ธนาคารขุนทะเล การเงินเพื่อชุมชน
หากใครผ่านมา ก็จะเห็นว่า พนักงานธนาคารหมู่บ้าน หมู่ที่ 10 บ้านนาทอน ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช นั่งเรียงแถวหน้ากระดานให้บริการสมาชิกธนาคารหมู่บ้านเอาเงินมาฝาก โดยไม่ต้องมีบัตรคิว ไม่มีพนักงานต้อนรับ ทั้งธนาคารแห่งนี้ไม่มีเครื่องปรับอากาศ
ที่กล่าวกันว่า เงินไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต แม้บางแง่มุมจะเห็นเป็นจริง แต่อีกหลายมิติ ถ้าไม่มีก็คงลำบาก ฉะนั้นอย่างน้อย ก็ควรมีสภาพคล่อง
แรกเริ่มกลุ่มแกนนำในชุมชนมีแนวคิดในการจัดตั้งแหล่งเงินทุนที่เป็นของชุมชนเอง จึงจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา โดยมีการระดมทุนด้วยการฝากหุ้นแบบสัจจะออมทรัพย์ เพื่อเป็นกองทุนระยะแรก ต่อมามีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเงินทุนบางส่วน ตลอดจนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นสถาบันการเงินของชุมชน มีกิจกรรมการออมทรัพย์ เพื่อเป็นสวัสดิการ ตลอดจนจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล (สัจจะวันละบาท) กิจกรรมการกู้ยืม และการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน จวบจนถึงปัจจุบัน กลายมาเป็นสถาบันการเงินของชุมชน
“สถาบันการเงินทำงานเหมือนธนาคารทั่วไป ปรับใช้ในชุมชนเมื่อในชุมชนมีองค์กรการเงิน คนในชุมชนก็สามารถพึ่งพาสถาบันทางการเงินในชุมชนได้ เอาเงินมาฝากในชุมชน เป็นการออมอย่างหนึ่ง” สอนไชยา ไกด์นำทางเล่าให้ฟัง
สถาบันการเงินชุมชนบ้านนาทอน ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชน สมาชิกที่กู้เงินกับสถาบันฯ เมื่อถึงนัดชำระ มีหรือไม่มีก็มาบอกกัน โดยธนาคารหมู่บ้าน หมู่ที่ 10 แห่งนี้ ก่อตั้งปี 2542 โดยรวมมีจุดมุ่งหมายให้เป็นแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นแหล่งน้ำใจเพื่อชีวิต
หากเป็นสมาชิกธนาคารหมู่บ้านจะต้องฝากเงินทุกเดือน ขั้นต่ำ 20 บาท ธนาคารคิดดอกเบี้ยสมาชิกรายที่กู้ร้อยละ 1 บาท 50 สตางค์ วงเงินกู้ไม่เกิน 2 หมื่นบาท โดยเปิดทำการในวันเสาร์ด้วย ซึ่งถ้าได้มาลองสังเกตการณ์จะพบชาวชุมชนเข้ามาทำธุรกรรมกับทางธนาคารหมู่บ้านไม่ขาดสาย
บุปผา เชาวลิต พนักงานอบต.ขุนทะเล เล่าว่า “สภาพคล่องที่ดี ถือเป็นความสุขอย่างหนึ่ง เพราะถ้าภายในครอบครัวมีสิ่งนี้ มันสามารถตอบสนองความต้องการของสมาชิกในครอบครัวได้อย่างเพียงพอ ซึ่งสำคัญมากต่อการดำรงชีวิต”
ที่มา : ปันสุข