“ธรรมนูญสุขภาพ” โดยชาวบ้านเพื่อชุมชน
“ธรรมนูญสุขภาพ” โดยชาวบ้านเพื่อชุมชน
“ใคร ๆ ก็อยากให้ชาวบ้านในชุมชนมีความสุขครบทั้ง 4 มิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา แต่การจะให้ชาวบ้านมีความสุขนั้นเรากำหนดขึ้นมาเองไม่ได้ ผมคิดว่าการที่เราจะร่างข้อบัญญัติหรือกฎกติกาต่างๆ ต้องมีความคิดเห็นหรือความต้องการของชาวบ้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ทาง อบต.จึงดำเนินการก่อสร้างร่างธรรมนูญสุขภาพขึ้นมา ตามความประสงค์ของชาวบ้านเพื่อให้คนในชุมชนได้ปฏิบัติตาม” ไฉน ก้อนทอง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงมูลเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าถึงที่มาธรรมนูญสุขภาพภายในตำบลดงมูลเหล็ก
“ธรรมนูญสุขภาพ” มีเป้าหมายหลักเพื่อตระหนักและต้องการให้พี่น้องในชุมชนมีความสุข และไม่ต้องการให้ใครเจ็บป่วย อีกทั้งต้องการให้ชาวบ้านรู้เท่าทัน มีส่วนร่วม มีจิตสำนึกโดยชุมชน เพื่อประโยชน์แก่ชุมชน และธรรมนูญสุขภาพยังเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญของตำบลดงมูลเหล็ก ภายใต้การสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)อีกด้วย
อดีตนายกฯไฉน เล่าว่า เดิมตนได้ไปศึกษาดูงานที่ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาซึ่งเป็นตำบลแรกในการทำธรรมนูญสุขภาพให้แก่ชาวบ้านในชุมชน ต่อมาจึงถูกชักชวนให้ร่วมเข้าเป็นตำบลสุขภาวะกับตำบลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชและเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 4 คืน 5 วัน หลังจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตนได้ประชุมกับสมาชิกและเริ่มดำเนินการเพื่อร่างธรรมนูญสุขภาพชุมชน
“ธรรมนูญสุขภาพคือ พื้นที่ที่ให้ชาวบ้านเข้ามาเสนอความคิดเห็นว่าชาวบ้านต้องการสิ่งใดจากการดูแลสุขภาพภายใต้ธรรมนูญ และชาวบ้านจะเป็นผู้เขียนเสนอความคิดเห็นหรือความต้องการของชาวบ้านเอง นอกจากการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง อบต.และชาวบ้านแล้ว เรายังจับมือกับโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ เพื่อการออกแบบนโยบายสาธารณะเหล่านี้ เมื่อพุดคุยกับเครือข่ายแล้วก็สรุปว่า จะดำเนินการให้ชาวบ้านเสนอข้อคิดเห็นในการยกร่างธรรมนูญสุขภาพผ่านการทำวิจัยโดยการตอบแบบสอบถาม ก่อนที่จะออกแบบแบบสอบถามเราได้ปรึกษาพูดคุยทั้งทีมงาน อบต.และอาจารย์ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ในการออกแบบแบบสอบถาม และแยกประเด็นความต้องการออกเป็น 4 มิติคือร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา” อดีตนายกฯไฉน กล่าว
เมื่อการเริ่มก่อสร้างร่างธรรมนูญสุขภาพผ่านกระบวนการคล้ายการทำวิจัยกับแบบสอบถามกว่า 400 ชุด แบ่งแยกประเภทผู้ตอบแบบสอบถามออกเป็น 3 กลุ่มอายุ ได้แก่ 1.เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 15-25ปี 2.วัยทำงานอายุระหว่าง 20-50 ปี 3.ผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป
“จากแบบสอบถาม 400 ชุด เพื่อให้ได้ข้อมูลและให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานจริงเราจึงจำเป็นต้องให้คนใกล้ชิดชาวบ้านหรือ อสม.แต่ละหมู่บ้านถือแบบสอบถามไปถามสมาชิก 3 กลุ่มนี้เอง โดยถือเพียงคนละ 4 ชุด ใช้ อสม.11 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 10 คน เมื่อเราได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ก็นำมาวิเคราะห์ ประมวลผลทีละประเด็นทั้ง ร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงมูลเหล็กเล่าถึงการดำเนินการเก็บข้อมูลในการร่างธรรมนูญสุขภาพ
หลังจากเก็บข้อมูล วิเคราะห์ ประมวลผลเรียบร้อยแล้วรอบ 2 คือการดำเนินการจัดทำประชาคมในตำบล โดยการบอกกล่าวผู้บริหารฝ่ายปกครองกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มาออกแบบและช่วยเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อตรากฎหมายในธรรมนูญสุขภาพของตำบล
