือถือแล้ว แล้วใช้เวลาคุยโทรศัพท์เฉลี่ยวันละ 93 นาที นอกจากนี้ 10-12% ที่ใช้โทรศัพท์มือถือส่ง SMS หรือโหลดภาพ โหลดเพลง โหลดเกมเป็นประจำทุกวัน”

 

          เมื่อเป็นเช่นนี้ การหล่อหลอมความเจริญในจิตใจของปถุชนยุคไซเบอร์จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยกล่อมเกลาด้วย

 

          “โครงการธรรมะใกล้มือ” เป็นการเผยแผ่ธรรมะอย่างทันสมัย โดยส่งถึงคนได้อย่างสะดวก น่าสนใจ ได้สาระธรรม ตรงตามความต้องการ สอดคล้องกับสภาพทางสังคมและการสื่สารสมัยปัจจุบันที่ส่งตรงเข้าโทรศัพท์มือถือเป็นธรรมะประจำวัน และผู้รับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะเป็นธรรมทานอย่างหนึ่ง

 

          ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส

 

          “ขณะนี้มีการเก็บรวบรวมเสียงธรรมะของท่านพระพุทธทาสประมาณ 2-3 หมื่นชิ้นเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุ โดยจะมีการจัดหมวดหมู่ใหม่ ที่สามารถเผยแผ่เพื่อช่วยสังคมและประชาชนได้ทันที ในระหว่างการดำเนินการอนุรักษ์งานต้นฉบับพร้อมกับการจัดระบบฐานข้อมูล ซึ่งต้องจัดสร้างอาคารสถานที่ การใช้ช่องทางการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างสติปัญญาและจิตใจให้เจริญเติบโตจนกล้าแข็ง จึงถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ดำเนินการมานาน 1 ปีเศษแล้ว

 

          ดังนั้น ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตการบรรยายธรรม พระสงฆ์จะต้องนำใบลานไปเทศน์ด้วย จากนั้นก็เปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือธรรมะ แต่วันนี้โดยเทคโนโลยีทางโทรศัพท์มือถือ ช่วยให้ธรรมะใกล้มือ ใกล้ตัว ใกล้ใจ หลักพุทธธรรมของศาสนาพุทธคือการมีค่าทุกเวลา โชคดีขณะนี้เรามีปราชญ์ทางศาสนาพุทธหลายคน สามารถนำมาประยุกต์ไปเผยแพร่ จะเป็นเครื่องมือสืบสานพุทธศาสนาไปยังรุ่นลูกหลานต่อไป ในฐานะที่ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญได้กล่าวถึงโครงการดีๆ เช่นนี้

 

          “ธรรมะใกล้ตัว” ผู้รับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเปิดฟังธรรมะนี้แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ 1.การฟังคลิปเสียงธรรมะ ผู้ใช้บริการเอ.ไอ.เอสสามารถกด *272 แล้งโทรออก เพื่อรับฟังเสียงธรรมะ ซึ่งมีความยาวประมาณ 1-3 นาที ในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ ธรรมะวันนี้, ธรรมะสามัญคลายเครียด, ธรรมะกับการงานและอาชีพ, ธรรมะกับความรัก, ธรรมะกับครอบครัว, ธรรมะกับการสร้างสุข และธรรมะประจำวัน นอกจากนั้นยังสามารถรับฟังธรรมะย้อนหลังได้อีก 1 สัปดาห์ ซึ่งจะเริ่มเผยแผ่ได้ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป และทยอยเพิ่มระบบบริการจนสมบูรณ์เพื่อเป็นธรรมพรปีใหม่ก่อนสิ้นปี 2551 นี้ 2.การรับข้อความสั้นหรือ SMS คติธรรมสอนใจ วันละ 1 ข้อความ โดยสามารถใช้บริการได้ฟรีตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไป

 

          หนึ่งในภาคีธรรมที่ร่วมงานเผยแผ่ความดีครั้งนี้ คือ นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ อธิบายถึงขั้นตอนกว่าที่จะมาเป็นคลิปธรรมะทั้งหลายว่า การทำงานครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันทำงานแบบอาสาสมัครธรรม อาสาสมัครหอจดหมายเหตุช่วยกันคัดสรรและตัดต่อข้อธรรมที่เหมาะๆ แล้วทำข้อสรุปสาระสำคัญพร้อมกับคำสำคัญสำหรับสืบค้นส่งให้อาสาสมัครบริษัทเพลย์เวร์คปรับปรุงคุณภาพเสียงและระบบซอฟท์แวร์และให้บริการเพื่อให้บริษัท เอ.ไอ.เอส ซึ่งอาสาบริการเครือข่ายสู่สาธารณะ โดยไม่มีการเรียบรับค่าบริการ หรือค่าดำเนินการแต่อย่างใด เพื่อเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อธรรมทาน และหากใครอยากฟังแบบเต็มๆ จุใจ สามารถเข้าดู้ได้ที่เว็บไซต์ www.dhamma4u.com ซึ่งเป็นระบบทั้งหมดจะเชื่อมต่อเข้ากับระบบฐานข้อมูลหลักของหอจดหมายเหตุฯ ด้วย

 

          “ไม่เพียงแต่ข้อธรรมของพระพุทธทาสเท่านั้น หอจดหมายเหตุฯได้สรรหาสาระธรรมจากพระรูปอื่นๆ ที่หลากหลาย ซึ่งได้รับเมตตาจากพระคุณเจ้าอีก 3 รูป คือ พระเดชพระคุณเจ้าพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต), พระโพศาล วิสาโล และพระมหาวุฒิชัย วรเมธี (ว.วชิรเมธี) นำเสนอเสียงในการเผยแพร่โครงการนี้ และมีเสียงที่บันทึกใหม่เพื่อโครงการนี้โดยเฉพาะ”

 

          ท้ายสุดคุณหมอเห็นว่า อย่างน้อยโครงการนี้จะทำให้ธรรมะไปสู่คนเหล่านั้นได้อย่างถึงมือ และสามารถเลือกหัวข้อที่เหมาะสมกับแต่ละคนได้ เมื่อได้ฟังธรรมะบ่อยๆ ก็ย่อมทำให้เกิดความเคยชินกับสิ่งดีงาม จนนำมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นธรรมย่อมส่งผลที่ดีต่อครอบครัว องค์กร สังคม และหากมีคนได้รับฟังและนำมาพูดคุยกันก็จะเป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ธรรมะ ขัดเกลาจิตใจให้ดีขึ้นได้

 

         

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

 

 

Update 30-10-51

Shares:
QR Code :
QR Code