ทีพีบีเอส นับหนึ่ง “กระบอกเสียงสาธารณะ”
ความหวังครั้งใหม่ ของคนดูทีวีไทย
จู่ๆ ช่องโทรทัศน์ข่าวทีไอทีวีก็ต้องหยุดการแพร่ภาพ
หลายคนสงสัยว่าเพราะเหตุใด และที่กล่าวกันว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นทีวีสาธารณะนั้น จะเป็นอย่างไร จะเหมือนกับสถานีโทรทัศน์ของภาครัฐเหมือนช่อง 11 หรือไม่
ต้องบอกว่าในวิกฤตย่อมมีโอกาส แม้ว่าวันนี้เราจะเสียสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีแล้ว แต่ในอนาคตเราจะได้เห็นทีวีสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ
ซึ่งทีวีสาธารณะคือ เป็นสื่อมวลชนที่มีพื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะในการให้ข้อมูลข่าวสารและตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของประชาชน ที่สำคัญคือ ทีวีสาธารณะนี้จะเป็นอิสระจากกลุ่มทุนและภาครัฐ
และเพื่อความเป็นอิสระ จึงมีกฎหมายของตัวเอง ไม่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ และแหล่งงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการทั้งหมดก็มาจากภาษีบาปที่ได้จากสุราและบุหรี่จำนวน 1.5% ของภาษีดังกล่าวทั้งหมด ตกเป็นงบประมาณราว 2,000 ล้านบาท และในอนาคตหากจะมีโครงการขยายกิจการใด ๆ ก็สามารถเสนอของบประมาณได้อีก และอีกส่วนที่เป็นรายได้เสริมคือสำหรับผู้บริจาค แต่ไม่สามารถตั้งเงื่อนไขใด ๆ ได้ ทำได้อย่างมากคือการนำไปลดหย่อนภาษีเท่านั้นและที่สำคัญจะไม่มีโฆษณา เพื่อปราศจากการแทรกแซง ของกลุ่มทุนด้วยเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านี้ความอิสระจากการบริหารงานที่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีคือ มีคณะกรรมการนโยบายจำนวน 9 คน ซึ่งถือว่าแตกต่างจากสถานีโทรทัศน์อื่น ๆ ที่ไม่มี โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่ในการกำกับดูแลให้การบริการสถานีเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ดูแลให้มีการทำมาตรฐานรายการและข้อกำหนดจริยธรรม รับฟังความคิดเห็นและเรื่องร้องเรียนจากประชาชนตรวจสอบและประเมินผลสถานีและรายงานให้ประชาชนทราบ ฯลฯ
โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้มาจากด้านกิจการสื่อสารมวลชน 2 คน ด้านบริหารการจัดการ การเงิน 3 คน ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชน การคุ้มครองและพัฒนาเด็กเยาวชน หรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม 4 คน
และที่สำคัญคือจะมี “สภาผู้ชม” ที่เป็นเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคของประเทศว่าต้องการให้ทีวีสาธารณะมีรายการอะไร เนื้อหาอย่างไร เพื่อให้เป็นทีวีสาธารณะตามที่เจ้าของประเทศต้องการให้เป็นไปในรูปแบบไหน สมกับเป็นเจ้าของประเทศเจ้าของสื่ออย่างแท้จริง
ในเมื่อโครงสร้างการบริหารที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่มีอยู่แล้วเนื้อหารายการก็เป็นเรื่องทีวีสาธารณะจะพลิกโฉมวงการจอแก้วไทยให้เปลี่ยนไปด้วย
ทั้งรายการข่าวก็จะเป็นรายการที่ตรงไปตรงมา เที่ยงตรงเป็นกลางและครบถ้วนรอบด้าน ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มทุน สามารถทำข่าวเจาะลึก เปิดเผยเรื่องที่ประชาชนควรรู้แต่ไม่มีโอกาสรับรู้มาก่อนได้ เพราะปัจจุบันผู้ที่ได้เปรียบเหนือผู้อื่นคือผู้ที่มีความรู้และข้อมูลที่มากกว่านั่นเอง ดังนั้นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับพลเมืองด้วยการรับรู้ข่าวสารจึงเป็นเรื่องที่ดี
นอกจากนี้ทีวีสาธารณะไม่ใช่มีเพียงแต่รายการข่าวตลอด 24 ชั่วโมง แต่ยังมี รายการการศึกษาและบันเทิงสำหรับเด็กและเยาวชน ที่เอื้อต่อการเรียนรู้พัฒนาสติปัญญา ไม่มีพิษภัยจากเนื้อหาทางเพศที่ไม่เหมาะสม ความรุนแรงภาษาหยาบคาย รวมถึงมีรายการสารคดีทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมที่มีคุณภาพสูงน่าติดตามและให้ความรู้ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย
และที่ขาดไม่ได้คือ รายการบันเทิงที่ดูสนุก เพลิดเพลินให้แนวคิดที่เป็นประโยชน์และยกระดับรสนิยมของคนในสังคม ดังตัวอย่างของละครอย่าง “แดจังกึม” ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายของผู้ผลิตรายการบันเทิงว่าจะสามารถแข่งขันและตรึงคนดูให้ไม่กดรีโมทหนีได้อย่างไร
เนื้อหารายการที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ย่อมมีผลกระทบกับผู้ชมไม่มากก็น้อย เนื่องจากว่า สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่เข้าถึงครัวเรือนไทยอย่างกว้างขวางและมีอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชนมากที่สุด จากรายงานผลการสำรวจสื่อสารมวลชนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2546 พบว่าในประชากรที่มีอายุมากกว่า 6 ปี มีผู้รับชมโทรทัศน์เป็นประจำถึง 54.7 ล้านคน ในขณะที่ผู้ฟังวิทยุมีเพียง 24.8 ล้านคน และอ่านหนังสือพิมพ์เพียง 21.6 ล้านคน โทรทัศน์จึงจัดได้ว่าเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดต่อความเห็นของประชาชนไทย”
หากมีสื่อที่ดีเพิ่มมากอีกหนึ่งช่องทาง ก็หวังว่าผู้ชมคงได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย ในเมื่อทีวีสาธารณะเกิดขึ้นแล้ว อยู่ที่สังคมต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่าเนื้อหารายการอะไรที่ควรอยู่อะไรไม่ควรเข้ามาอยู่ในทีวีสาธารณะแห่งนี้ ช่วยกันขัดเกลาคนละไม้คนละมือ เพื่อให้สมกับเป็นทีวีสาธารณะที่รอคอยกันมานานในขณะที่ประเทศอื่น ๆ มีมาช้านานแล้ว
ทีวีสาธารณะอยู่ในมือคนไทยทุกคนแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะใช้มันอย่างไร หรือให้ผู้มีอำนาจใช้เป็นกระบอกเสียงเช่นเดิม
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 29-08-51