ธรรมะช่วยเสริมสุขภาพจิตแก้ปัญหาวัยรุ่น
จากข้อมูลการสำรวจของสำนักพระพุทธศาสนาระบุว่าตั้งแต่ต้นปีพ.ศ.2556 เป็นต้นมา มีกลุ่มคนทำงานและวัยรุ่นร่วมสวดมนต์ข้ามปี ร่วมกิจกรรรมทางศาสนาทำบุญเข้าวัดในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องดีที่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาเข้าวัดสวดมนต์ทำบุญเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อแม่ยิ่งจะทำให้เกิดแบบอย่างที่ดีแก่ลูก ซึ่งเชื่อกันว่า การยึดแนวทางพุทธศาสนาจะช่วยในการฝึกจิต ฝึกสมาธิ ดำเนินชีวิตได้อย่างใกล้ชิดธรรมชาติ หลีกเลี่ยงอบายมุข ส่งเสริมให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยหันมาให้ความสนใจเข้าวัดทำบุญกันมากขึ้นเห็นได้จากในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาวัดทั่วประเทศพร้อมใจกันจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีและมีผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก การเข้าวัดทำบุญหรือร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาถือเป็นมงคลในชีวิตและเป็นก้าวสำคัญในการปรับเปลี่ยนค่านิยม ช่วยสร้างจิตให้เกิดกุศล ก่อเกิดความสุข ช่วยเสริมพลังทางจิตใจให้มีสมาธิ สติ ปัญญาในการพินิจพิเคราะห์ถึงสิ่งต่างๆ เมื่อความคิดนิ่ง ทำให้ได้อยู่กับปัจจุบันขณะและกับตนเองได้มากขึ้น สามารถซึมซับนำหลักคำสอนทางศาสนาไปปรับใช้และเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดีขึ้น ทางหลักจิตวิทยา เรียกว่าเป็น”การใช้ธรรมะเสริมสร้างพลังสุขภาพจิต” (rq)
กรมสุขภาพจิตมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมทางศาสนา เพื่อนำธรรมมเข้ามาเป็นเครื่องมือพัฒนาสติปัญญาเสริมสร้างพลังสุขจิตและกล่อมเกลาจิตใจ โดยจะมีการจัดกิจกรรมในแบบธรรมะแห่งความสุขที่สอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น การทำบุญตักบาตรไหว้พระฟังธรรม นั่งสมาธิ หรือการเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนา การท่องแดนธรรมในสื่อทางสังคม และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สมัยใหม่ เป็นต้น
นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังนำไปสู่การสร้างเสริมพลังสุขภาพจิต (rq) ให้มีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดีสามารถฟื้นฟูสภาพอารมณ์ และจิตใจได้อย่างรวดเร็ว ไม่จมอยู่กับความทุกข์ และช่วยให้สามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ร้ายๆ ไปได้ และกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง ยิ่งเป็นคนที่มีอาร์คิว (rq) ดี ก็จะยิ่งสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ รวมทั้งช่วยให้มีจิตใจเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่าพลังสุขภาพจิตหรืออาร์คิว (rq) เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของบุคคลที่ทำให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้อย่างแข็งแกร่ง มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ”อึด-ฮึด-สู้” “อึด” คือ มีความเข้มแข็งทางจิตใจ สามารถทนทานต่อภาวะกดดันได้ดี จัดการความเครียดได้อย่างเหมาะสม ควบคุมอารมณ์ได้ดี ยิ้มสู้กับทุกสถานการณ์ “ฮึด” คือ มีศรัทธาและกำลังใจที่ดี เชื่อว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆ ย่อมผ่านพ้นไปได้ สามารถให้กำลังใจตัวเอง และได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง “สู้” คือ สามารถต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคอย่างชาญฉลาด มีทักษะในการแก้ไขปัญหาได้ดี หาทางออกได้อย่างเหมาะสม สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ ซึ่งหลักคิดในการพัฒนาตนเองให้มีอาร์คิว (rq) ที่ดีมีเทคนิคสำคัญคือ “4 ปรับ 3 เติม” คือ “ปรับอารมณ์ ปรับความคิด ปรับพฤติกรรม ปรับเป้าหมาย เติมศรัทธาเติมมิตร และเติมจิตใจให้กว้าง” สิ่งเหล่านี้ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันทางใจ เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันก็สามารถจัดการกับอุปสรรคปัญหาต่างๆ ได้
“อย่างไรก็ดีเห็นว่าการสนับสนุนให้วัยรุ่นได้นำหลักธรรมมาช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจหรือพลังสุขภาพจิตนั้น จะช่วยให้เขาเกิดการพัฒนาทางความคิด มีสติ และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนให้มีพฤติกรรมอันพึงประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาจนำหลักธรรมหรือหลักปฏิบัติทางศาสนาที่ได้ซึมซับมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
ทั้งด้านการเรียน การทำงาน หรือการเข้าสังคม ที่สำคัญคือการได้แรงสนับสนุนจาก ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครองในการเป็นแบบอย่างที่จะนำเยาวชนให้เข้าใกล้ธรรมะได้ไม่ยาก” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย