ท้องถิ่นออกกฎ จัดระเบียบ ‘หมา-แมว’

ที่มา : มติชนออนไลน์


ท้องถิ่นออกกฎ จัดระเบียบ 'หมา-แมว' thaihealth


แฟ้มภาพ


กรณีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในหลายพื้นที่ของประเทศไทย กระทั่งพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในช่วงปีนี้แล้ว 8 คน (ตัวเลข ณ วันที่ 20 เมษายน 2561) ซึ่งในเชิงสถิติทางการแพทย์ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนสูง เพราะเป็นการระบาด 


ทั้งๆ ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางมาตรการป้องกันการระบาดของโรคมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชน การฉีดวัคซีนและคุมกำเนิดสุนัขและแมวจรจัด หรือแม้แต่การรณรงค์ให้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ดูแลสัตว์เหล่านั้นด้วยความรับผิดชอบ แต่การระบาดก็ยังเกิดขึ้น


ข้อมูลการสำรวจ เมื่อปี 2559 จาก 77 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด พบว่าประเทศไทยมีสุนัขและแมว จำนวน 10,395,961 ตัว แบ่งเป็น สุนัขจำนวน 7,380,810 ตัว และแมวจำนวน 3,015,151 ตัว ในจำนวนนี้ไม่มีเจ้าของ 1,232,588 ตัว คือ สุนัข 785,446 ตัว และแมว 474,142 ตัว


ขณะที่ข้อมูลการสำรวจในปี 2561 โดยระบบ Thai Rabies Net ณ วันที่ 12 มีนาคม 2561 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้สำรวจสุนัขและแมว 2 ครั้งต่อปี และบันทึกลงในระบบดังกล่าว ระบุว่า ประเทศไทยมีสุนัขและแมวจำนวน 4,623,811 ตัว โดยเป็นสุนัข 3,525,333 ตัว และแมว 1,098,478 ตัว ในจำนวนนี้ไม่มีเจ้าของ 104,212 ตัว คือ สุนัข 69,258 ตัว และแมว 34,954 ตัว


ทั้งนี้ ในการดำเนินงานปี 2561 คณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคระดับจังหวัดและอำเภอได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไปแล้ว 932,807 ตัว (ตัวเลขตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560-วันที่ 8 มีนาคม 2561) และในช่วงรณรงค์ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคมนี้ คาดว่าจะได้จำนวน 5-6 ล้านตัว และครบตามเป้าหมาย 10 ล้านตัว ภายในเดือนกันยายน ขณะที่มีการผ่าตัดทำหมันแล้ว 79,431 ตัว และคาดว่าจะครบตามเป้าหมาย 2 แสนตัว ภายในเดือนกันยายน 2561 เช่นกัน


อย่างไรก็ดี การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้ารอบนี้ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมตื่นตัวและตระหนักถึงพิษภัยของโรคดังกล่าวกันอย่างมาก


ล่าสุด ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ออกข้อบัญญัติตำบลพลูตาหลวง เรื่องกำหนดให้ตึกแถว/อาคารพาณิชย์/ทาวน์เฮาส์/บ้านเดี่ยว สามารถเลี้ยงสุนัข, แมว ได้ไม่เกิน 2 ตัว และต้องดูแลควบคุมการเลี้ยงสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะ ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท


สำหรับ พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ เป็นกฎหมายที่คุ้มครองด้านสุขลักษณะและการอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งกิจกรรม การกระทำทุกอย่าง และกิจการประเภทต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชนตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ครัวเรือน ชุมชน ตลอดจนกิจการขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ อันได้แก่ หาบเร่ แผงลอย สถานที่จำหน่ายอาหาร ตลาดกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทต่างๆ รวม 125 ประเภท รวมทั้งการเลี้ยง หรือปล่อยสัตว์ โดยให้อำนาจแก่ราชการส่วนท้องถิ่น ในการออกข้อกำหนดท้องถิ่น ใช้บังคับในเขต ท้องถิ่นนั้นๆ และให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการควบคุมดูแล โดยการออกคำสั่งให้ปรับปรุง แก้ไขการอนุญาต หรือไม่อนุญาต การสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต รวมทั้งการเปรียบเทียบคดี


ความจริงกรณี อปท.ใช้กฎหมายในการควบคุมจำนวนสุนัขและแมวในพื้นที่นั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ได้มีการออกข้อบัญญัติในลักษณะเดียวกับ อบต.พลูตาหลวง เช่นกัน ชื่อว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงสุนัขหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548 กำหนดให้เจ้าของสุนัขจะต้องนำสุนัขไปฝังไมโครชิป (บัตรประจำตัวสัตว์เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์) และจดทะเบียนสุนัขที่คลินิกสัตวแพทย์แห่งใดก็ได้ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จุดประสงค์เพื่อให้สามารถระบุตัวสุนัขและเจ้าของได้ และเพื่อควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงรายใดไม่ปฏิบัติตาม หรือฝ่าฝืนข้อบัญญัตินี้ มีโทษสูงสุดคือ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท


นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงสุนัขหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548 ออกตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ โดยตามกฎหมายจะกำหนดกรอบให้ปฏิบัติ แต่ส่วนท้องถิ่นจะออกข้อบัญญัติหรือกฎหมายลูก โดยเฉพาะเจาะจงและให้เหมาะสมอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ในส่วนของ กทม.ไม่ได้กำหนดให้มีการควบคุมจำนวนสัตว์เลี้ยงเหมือนกับ อบต.พลูตาหลวง และเบื้องต้นเน้นเฉพาะสุนัข เพราะมีคนเลี้ยงมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ อีกทั้งเป็นไปในลักษณะขอความร่วมมือมากกว่า


อย่างไรก็ตาม ในด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนเกี่ยวกับข้อบัญญัติดังกล่าว นายทวีศักดิ์กล่าวว่า กทม.ยังจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์เป็นวงกว้าง และเผยแพร่ข่าวสารอย่างเข้มข้น เพื่อแจ้งให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียนยังคลินิกสัตวแพทย์ ส่วนนี้ได้กำชับให้สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม.ดำเนินการเพิ่มเติม แต่คงไม่ถึงขั้นที่ กทม.จะเข้าไปตรวจค้นตามบ้านเพื่อตรวจตราสัตว์เลี้ยงว่าได้นำมาขึ้นทะเบียนแล้วหรือไม่ เนื่องจากบ้านถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล การเข้าตรวจค้นสัตวในบ้าน หากไม่มีเหตุอันสมควร กทม.จะเข้าไปตรวจค้นโดยพลการไม่ได้


อย่างไรก็ดี ช่วงหลายปีที่ผ่านมา กทม.ได้จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่เพื่อฉีดวัคซีน ทำหมันและฝังไมโครชิปอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีสัตว์ที่ได้รับการฝังไมโครชิปแล้วกว่า 100,000 ตัว


ส่วนกรณีพื้นที่ตำบลพลูตาหลวง เป็นเขตควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และข้อบัญญติ ตำบลพลูตาหลวง โดยกำหนดให้ ตึกแถว/อาคารพาณิชย์/ทาวน์เฮาส์/บ้านเดี่ยว สามารถเลี้ยงสุนัข แมว ได้ไม่เกิน 2 ตัว และต้องดูแลควบคุมการเลี้ยงสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ทำให้มีการแชร์ข้อความและการแสดงความคิดเห็นกันไปต่างๆ นานา


นางอัญชลี แพงพรม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.พลูตาหลวง กล่าวว่า ที่เราต้องติดป้ายเพื่อประกาศเป็นเขตควบคุมพื้นที่การเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากทางเราได้ควบคุมการเลี้ยงสัตว์การปล่อยสัตว์ ตั้งแต่ปี 2552 และทางเราก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อเสียงไร้สาย วิทยุชุมชน และการประชาคม ผู้นำชุมชนชาวบ้าน ที่เราต้องมีการประชาคมทุกปีแค่การประชาสัมพันธ์ตรงนี้ไม่ยังทั่วถึงชาวบ้าน ทำให้เกิดเลี้ยงสุนัขจำนวนมากและก็เกิดการร้องเรียนตามมา ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนจากสุนัขที่มีเจ้าของ กรณีเลี้ยงจำนวนมากและดูแลสุขลักษณะไม่ได้ ส่งกลิ่นเหม็น เห่าเสียงดัง สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนที่อยู่ข้างเคียงและก็ปัญหาร้องเรียนจากสุนัขจรจัด


กรณีไล่กัดประชาชน ตามถนนสาธารณะ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะต่างๆ สร้างความเดือดร้อน ตรงนี้เป็นประเด็นที่พยายามแก้ไขกันมานานแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ ทางเราจึงได้ดำเนินการตัดทำป้ายตรงนี้ขึ้นมา 3 ป้าย มีการติดตั้งในวันที่ 5 ม.ค.2561 จำนวน 3 จุด ในพื้นที่ อบต.พลูตาหลวง เพื่อขอความร่วมมือให้ประชาชนที่เลี้ยงสุนัขควบคุมสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมว บ้านละ 2 ตัว ส่วนใครที่เลี้ยงเกินไปจากนี้เราไม่ได้จะไปดำเนินปรับตามประกาศ แต่เราจะขอความร่วมมือมาขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงกับเราเพื่อเป็นหลักฐาน จากนั้นให้เลี้ยงสัตว์จนหมดอายุขัย ไม่นำมาเพิ่มเติมเลี้ยงได้แค่ 2 ตัว ตามที่เรากำหนด ตอนนี้มีเรื่องร้องเรียนคือการนำสุนัขมาถ่ายอุจจาระหน้าบ้าน เพราะบางบ้าน เลี้ยงแล้วปล่อย คือไม่ปิดรั้วหรือขังแต่อย่างใด สุนัขก็มาถ่ายอุจจาระสร้างความเดือดร้อนรำคาญกับเพื่อนบ้าน


ปีที่ผ่านมา เราจับสุนัขจรจัดส่งศูนย์สุนัขจรจัดโทนีไปแล้ว 150 กว่าตัว ในปี 59-60 มีเรื่องร้องเรียนกว่า 40 เรื่อง ส่วนมากเป็นเรื่องเหตุรำคาญ ป้ายเราติดตั้งมานานก่อนจะมาได้รับกระแสเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา เนื่องจากมีประชาชนเห็นแล้วสนใจมาถ่ายก่อนนำไปลงโซเชียล


สำหรับแนวทางการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ตำบลพลูตาหลวงให้ทุกท่านนำสัตว์เลี้ยงออกมาฉีควัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละ 1 ครั้ง ควบคุมสัตว์เลี้ยงด้วยการทำหมันทุกตัวเพื่อควบคุมไม่ให้จำนวนเพิ่มขึ้น สุนัขและแมวเลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว สำหรับท่านที่เลี้ยงเกิน เพียงท่านมาขึ้นทะเบียน หลังจากนั้นท่านเลี้ยงจนให้หมดอายุขัยของสัตว์เลี้ยง หลังจากนั้นก็เลี้ยงให้อยู่ในจำนวนที่กำหนด และก็ดูแลสุขลักษณะ ความสะอาดเพื่อลบผลกระทบกับผู้ที่อยู่อาศัยข้างเคียง ทำให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญได้ และไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงตัวเองไปปล่อยทิ้ง ตามสถานที่ต่างๆ เช่น วัด สถานที่ราชการ โรงเรียนเพราะอาจสร้างผลกระทบตามมาหลายๆ ด้าน ถือว่าเป็นอีกความพยายามในการจัดระเบียบการเลี้ยงสุนัขและแมว เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปอย่างเรียบร้อย

Shares:
QR Code :
QR Code