อดีตนายกฯไฉน เล่าต่อว่า สิ่งที่ได้จากการตอบแบบสอบถามชาวบ้านสนใจในการดูแลสุขภาพและต้องการท้องถิ่นสนับสนุนให้มีลานกิจกรรมสำหรับการออกกำลังกาย และที่ได้เพิ่มเติมจากการดูแลสุขภาพคือกฎ กติกา มารยาท ในการอยู่ร่วมกันของคนในตำบล เหตุผลที่ต้องเพิ่มเพราะหากข้อบังคับหรือกฎกติกาที่มีไว้ใช้ร่วมกันนั้น เขียนไว้สวยหรูมากเพียงใด ถ้าไม่มีข้อบังคับที่เป็นลายลักษณ์อักษรชาวบ้านก็ไม่ปฏิบัติตามอยู่ดี หากไม่มีบทลงโทษก็จะเป็นเพียงกระดาษเปล่าหนึ่งใบเท่านั้น
“จากการทำประชาคมได้ข้อบัญญัติกฎ กติกา เพิ่มเติมที่ได้จากการตอบแบบสอบถาม ซึ่งคำถามจะเป็นคำถามปลายเปิดที่ชาวบ้านสามารถเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ เช่น คนในชุมชนเสรอให้มีกฎ กติกาข้อบังคับว่าหากมีงานเลี้ยงใดๆก็ตามห้ามเจ้าภาพเลี้ยงเหล้าแขกผู้มาเยือน และห้ามเล่นการพนันในหมู่บ้าน เป็นต้น แต่กฎการห้ามเล่นการพนันเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย 4 ต่อ 7 หมู่บ้าน แต่เราก็นำมาบรรจุลงในธรรมนูญเพราะไม่ว่าเสียงมากน้อยเพียงใด หากชาวบ้านเสนอมาก็นำมาบรรจุลงในธรรมนูญทั้งหมด นอกจากนั้นเรายังใช้กระบวนการสมัชชา โดยเชิญชาวบ้านทั้ง 11 หมู่บ้านมารับฟังและเสนอความคิดเห็นต่างๆ โดยแยกแบ่งเป็นแต่ละห้อง 4 ห้อง เพื่อแยกตามประเด็นทั้ง 4 มิติ พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการการยกร่างธรรมนูญสุขภาพโดยมีปลัดประจำองค์การบริหารส่วนตำบลดงมูลเหล็กเป็นประธาน เมื่อการทำประชาพิจาร 11 หมู่บ้านแล้ว เราได้ข้อสรุปสำหรับธรรมนูญสุขภาพทั้งหมด 12 หมวด และข้อย่อยอีก 61 ข้อ” อดีตนายกฯไฉน เล่าถึงการดำเนินงาน
เมื่อการทำประชาพิจารและยกร่างธรรมนูญดำเนินการเป็นที่เรียบร้อย ธรรมนูญสุขภาพเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานด้านงบประมาณ ค่าใช้จ่ายประจำปี เพราะธรรมนูญสุขภาพระบุชัดเจนถึงการมีสิทธิออกเสียงของชาวบ้านทั้งตำบลในการร่างธรรมนูญสุขภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับการจัดสวัสดิการในหมู่บ้าน(กองทุนกองบุญหมู่บ้าน) อีกด้วย
อดีตนายกฯอบต.ดงมูลเหล็ก เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงไปต่ออีกว่า “ชาวบ้านในตำบลเริ่มมีการตื่นตัวสำหรับการใช้ข้อบัญญัติธรรมนูญสุขภาพ ทั้งข้อบัญญัติในการงดดื่มสุราในงานต่างๆ แต่ยังคงมีการฝ่าฝืนอยู่บ้าง เราก็ทำอะไรไม่ได้ และต่อไปเรามีโครงการในการเก็บข้อมูลคล้ายกับการทำบัญชีครัวเรือนแล้วคืนข้อมูลสู่ชุมชน เพื่อเปรียบเทียบให้ชุมชนได้เห็นระหว่างการเลี้ยงสุราและไม่เลี้ยงสุราว่ามีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันอย่างไร” อดีตนายกฯไฉน กล่าว
อดีตนายกฯ อบต. ยังบอกอีกว่า เมื่อธรรมนูญสุขภาพเข้ามามีบทบาทในตำบลแล้วรู้สึกได้ว่าชาวบ้านเขามีความภาคภูมิใจ และดีใจที่มีสิ่งดีเข้ามาพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญ ทั้งทางร่ายกาย จิตใจ สังคม และปัญญา อบต.มองว่าทรัพย์สินในพื้นที่ไม่ใช่ของ อบต.เพียงอย่างเดียว แต่เรากำลังทำให้ชุมชนเขารู้สึกว่าท้องถิ่นหรือ อบต.เป็นของชุมชนเอง เพียงแต่ อบต.เป็นผู้บริหารดูแลให้เท่านั้น
“ฉะนั้นการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในการดำเนินงานต่างๆจะทำให้ชาวบ้านกระตือรือร้นและให้ความร่วมมือกับเราในการบริหารจัดการรวมถึงการพัฒนาให้ชุมชนของเราเจริญก้าวหน้าต่อไป เห็นได้ชัดเจนหลังจากมีธรรมนูญสุขภาพแล้วชาวบ้านให้ความร่วมมือเข้าประชุมมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์อนาคตในการปรับเปลี่ยนหรือยกร่างธรรมนูญสุขภาพเราจะสำรวจความพึงพอใจของประชาชนโดยจัดทำประชาคมหารือปรับเปลี่ยนหมวดของธรรมนูญว่าข้อใดควรตัดออก หรือควรเพิ่มเติมหมวดใด”อดีตนายกฯอบต.ดงมูลเหล็ก กล่าว
การมีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นในการพัฒนาปรับปรุงชุมชนหรือตำบลของชาวบ้าน อาจเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยท้องถิ่นขับเคลื่อนการทำงานไปในทิศทางที่ดีก็เป็นได้