‘ทุ่งฮั้ว’ตำบลปลอดเหล้าเมืองรถม้า
ลดเหล้าประเพณีสำคัญ
มีสถิติบ่งบอกว่าคนไทยนั้นดื่มเหล้าติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก สังคมไทยมีเทศกาลรื่นเริงตลอดทั้งปี และทุกงานต้องมีเหล้า รวมทั้งงานบุญ งานแต่ง งานศพ ล้วนมีเหล้ารับรองแขกทั้งสิ้น
“ที่บ้านแม่ทรายเงิน หมู่ 2 ต.ทุ่งฮั้วอ.วังเหนือ จ.ลำปาง”ปีหนึ่งๆ ดื่มนับพันขวดเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ตายหลายศพ เพราะเมาเหล้าแล้วขับมอเตอร์ไซค์ สามีภรรยาหลายคู่ตบตีกันก็เพราะเหล้า
ปัญหาดังกล่าวทำให้คนในหมู่บ้านกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง ว่าจะต้องทำให้คนในชุมชนลดการดื่มเหล้าลงให้ได้ เพื่อให้ความสงบร่มเย็นและสุขภาพอนามัยที่ดีกลับคืนมา โดยเริ่มรณรงค์ลดการดื่มเหล้าในงานประเพณีสำคัญของหมู่บ้าน โดยได้รับการสนับสนุนจาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) เวชยันต์ วงศ์ลอดแก้วหัวหน้าโครงการเล่าว่า การดื่มเหล้าของคนในชุมชนกลายเป็นค่านิยม ไม่ว่างานมงคล หรืออวมงคล ต้องจัดไว้เลี้ยงแขก ประกอบกับชาวบ้านตำบลใกล้เคียงยังมีอาชีพต้มเหล้าขาย
งานศพไม่ได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือของเพื่อนบ้านเช่นในอดีต เจ้าภาพต้องควักเงิน3,000-4,000 บาท ซื้อเหล้าเลี้ยงแขกเหรื่อและคนที่มาช่วยงาน เหมือนกับงานฉลองสมรสหรือแต่งงาน ทั้งที่เป็นงานเศร้าโศก และไม่ได้เตรียมงาน กะค่าใช้จ่ายล่วงหน้า
“ชาวบ้านหาโอกาสและจังหวะดื่มเหล้าได้ตลอดทั้งปี เพราะ 1 ปี แต่ละเดือนมีประเพณีสำคัญ อาทิ ประเพณีทานขันข้าว สลากภัตรแห่สะลุงหลวง และสงกรานต์ ล่องสะเปา และสมัยก่อนงานประเพณีมักจะมีเหล้าเป็นส่วนประกอบ เช่น ใช้เหล้า 2 ขวดไหว้ผีปู่ย่า เสร็จแล้วก็แบ่งให้คนที่มาร่วมงานทั้งหมดได้ดื่มกินจำนวนคนกับเหล้าที่มีอยู่จึงเพียงพอแค่จิบๆเท่านั้น ทว่าปัจจุบันนอกจากดื่มเหล้า 2 ขวดที่ใช้เลี้ยงผีปู่ย่าแล้ว ยังเสริมอีกไม่อั้น
“ในการดำเนินโครงการ ลด ละ เลิก เหล้าในงานประเพณีสลากภัตร บ้านแม่ทรายเงิน จึงได้พัฒนาแกนนำหมู่บ้าน เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ 10-15 คน เป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดของหมู่บ้านเช่น พระสงฆ์ เด็กเยาวชน และผู้เฒ่าผู้แก่ ให้รับรู้ข้อมูลว่าทุกวันนี้คนเป็นพ่อแม่มีความทุกข์ ต้องดิ้นรนหาเงินส่งลูกเรียน แต่การเรียนดังกล่าวกลับทำให้ครอบครัวห่างเหิน ลูกไม่มีเวลาช่วยงานบ้าน และนับวันจะใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ ลูกเองก็มีความทุกข์ใจที่พ่อแม่ดื่มเหล้า และทะเลาะกัน” เวชยันต์อธิบายโครงการจึงนำวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นมาเป็นสื่อ เริ่มจากประเพณีสลากภัตรปลอดเหล้าก่อนถึงงานสลากภัตรได้ทดลองใช้กับงานประเพณีอื่นๆ อย่างงานปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) งานปอยหลวง งานเข้าพรรษา พร้อมทั้งใช้สื่อพื้นบ้านเป็นตัวกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นเพลงซอ หรือการเล่นละครของกลุ่มเยาวชน
ในงานศพ กลุ่มแกนนำก็ร่วมกันคิด วางแผนมีการกำหนดกฎระเบียบ ลด ละ เลิก เหล้าในงานศพ เริ่มจากแกนนำหลักเข้าไปพูดคุยประชาสัมพันธ์หอกระจายข่าว และพูดคุยกับเจ้าภาพงานศพ พูดคุยในเวทีชาวบ้านหาข้อตกลงร่วมกัน และให้พระสงฆ์เทศน์ในงานศพเกี่ยวกับเหล้า
“หากเจ้าภาพงานศพงานใดให้ความร่วมมือ ก็ใช้วิธี ‘ศพไหนบ่มีเหล้าตุ๊เจ้าสมทบ‘ นั่นคือถ้างานศพใดไม่มีการนำเหล้ามาบริการพระสงฆ์จะไม่รับปัจจัย แต่มอบคืนให้เจ้าภาพส่งผลให้คนในหมู่บ้านศรัทธาเลื่อมใส เห็นประโยชน์และสิ่งที่ได้รับจากการไม่มีเหล้าในงานศพ เมื่อผ่านไป 3 ศพ ก็ไม่มีการนำเหล้ามาดื่มในงานศพอีก”เวชยันต์เล่าสำหรับการแก้ปัญหาในครอบครัว ก็กระตุ้นให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ปกครอง โดยให้เด็กที่มีพ่อแม่นักดื่ม เขียนจดหมายถึงพ่อแม่ ขอร้องให้เลิกเหล้า เพื่อความสงบสุขของครอบครัวปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ พ่อแม่หลายคนเลิกดื่มเหล้าเด็ดขาด และหลายรายก็ลดปริมาณและความถี่ในการดื่มลงอย่างเห็นได้ชัด
“น้องมิ้ว”หนึ่งในเยาวชนที่ร่วมโครงการเล่าว่า ก่อนหน้านี้พ่อของเธอชอบดื่มเหล้าเมื่อดื่มแล้วก็พูดเสียงดังเอะอะ พร่ำสั่งสอนลูกซ้ำๆ ซากๆ ทำให้รู้สึกขัดใจและรำคาญพ่อมาก แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการ เธอก็เขียนจดหมายเป็นคำขอจากลูกให้พ่อเลิกเหล้า เมื่อพ่อรู้ถึงความในใจของลูกจึงปรับเปลี่ยนนิสัยดื่มเหล้าน้อยลง ลดความถี่ในการดื่มลงเรื่อยๆสั่งสอนแบบมีเหตุผลมากกว่าเดิม
ณ วันนี้ หมู่บ้านแม่ทรายเงิน ขยายผลไปสู่ 12 หมู่บ้านใน ต.ทุ่งฮั้ว จนสามารถประกาศให้เป็น “ตำบลปลอดเหล้า” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
update: 03-08-53
อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