ทิ้งลูกอยู่ลำพัง ต้องสร้างทักษะความปลอดภัยให้เด็ก
ที่มา: เว็บไซต์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
บทเรียนพ่อแม่ ทิ้งลูกอยู่ตามลำพัง ต้องสร้างทักษะความปลอดภัยให้เด็กตามช่วงวัย หน่วยงานตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก –รร. สำรวจพื้นที่จริงจัง สร้างระบบช่วยเหลือเด็กถึงชุมชน
ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวบทเรียนกรณีเด็กตกตึก และเด็กตายในเนิร์สเซอร์รี่ ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพิเคราะห์ถึงการประเมินสถานการณ์การให้เด็กอยู่บ้านตามลำพัง พ่อแม่จะประเมินสถานการณ์อย่างไรเมื่อเด็กต้องอยู่คนเดียว รวมถึงหน่วยงานใดที่มีหน้าที่ช่วยเหลือเด็กลักษณะนี้
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โดยหลักการแล้วเด็กจะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองเมื่ออายุประมาณ 12 ปี แต่เด็กต้องได้รับการฝึกฝน ได้รับการสอน จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยและได้รับการประเมินแล้วว่าสามารถอยู่ได้ตามลำพัง โดยต้องฝึกเด็กตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป มีการฝึกการทดสอบการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงกรณีฉุกเฉินด้วย ซึ่งเป็นลักษณะเด็กอยู่คนเดียว (Home Alone) แต่กรณีเด็ก 4 คนที่เป็นข่าวไม่ใช่ลักษณะเด็กอยู่คนเดียว แต่เด็กที่เป็นพี่คนโตวัย 11 ปีต้องดูแลน้องอีก 3 คน คุณตาเล่าว่าเหตุน่าจะเกิดจากพี่คนโตช่วยแม่ล้างจานอาจทำจานตกลงไปก่อน และจะเก็บจานอาหารที่ทำตกลงไป ทำให้ผลัดตก น้องอีก 3 คนก็พยายามที่จะช่วยเหลือพี่ทำให้ตระข่ายรับน้ำหนักไม่ได้ หากพี่ไม่เก็บจานหรือน้องใช้วิธีการเรียกเพื่อนบ้านมาช่วย เหตุการณ์ทั้งหมดอาจะไม่เกิดเช่นนี้ จึงแสดงให้เห็นว่าเด็กอยู่คนเดียวหรือเด็กที่ต้องดูแลน้องโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ ต้องมีทั้งวุฒิภาวะ และต้องได้รับการฝึกฝน
ทั้งนี้ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก ได้จัดทำโครงการทักษะความปลอดภัยที่แบ่งตามอายุของเด็ก 10 ทักษะความปลอดภัยที่เด็กต้องเรียนรู้ในโรงเรียน โดยพฤติกรรม Home Alone จะเริ่มสอนตอนอายุ 10 ปี ให้เด็กเรียนรู้เรื่องการตัดสินใจ การแก้ปัญหาฉุกเฉิน การถูกล่อลวง เป็นต้น ฉะนั้น เหตุฉุกเฉินมีอีกหลายกรณีไม่ใช่เรื่องเด็กตกตึกเท่านั้น ดังนั้น ต้องช่วยกันสร้างแนวคิดให้สังคมหันมาสนใจ โดยต้องยกระดับความรู้สึกร่วมรับผิดชอบให้เพิ่มขึ้น
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า “ตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก 2546 หมวด 2 มาตรา 25 กำหนดว่าผู้ปกครองต้องไม่กระทำการละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใดๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพหรือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม โดยผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” ประเด็นนี้สำคัญมาก และขณะนี้ มีหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือคือ บ้านพักเด็กซึ่งมีครบทุกจังหวัด แต่ไม่เพียงพอรองรับได้ไม่หมด ดังนั้น สิ่งที่พยายามเรียกร้องคือ การคุ้มครองเด็กระดับท้องถิ่น ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อให้ท้องถิ่น ชุมชน ไม่ต้องส่งเด็กมาที่บ้านพักเด็กซึ่งมีเพียง 1 แห่งต่อ 1 จังหวัด จึงต้องมีการผลิตนักพัฒนาเด็กและครอบครัวชุมชนให้เกิดขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาศูนย์เด็กบ้านหลังเรียน พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สามารถรองรับเด็กได้ ลักษณะเหมือนโรงเรียนประจำ และใช้พื้นที่ในชุมชนเช่นพื้นที่โรงเรียนเพื่อเป็นศูนย์ในการดูแลเด็กกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในช่วงวันหยุด ช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาเพื่อขยายงานในการคุ้มครองเด็กของบ้านพักเด็กให้ลงถึงชุมชนได้
“หน่วยงานที่มีหน้าที่ตาม พรบ. คุ้มครองเด็ก จะต้องมีข้อมูลให้พ่อแม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ ซึ่งในความเป็นจริงมีอยู่แล้ว แต่พ่อแม่ไม่ไปขอความช่วยเหลือ แต่ถึงอย่างไรเรื่องนี้ยังขาดความชัดเจนต่อสังคมไทย เนื่องจากกรณีเด็ก 4 คน ควรจะถูกค้นพบปัญหาได้ตั้งแต่เพื่อนบ้าน ไม่ใช่เห็นว่าพี่เป็นเด็กดีสามารถดูแลน้องได้ ซึ่งในความเป็นจริงเด็กอายุ 11 ปี ไม่ควรดูแลน้องถึง 3 คน ตามลำพัง เพื่อนบ้านต้องโทรแจ้ง 1300 เพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือ โรงเรียนที่มีกระบวนการเยี่ยมบ้านเด็ก เมื่อครูพบว่าเด็กนักเรียนของตนเองอายุ11 ปี ต้องอยู่บ้านตามลำพังข้ามคืน โดยต้องดูแลน้องถึง 3 คนและยังดูแลน้องที่มีเด็กอายุต่ำสุด 5 ขวบอีก ครูต้องไปเยี่ยมบ้านและต้องตัดสินใจให้การช่วยเหลือเด็ก ดังนั้น การลงสำรวจพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ของบ้านพักเด็ก และรวมถึงโรงเรียนที่มีกระบวนการให้ครูเยี่ยมบ้านเด็ก มีความจำเป็นมากเมื่อพบเด็กอยู่คนเดียวตามลำพัง ต้องดูแลน้องตามลำพังกลางคืน หรือเพื่อนบ้านต้องโทรแจ้ง 1300 เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ต้องจัดการวิเคราะห์ปัญหาจะให้การช่วยเหลืออย่างไร เพราะขณะนี้ มีเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กเท่านั้นที่ทำหน้าที่นี้ซึ่งไม่เพียงพอ ฉะนั้น ต้องสร้างให้มีเจ้าหน้าที่พัฒนาเด็กและครอบครัวท้องถิ่น หรือ อาจจะใช้ระบบเพื่อนบ้านเข้ามาช่วย แต่อย่างไรจะต้องไม่ให้เด็กอยู่ตามลำพังต้องมีการจัดการเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีเด็กตายในเนิร์สเซอร์รี่ ว่า จริงแล้วแม่ที่ฝากเด็กไว้กับเนิร์สเซอร์รี่ เมื่อพบบาดแผลบนตัวเด็กโดยได้ประวัติ รู้สึกว่าไม่น่าเชื่อถือหรือบาดแผลที่ตำแหน่งที่ไม่ควรจะเกิด การกระแทกได้ง่าย หรือบาดแผลรุงแรงมาก ให้พาไปพบแพทย์ แพทย์ตรวจแล้วสงสัยว่าเด็กจะถูกกระทำแพทย์ต้องรายงาน 1300 ทันที และร่วมกับรายงานต่อตำรวจต่อไป 1300 ต้องเข้าไปช่วยเหลือเด็กตั้งแต่แรก และดำเนินการยุติการบริการของเนิร์สเซอร์รี่ทันที เมื่อสงสัยว่าจะมีการประกอบการที่ไม่เหมาะสม คนที่จะผลักดันให้ระบบเดินหน้าไม่ใช่แม่ที่ลูกเสียชีวิตและมาแจ้งความกับตำรวจ แต่ต้องเริ่มตั้งแต่คนที่พบเห็นตั้งแต่แรก เช่น พ่อแม่ หมอ ตำรวจ ใครพบเหตุก่อนจะต้องรายงาน 1300 ทันที ซึ่งต้องเข้าไปจัดการตั้งแต่แรก