ทิศทางประเทศไทย ปรับตัว ปรับใจ สู่ชีวิตวิถีใหม่

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจาก สสส.


ทิศทางประเทศไทย ปรับตัว ปรับใจ สู่ชีวิตวิถีใหม่ thaihealth


ด้วยน้ำมือไวรัสขนาดเล็กจิ๋วที่แม้กระทั่งตาเปล่าเรายังมองไม่เห็น แต่พลานุภาพทำเอาเศรษฐกิจทั่วโลกเกือบล่มสลาย และตกต่ำจนต้องจารึกจดจำอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์


บางคนก็เปรียบวิกฤติโควิด-19 ไม่ต่าง จากสงครามโลกครั้งใหม่ บ้างก็เปรียบว่าเป็นมหันตภัยล้างโลก ทำคนตกงานกว่าหลายล้านคนทั่วโลก


หันมามองอีกมุม จะพบว่าส่วนหนึ่งเพราะอาจเป็นที่เราเอง ต่างไม่เคย เตรียมการ วางแผน รับมือ เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าเกิดขึ้นในวันนี้


แม้วันนี้ เรามาถึงจุดที่เปลี่ยนสถานการณ์ไม่ได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนตัวเราเองได้ เพื่อที่จะผ่านพ้นวิกฤตินี้อย่างปลอดภัยทั้งกายและใจ


ทิศทางประเทศไทย ปรับตัว ปรับใจ สู่ชีวิตวิถีใหม่ thaihealth


ปรับ "กาย" ในชีวิตวิถีใหม่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม  สุขภาพ (สสส.)  บทเรียนจากโรคระบาด


ดร.สุปรีดาเอ่ยว่า บทเรียนโรคระบาดใหญ่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่  เป็นเรื่องที่คู่ขนานกันมาตลอดกับโลก  จากการวิเคราะห์ทำให้ทราบว่า ที่จริงเราเผชิญวิกฤติโรคระบาดมาหลายครั้ง ซึ่งผลทำให้สังคมไทยต้องปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่มาแล้ว อาทิ โรคระบาดเมื่อสามสิบสี่สิบปีก่อน ทำให้เราหันมาสร้างสุขาอยู่ไกลบ้าน  ห้องน้ำ ซึ่งได้กลายเป็นวิถีใหม่ของ คนไทย มาจนปัจจุบันที่เราคุ้นเคยจนเป็นเรื่องปกติแล้ว  หรืออย่างการระบาดของไวรัสเอดส์เองก็ทำให้วิถีการดูแลตัวเองด้านเพศสัมพันธ์ ตลอดจนระบบบริการสุขภาพของไทยเปลี่ยนไป ในการป้องกันแก้ปัญหาโรคติดต่อเพศสัมพันธ์


"หากถามโควิด เปลี่ยนแปลงอะไร เราบ้าง"


ดร.สุปรีดาเอ่ยถึงความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของคนในสังคมไทยว่า เพราะเป็นโรคใหม่ที่เราไม่เคยเจอ เราจึงมีความไม่รู้ ซึ่งทำให้วิธีคิดและพฤติกรรมของผู้คนที่เกิดขึ้นในช่วงโคโรนา 2019 เริ่มจากความกลัวเป็นระยะแรก


"ไม่ว่าจะกลัวน้อยไปหรือมากไป แต่สิ่งสำคัญคือ ความกลัวทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ของคนในสังคม การแสดงความรังเกียจ การวิตกกังวล เสียขวัญ จนมาถึงจุดที่สังคมเริ่มเรียนรู้กันเองมากขึ้น ยอมรับสิ่งที่จะเกิดมากขึ้น และไม่อาลัยอีกต่อไป ต่อมาจึงขยับมาสู่ระยะพัฒนาการที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เป็นแนวสร้างสรรค์มากขึ้น" ดร.สุปรีดาอธิบาย


"ซึ่งจากการที่ สสส. อยู่ฝ่าวิกฤติโควิด มากับสังคมไทยตั้งแต่ Day 1 เราเองก็มอง ว่าไม่ใช่เรื่องของหมอแล้วที่ต้องรับผิดชอบ แต่เป็นเรื่องส่วนตัวที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ จึงเกิดแนวคิดของ "สู่ชีวิตวิถีใหม่"  ที่จะเข้ามาช่วยเป็นแนวทางสนับสนุน การปรับพฤติกรรมของคนไทยในด้าน สุขอนามัย"


