ธนาคารเหล้า
ที่มา : นวัตกรรมแห่งความสุข โดย องค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace Center) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ธนาคารเหล้า หมายถึง สถานที่ที่ให้ประชาชนนำเหล้าที่เคยดื่มนำมาฝากตามระยะเวลาที่กำหนดคือ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือตลอดชีวิต เพื่อเป็นช่องทางและทางเลือกให้ประชาชนหันมา ลด ละ เลิกการดื่มเหล้า
รวมทั้งสร้างกระแสการรณรงค์ให้สังคมหันมาใส่ใจ สนใจการเลิกเหล้ามากขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจโทษและพิษภัยของเหล้า รับสมัครเชิญชวนให้ประชาชนนำเหล้าที่เคยดื่มเป็นประจำมาฝากไว้ที่ธนาคาร โดยมีข้อแม้ว่าต้องฝากครบตามระยะเท่านั้นจึงมีสิทธิ์ได้รับดอกเบี้ย จากดอกผลเงินกองทุนหมู่บ้านเป็นของขวัญและของที่ระลึก (กองทุนหมู่บ้าน ได้ผลกำไรจากการปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิกในหมู่บ้านเพื่อต้นทุนด้านการเกษตรกรรมและอื่นๆ)
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ที่ติดเหล้าเข้าสู่กระบวนการบำบัด จัดตั้งชมรมคนเลิกเหล้า รณรงค์จัดงานประเพณีปลอดเหล้า โดยเริ่มที่งานศพเป็นงานนำร่อง ซึ่งเจ้าภาพจะต้องเข้าร่วมโครงการงานบุญประเพณีปลอดเหล้าด้วย มีการติดตามเยี่ยมบ้านของผู้ที่ฝากเหล้าไว้กับธนาคารอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นกำลังใจและรับทราบปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการจัดงานประจำปีหมู่บ้าน มีพิธีมอบใบประกาศและของที่ระลึกแก่ผู้ที่เลิกเหล้าเพื่อยกย่องบุคคลต้นแบบของหมู่บ้าน
ผลการดำเนินการตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ให้ความสนใจ นำเหล้ามาฝากไว้กับธนาคารแล้วทั้งสิ้น 63 ราย จากจำนวนผู้ดื่มเหล้าทั้งสิ้น 138 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 45.6 นับว่าประสบผลสำเร็จอย่างมากกับการตั้งธนาคารเหล้าขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาลด ละ การดื่มเหล้า
รพ.สต.บ้านไร่สวนลาว เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเพื่อที่จะลดการบริโภคเหล้าของประชาชน จึงได้จัดตั้งธนาคารเหล้าขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นช่องทางและทางเลือกให้ประชาชนหันมาลด ละ เลิก การบริโภคเหล้า รวมทั้งสร้างกระแสการรณรงค์ให้สังคม หันมา ใส่ใจ สนใจ การเลิกเหล้ามากขึ้น
วิธีการสร้างนวัตกรรม
1.สร้างแนวร่วม คัดเลือกบุคคลต้นแบบมาเป็นแกนนำกลุ่มฯ เพื่อชักชวนหาสมาชิกเพิ่มกับธนาคารฯ
2.ให้ความรู้และชาสมุนไพร “หญ้าดอกขาว” ซึ่งผ่านการวิจัยจากองค์กรเภสัชกรรมแล้วว่ามีส่วนช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ได้กับสมาชิกที่เข้าร่วม
3.ทำกิจกรรมเพื่อ ลด ละ เลิก หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เช่น การออกกำลังกายทุกเย็น
4.จากนั้นให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสมัครสมาชิกลงชื่อกับโครงการฯ ไว้โดยมพิธีการปฏิญาณตนต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจในการละเลิกบุหรี่ สุรา
ผลตอบแทนที่สมาชิกจะได้รับเป็นขวัญกำลังใจจากธนาคาร โดยสมาชิกจะมาลงชื่อนำสุราที่เหลืออยู่หรือบุหรี่ที่มีอยู่ทั้งหมด (ไม่จำกัดปริมาณต่ำสุด) มาฝากธนาคารไว้ซึ่งธนาคารจะให้ดอกเบี้ย ดังนี้
1.ดอกเบี้ย 3 เดือน : ของที่ระลึก เช่น สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ หรือเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่าใกล้เคียงกัน
2.ดอกเบี้ย 6 เดือน : ของที่ระลึก เช่น สบู่ 3 ก้อน ยาสีฟันพร้อมแปรงสีฟัน ฯลฯ หรือเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่ามากกว่าประเภท 3 เดือน
3.ดอกเบี้ย 1 ปี : ของใช้ในครัวเรือน เช่น น้ำมันพืช 1 ขวด น้ำปลา 3 ขวด ฯลฯ หรือเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่ามากกว่าประเภท 6 เดือน
4.ดอกเบี้ยตลอดชีวิต : ข้าวสาร 1 ถุง
กระบวนการตรวจสอบสมาชิกสามารถปฏิบัติได้ตามกฎหรือไม่
1.สมาชิกในกลุ่ม (คนในหมู่บ้าน) เป็นผู้ประเมินและลงประชามติว่าสมาชิกคนนั้นๆ สามารถปฏิบัติได้ตามที่ตกลงไว้หรือไม่
2.จากนั้นจะมีการมอบประกาศนียบัตรและดอกเบี้ยและลงชื่อให้กับสมาชิกที่ยกระดับการฝากและสมาชิกใหม่ต่อไป
ที่ผ่านมาโครงการฯ ได้ เริ่มต้นจากหมู่ที่ 6 ในปี 2554 จนประสบความสำเร็จและได้ขยายสู่หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 8 ในปี 2555 อีกทั้งยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายองค์กรสุขภาวะจังหวัดชัยนาท และนำเสนอเพื่อยกระดับเป็นองค์กรสุขภาวะต้นแบบของจังหวัดชัยนาท โดยในปี 2556 โครงการฯ กำลังดำเนินการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมในหมู่ที่ 1, 7 และ 11 ครบทั้งตำบลบ้านเชี่ยน