ธนาคารใบไม้ พลังจากผู้สูงวัย

ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

ธนาคารใบไม้ พลังจากผู้สูงวัย          จากรายงานของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปัญหามลพิษจากหมอกควันที่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือมีความรุนแรงที่สุดในปีพ.ศ.2550 และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

 

          สำหรับปีพ.ศ.2551 จ.เชียงใหม่มีจำนวนวันที่ฝุ่นเกินมาตรฐาน 6 วัน มีผู้ป่วยจากหมอกควัน 67,996 ราย โดยมี 6 อำเภอที่เกิดปัญหาการเผาในที่โล่งแจ้งมากที่สุด คือ อมก๋อย แม่แจ่ม เชียงดาว แม่อาย แม่แตง และสะเมิง

 

          ส่วนอำเภอที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเป็นจำนวนมาก 8 อำเภอ คือ สารภี ฝาง แม่อาย แม่แจ่ม เชียงดาว ฮอด พร้าว และจอมทอง

 

          ขณะเดียวกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ปัญหาหมอกควันทำให้คนที่อยู่ในที่โล่งแจ้งนานๆ มีอาการแสบตา ตาแดง น้ำตาไหล คอแห้ง ระคายคอ หายใจติดขัด เหนื่อยง่ายและแน่นหน้าอก

 

          ทำให้ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี อัตราผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดต่อประชากรแสนคนเพิ่มจาก 9 คน ในปีพ.ศ.2545 เป็น 58.12 คน และในปี 2548 สูงกว่ากรุงเทพฯ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย

 

          ส่วนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.6 ที่สำคัญฝุ่นละอองขนาดเล็ก จะทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบตัน และมีผลทำให้เป็นโรคมะเร็งปอดได้ด้วย

 

          อัญชนา นิติคุณ ผู้รับผิดชอบโครงการผู้สูงอายุอาสาสร้างเสริมสุขภาพชุมชนและสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมด้วยธนาคารใบไม้ ของสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเข้าไปป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนในปีพ.ศ.2551 สามารถลดจำนวนวันที่ฝุ่นเกินมาตรฐานลงได้เหลือ 6 วัน จาก 31 วัน ในปีพ.ศ.2550

 

          แต่การเกิดภาวะหมอกควันยังคงมีอยู่ ซึ่งจากการจัดเวทีเพื่อรวบรวมปัญหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขภาวะหมอกควันในพื้นที่ 24 อำเภอ จ.เชียงใหม่ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับศูนย์ประสานงานสร้างสุขเพื่อสังคม ได้ข้อสรุปว่าปัญหาหมอกควันเกิดจากพฤติกรรมการเผา เช่น เผาขยะ เผาเศษหญ้า เผาใบไม้ กิ่งไม้ เผาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่

 

          โดยผู้เข้าร่วมเวทีเสนอให้แก้ไขปัญหาด้วยการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด งด เผา เท่าที่จำเป็น ให้มีกิจกรรมทางเลือกด้วยการเอาไปทำปุ๋ยแทนการเผา และให้สร้างจิตสำนึก ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง

 

          โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมเดิมๆ คือ ชอบกวาดใบไม้ใบหญ้า แล้วจุดไฟเผาทั้งเช้าและเย็น ทำให้คนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงต้องดมควันพิษทั้งช่วงตื่นนอนตอนเช้า และเมื่อกลับจากเรียนหรือทำงานในตอนเย็น

 

          “จุดนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงเพราะทำทุกวัน สอดคล้องกับข้อมูลที่พบว่า อำเภอที่เกิดไฟป่ามาก จำนวนผู้ป่วยกลับไม่มากเท่าอำเภอที่มีการเผาในโล่งแจ้งเป็นประจำ อีกทั้งกลุ่มผู้สูงอายุกับเด็ก ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ง่ายต่อการเกิดโรคจากภาวะหมอกควัน” อัญชนาให้ข้อมูล

 

          ด้วยเหตุดังกล่าว โครงการผู้สูงอายุอาสาสร้างเสริมสุขภาพชุมชนและสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมด้วยธนาคารใบไม้จึงเป็นทางเลือกที่เกิดขึ้นใน 6 พื้นที่ ที่มีข้อมูลสถิติผู้เจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจจำนวนมาก ในช่วงที่เกิดภาวะหมอกควัน ได้แก่ บ้านท่าข้ามใต้ อ.ฮอด, บ้านโฮ่งมะค่า อ.จอมทอง, บ้านจอมคีรี อ.เชียงดาว, บ้านชัยสถาน อ.แม่อาย, บ้านสันทรายคลองน้อย อ.ฝาง และบ้านคายนอก อ.แม่อาย

 

          เพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นแกนนำในการดำเนินงาน “ธนาคารใบไม้” และให้เยาวชนเป็นตัวเชื่อมกับครอบครัวและชุมชนในการนำใบไม้ เศษไม้ มาใช้ประโยชน์ ฝากผ่านธนาคารๆ แล้วนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ย กลับมาขายให้กับเกษตรกรในชุมชน เงินที่ได้ก็จะหมุนเวียนกลับมารับซื้อใบไม้ เศษไม้ต่อไป เป็นการหมุนเวียนทุนที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

          ประวิช คมขำ ประธานชมรมผู้สูงอายุ ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง หนึ่งในผู้ร่วมโครงการ บอกว่า ไม่เพียงแต่ทำให้สภาวะสิ่งแวดล้อมดี ขจัดฝุ่นควันและขยะเรี่ยราดในชุมชนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้สูงอายุแน่นแฟ้นขึ้น

 

          จากเดิมวัยแรงงานออกไปทำงานนอกบ้าน ปล่อยให้คนเฒ่าคนแก่กวาดขยะ ใบไม้ มาสุมรวมกันแล้วจุดไฟเผาเกือบทุกวัน ขณะที่เด็กๆ มักใช้เวลาหมดไปกับการเตรียมตัว และเดินทางไปโรงเรียน

 

          ส่วนตอนเย็นก็กลับมาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือดูโทรทัศน์ ไม่เคยสนใจช่วยเหลืองานคนในบ้าน แต่เมื่อเกิดโครงการนี้ขึ้น เด็กกลับกระตือรือร้นที่จะใช้เวลาว่างช่วยเหลือผู้เฒ่าผู้แก่เก็บกวาดเศษไม้ ใบไม้ และบรรจุไว้ในกระสอบเตรียมขายฝากธนาคาร ที่มีผู้สูงอายุในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงาน ในราคากิโลกรัมละ 2 บาท

 

          ขยะที่รับฝากไว้จะถูกนำมาทำปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์ เมื่อครบกำหนดก็กันส่วนหนึ่งแจกจ่ายเป็นดอกเบี้ยสำหรับคนที่นำใบไม้มาขาย อีกส่วนหนึ่งจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจภายในชุมชน เพราะโดยสภาพของพื้นที่ ทำการเกษตรเป็นหลัก อาทิ สวนลำไย มะม่วง นาข้าว ชาวบ้านจึงต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีที่นับวันจะมีราคาสูงขึ้นทุกขณะ

 

          ด้าน ใจ๋ นันต๊ะวงศ์ ประธานโครงการธนาคารใบไม้ บ้านโฮงมะค่า เล่าเสริมว่า ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากโครงการ คือทำให้ผู้สูงอายุตื่นตัว มีโอกาสได้พบปะสังสรรค์กัน จึงรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ช่วยพัฒนาท้องถิ่นได้ เมื่อนัดให้ทำกิจกรรม เช่น เปิดธนาคารรับซื้อใบไม้จากเด็กนักเรียน หรือทำปุ๋ยอินทรีย์ ก็เต็มใจให้ความร่วมมืออย่างดี

 

          บางรายสนใจขนาดนำวิธีการทำปุ๋ยกลับไปทำใช้เองภายในบ้านของตนเอง เพราะทราบดีว่าการใช้ปุ๋ยและสารเคมีทำให้สภาพดินเสื่อมโทรม หากสามารถใช้ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์ได้ ก็จะช่วยฟื้นฟูสภาพดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้

 

          สำหรับกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์นั้น ประธานโครงการธนาคารใบไม้ บ้านโฮงมะค่า บอกว่า เริ่มจากการจัดทำคอกกั้นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 2 คูณ 4 เมตร แล้วปรับพื้นดินให้เรียบเสมอกัน นำใบไม้แห้งจากธนาคารมาผสมกับส่วนประกอบอื่นๆ คือใบไม้แห้ง 1,000 กิโลกรัม เติมขี้วัวแห้ง 200 กิโลกรัม กับจุลินทรีย์ หรือสารเร่งพอประมาณ

 

          จากนั้นใช้ผ้ายางคลุมให้ตลอด ทุกๆ 10-15 วัน พลิกกลับบนลงล่าง ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพตามความต้องการ

 

          นับเป็นพลังความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มผู้สูงอายุ ที่พยายามพิทักษ์สิ่งแวดล้อมให้สะอาด ปราศจากมลพิษ แม้จะเป็นแค่จุดเล็กๆ ในชุมชนท้องถิ่น แต่ความมุ่งมั่นเหล่านี้ย่อมไม่สูญเปล่า

 

          เพราะผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกเผาขยะ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงโรคระบบทางเดินหายใจ และมะเร็งปอด ส่งผลดีต่อสุขภาพของคนในชุมชนโดยตรง

 

          อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งเริ่มมองเห็นความสำคัญ เตรียมบรรจุเป็นแผนงานขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

update 21-12-52

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code