ดังนั้น การจัดทำ คู่มือสู่ชีวิตวิถีใหม่  ที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 7 ชุด คือการปฏิบัติตัว อย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อมาสู่เราและไม่แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น ซึ่งผู้จัดการ สสส.ยืนยันว่า คู่มือเหล่านี้คือแนวทางการปรับพฤติกรรมรับมือเฉพาะหน้า แต่โดยระดับต่อไปแล้ว สิ่งที่ สสส.ยังมองคือการป้องกันไม่ให้วิกฤตินี้เกิดขึ้นในอนาคต


"นอกจากเรื่องมีสุขอนามัย เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดในอนาคต ด้วยการทำให้ร่างกายแข็งแรงตั้งแต่ระดับพื้นฐาน หรือการเสริมสร้างไม่ให้คนไทยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น โดยการใช้ฐานทรัพยากรที่พึ่งพา ตัวเองได้"


หากดูคำว่า Norm มีความหมายคือการทำให้เป็นปกติ แต่อย่าคิดว่าความปกติจะเกิดขึ้นเองธรรมชาติ เพียงอย่างเดียว เพราะในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้น  ดร.สุปรีดาเอ่ยว่า มีสองรูปแบบ คือกระบวนการที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ  กับอีกส่วนเกิดจากการที่มีผู้เข้าไปจัดการให้ เกิดขึ้น เพื่อหวังเป้าหมายการเปลี่ยนแปลง


"บางส่วนเราอาจปล่อยให้เป็นธรรมชาติ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องเข้าไปจัดการให้ได้ ในการดูแลสุขภาพ  เป็นสิ่งที่ สสส.มีหลายกระบวนการที่อยากเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยมาตลอด เช่น  ในประเด็นเรื่องเหล้า บุหรี่ การสร้างสุขภาวการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น


ดร.สุปรีดาเอ่ยต่อว่า ขณะที่บางเรื่อง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดจาก หวังผลประโยชน์ของการเปลี่ยน เช่น  การสั่งอาหารแบบดิลิเวอรี่ การใช้เงินดิจิทัล ที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบาย หรือการเปลี่ยนมาเวิร์ค ฟอร์ม โฮม ที่ทำให้ชีวิตยืดหยุ่นขึ้น เมื่อหมดโควิดก็อาจยังคงดำเนินต่อไปอยู่


วัคซีนเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ  แต่ไม่ได้แปลว่าจบ


แม้จะคาดการณ์ว่ากลางปีหน้า เราจะมีวัคซีนป้องกันไวรับโคโรน่า  แต่ ดร.สุปรีดามองว่าเป็นสถานการณ์ ที่ยังไม่มีอะไรแน่นอน เพราะที่ผ่านมามีการคาดการณ์มาตลอด ก็มีทั้งที่ถูกและผิด  ทั้งนี้ มันไม่ได้จบแค่มีวัคซีนแล้วหายขาด ดังนั้นควรพึ่งตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ป้องกันความเสี่ยงเป็นทางออกที่ดีที่สุด


"ไม่แน่ว่า ต่อไปอาจมีโรคอื่นเข้ามาอีกหรือเกิดการกลายพันธุ์ สสส.จึงเน้นทำงานด้านการดูแลสุขภาพ เราใช้โนว์ฮาวที่เรามีอยู่แล้วในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน เช่นการกินอาหารปลอดภัย เหล้าบุหรี่ เพียงแต่นำมาใช้กับโจทย์ใหม่เท่านั้น"


ในฐานะคนทำงานด้านสุขภาพ ผู้จัดการ สสส. สะท้อนว่าระบบสุขภาพไทย มีจุดเด่นหลายอย่าง เช่น หลักประกันสุขภาพ แต่สิ่งที่เรายังเห็นคือความวุ่นวายของระบบข้อมูลที่ต้องมีการปรับปรุง และในระดับปฐมภูมิเป็นจุดแข็งที่เป็นทุนสังคมของบ้านเราแต่คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้เขาเป็นฐานสำคัญที่ยั่งยืน


"แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วม อย่างคู่มือโควิดฯ เราทำโดยใช้หลากหลายมิติมาร่วมกันระดมความคิดเห็น ในการปรับให้เหมาะสมทั้งหมด ใช้อำนาจรัฐสั่งการไม่ได้ แต่ต้องใช้การมีส่วนร่วมมาบอกว่าเราจะเปลี่ยนอะไร ต้องมีการสร้างเวทีที่ร่วมกันสะสม ระดมความคิดในวิถีใหม่ รวมถึง การศึกษา เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมต่างๆ  ต้องมีส่วนร่วมทั้งหมด" ดร.สุปรีดาเอ่ย


ทิศทางประเทศไทย ปรับตัว ปรับใจ สู่ชีวิตวิถีใหม่ thaihealth



ปรับตัวเพื่อปากท้อง "ชีวิตวิถีใหม่" อาจารย์ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ


นอร์มแบบใหม่ คือการกลับไปอารยะแบบเดิม


"มนุษย์จะอยู่รอดได้ในวิกฤติ จะต้อง มีสัปปายะ 4 ได้แก่ โภชนสัปปายะ  อาหารดี หาง่าย ไม่อดตาย สถานที่ไม่แออัดเกิดไป อาวาสสัปปายะ มนุษย์ดี  สังคมดี เอื้อเฟื้อกันไม่แก่งแย่งชิงกัน ปุคคลสัปปายะ จิตใจมีความสุข


อาจารย์ยักษ์ วิเคราะห์ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีต้นทุนด้านทรัพยากรอาหารอยู่แล้ว โดยเฉพาะแนวทางการใช้ชีวิตและการทำเกษตรกรรมตามหลักปรัชญเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือทางออกของความยั่งยืนแท้จริง


"แต่ที่ผ่านมาเรายึดแบบแผนการ ขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางโลกตะวันตก มาหลายสิบปี ซึ่งเน้นการแข่งขันและแก่งแย่งชิงทรัพยากรทำให้ลืมสิ่งที่เคยเป็นรากเหง้าของประเทศไทย"


หากเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติ จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะกลับมาสู่วิถีชีวิตเดิมของไทยอีกครั้ง ซึ่งอาจารย์มองว่ามีความเหมาะสมและยั่งยืนกว่า ที่จะเป็นเสาหลักในการผ่านวิกฤติครั้งนี้


โควิดมาเตือนเราให้หันมาสำรวจ ตัวเอง


"เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเลย ไม่มีความแน่นอน คาดเดาไม่ได้ เราจึงต้องปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ ผมมองว่าในโรงเรียนควรมีหลักสูตรเรื่องการปรับตัว ให้เรียนรู้สิ่งใหม่ตั้งแต่ในห้องเรียน เพราะสังคมไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ด้วยทรัพยากร และสังคมเอื้อเฟื้อแบ่งปัน กลายเป็นจุดแข็ง


แต่สิ่งที่เราต้องปรับคือ หนึ่ง เราต้อง สร้างสันดานใหม่เรื่องสุขภาพ ดูแล ระบบป้องกันในแบบ new norm หรือ ขนบใหม่ ครั้งนี้เราต้องกำหนดแผนการดูแลสุขภาพตัวเอง สอง เราต้องพึ่งตนเองเพื่อชาติ ความจริงแล้วทุกอย่างเราสามารถทำได้ด้วยตนเองหมด รู้จักเรียนรู้ในการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงตัวเอง ครอบครัวและชุมชน ไม่ต้องรอภาครัฐหรือใคร ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล องค์กร ชุมชน สาม เราต้องเน้นการแบ่งปัน" อาจารย์ยักษ์เอ่ยให้ข้อคิดว่า


"ขนบประเพณีเดิมไทยเรา ไม่ทำงานคนเดียว ไม่เอา ตัวรอดคนเดียว  แต่ในยุคปัจจุบันกลับสอนให้ทำคนเดียว หากเมื่อมีสังคมใน วิถีใหม่ เราจะเริ่ม กลับมาร่วมกันทำ มากขึ้น ขอเพียงเกิดการรวมตัว แม้แต่ในเมืองก็จะเห็นปรากฏการณ์นี้มากขึ้น ผมเชื่อว่าทั้งคนเมืองและชนบทต่างมีศักยภาพที่จะทำอะไรได้มากมาย เราสามารถใช้ช่องทางเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ในการเชื่อมโยง สื่อสารกัน"


