ทิศทางการดำเนินงานร่วมกันในเขตสุขภาพ
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจากสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ จ.สงขลา เปิดการประชุม “ทิศทางการดำเนินงานร่วมกันในเขตสุขภาพที่ 11-12 ” พร้อมปาฐกถา “กระบวนทัศน์ใหม่ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมไทย”
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ โรงแรมเซ็นทาราหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่ายสุขภาพต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ จัดการประชุม “ทิศทางการดำเนินงานร่วมกันในเขตสุขภาพที่ 11-12 ” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และกล่าวปาฐกถาพิเศษ “กระบวนทัศน์ใหม่ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมไทย” มี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวรายงาน มีหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา ภาคประชาชน และภาคีเครือข่าย ต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วม
สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้เกิดจากสถานการณ์และผลการดำเนินงานร่วมกันที่ผ่านมาของภาคีเครือข่ายในภาคใต้ ซึ่งพบว่าภาคใต้มีปัญหาสำคัญ 4 ประการหลัก ได้แก่ ประเด็นความมั่นคงทางมนุษย์ ภาวะคุกคามปัจจัยเสี่ยง เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ปัญหาความรุนแรง ที่กระทำต่อกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ รวมทั้งปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ , ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่อาหารมีจำนวนลดลง ความปลอดภัยของอาหารและการมีภาวะโภชนาการที่สมวัย , ประเด็นความมั่นคงทางทรัพยากร ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรลดลง ความสามารถในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของชุมชน สถานการณ์และความรุนแรงด้านภัยพิบัติในพื้นที่ที่ต้องเผชิญ และประเด็นความมั่นคงทางสุขภาพ การเข้าถึงความครอบคลุมในการจัดการสุขภาพชุมชนยังพบความเหลื่อมล้ำทั้งในระบบการสร้างเสริมสุขภาพและระบบบริการสุขภาพ
โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การกำหนดประเด็นสุขภาพกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับวิกฤติปัญหาของพื้นที่และความต้องการของชุมชน และออกแบบวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อสานพลัง เสริมกลไกที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงาน ประสานการลงทุนร่วมกัน และลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ทั้งนี้ภายในงานจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ ขบวนการขับเคลื่อนสุขภาพภาคใต้ , การนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ประเด็นสุขภาพภาคใต้ กระบวนการดำเนินงานและทิศทางการทำงานร่วมกัน โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายพื้นที่ในภาคใต้ ฯลฯ