ทิศทางประเทศไทย ปรับตัว ปรับใจ สู่ชีวิตวิถีใหม่ thaihealth


ปรับ "ใจ" ในชีวิตวิถีใหม่ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต  จ.ชัยภูมิ


ถึงไม่ป่วยกาย แต่ป่วยใจ


เป็นเรื่องจิรงที่ว่าหลายคนไม่มี เชื้อไวรัสอยู่ในร่างกาย แต่ใจกลับป่วย "ถ้าเราไม่รักษาใจให้ดี แม้กายไม่ป่วย แต่เมื่อใจทุกข์ก็จะทำให้ใจป่วย นำมาสู่กายป่วยในที่สุด" เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต  เอ่ยถึงสาเหตุความป่วยทางใจส่วนหนึ่งเกิดจากที่เรามัวอาลัยกับความปกติที่เราคุ้นเคยว่าจะสูญหายไป แต่ในความเป็นจริง  หากพิจารณาแล้วความปกติยังอยู่กับเรา ก็ยังคงมีอยู่ไม่น้อย เช่น การที่เรายังมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ยังมีลมหายใจปกติ ขณะที่หลายคนไม่น้อยต้องหายใจลำบากจากการติดเชื้อไวรัสโควิด นอกจากนี้  เรายังมีที่พักอาศัย มีอาหาร และมีคนรักรอบตัวเรา


"อยากให้มองสิ่งดีๆ ที่ยังอยู่กับเรา  ไม่ได้สูญหายไป" พร้อมกันนี้ พระอาจารย์ไพศาลได้แนะนำแนวทางการปฏิบัติใจของประชาชนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ว่า วิธีที่ทำให้ใจไม่ป่วยที่ได้ผลคือ ยอมรับสิ่งที่ เกิดขึ้น


"เราควรยอมรับในมาตรการที่กำลังเกิดขึ้น ยอมรับความจริงที่ว่าไม่ใช่สิ่งที่ปกติเหมือนแต่ก่อน และทำให้วิถีชีวิตเราเปลี่ยนไปได้เพราะเมื่อยอมรับไม่ได้เราจะรู้สึกคับแค้นใจ ท้อแท้ หมดสิ้นหวัง ซึ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติมตัวเอง นอกจากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จะยิ่งทำให้ปัญหาเพิ่มหรือร้ายแรงกว่าเดิม"


เพราะหากเปรียบกับการเผชิญภัยพิบัติอื่นๆ ที่ผ่านมา อย่างเช่น เหตุการณ์สึนามิ หรือวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 แล้ว ภัยโควิดครั้งนี้ ยังไม่ถึงกับทำให้คนไทยต้องพลัดที่นา คาที่อยู่ ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าครั้งนี้


เติมพลังบวกให้จิตใจ


อย่างไรก็ดี การที่คนเราต้องอยู่นิ่งๆ นานๆ ย่อมเป็นธรรมดาที่ใจจะเกิดความคิดฟุ้งซ่าน คับแค้น ท้อแท้ ห่อเหี่ยว จึงเป็นโอกาสดีที่เราทุกคนควรจะหากิจกรรมทำ  ที่มีความสร้างสรรค์ เช่น เย็บถุงผ้า วาดรูป ปลูกผักสวนครัว เป็นต้น


"การมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ทำให้เราไม่จมลงไปกับความคิดด้านลบ มีสมาธิ และการได้ทำอะไรสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยเฉพาะสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จะสามารถเกิดพลังบวกในจิตใจ ทำให้ใจปลอดโปร่ง สดใส"


นอกจากนี้ ควร "หันหน้าเข้าหาเพื่อนบ้าง" แม้จะมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ยังมีหลายช่องทางที่สามารถสื่อสารกับเพื่อนได้ อย่างเช่น โซเชี่ยลมีเดีย การมีเพื่อนที่ช่วยแบ่งปันรับฟัง หันหน้าเข้าปรึกษา ปรับทุกข์ เป็นการบรรเทาความเครียด ความวิตกของกันและกันได้ หรือแม้แต่เพื่อนในชุมชนหรือเครือข่าย มิตรสหาย หากมาร่วมมือกันหากิจกรรม ทำสิ่งดีๆ ให้สังคม


พระอาจารย์ไพศาลฯ ยังเอ่ยต่อว่า เครือข่ายมิตรสหายเป็นสิ่งจำเป็นมากในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ปรับตัวต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้

Shares:
QR Code :
QR Code